บัณรส บัวคลี่
พม่า กับ ลาว สองเพื่อนบ้านกำลังเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวของตนเองอย่างจริงจัง และที่น่าสนใจก็คือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวของสองชาติดังกล่าวสูสีใกล้เคียงกันชนิดหายใจรดต้นคอ
ตัวเลขทางการของลาว เมื่อปี 2014 มีนักท่องเที่ยวเข้าไป 4.1 ล้านคน และตัวเลขประมาณการของปี 2015 อยู่ที่ราว 4.3-4.5 ล้านคน
ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวของพม่าโดยกระทรวงการโรงแรมและท่องเที่ยว เมื่อปี 2015 รวม 4,681,020 คน
การท่องเที่ยวของพม่าเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะพวกเขาเพิ่งจะเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจริงจังเมื่อไม่นานนี่เอง แล้วก็เพิ่งจะสามารถทำสถิติ 1 ล้านคนแรกเมื่อปี 2012 (2555)
จากนั้นก็โตพรวดๆ เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ก้าวกระโดดมาเป็น 4 ล้านในอีก 4 ปีต่อมา เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นปีละล้านคน
ก่อนนี้ไม่นานวงการท่องเที่ยวพม่าเคยมองประเทศเล็กๆ อย่างลาวเป็นคู่แข่งและเป้าหมายเอาชนะ เพราะลาวมีนักท่องเที่ยวระดับ 2-3 ล้านมานานแล้ว ก่อนที่พม่าจะทำยอดได้แตะ 1 ล้านด้วยซ้ำไปเพราะลาวมีแม่เหล็กดึงดูด เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ตามมาด้วยวังเวียง ดินแดนบริสุทธิ์กลางหุบเขาเขียวขจี ส่วนพม่าแม้จะมีทรัพยากรมากมายแต่การเข้าถึงและสาธารณูปโภคยังไม่เอื้อนัก ค่อยๆ ไล่ตามมาห่างๆ
พม่าเพิ่งแซงลาวได้เมื่อปีที่แล้ว 2015 นี่เอง แต่ก็ยังห่างจากกัมพูชาอยู่เยอะ ตัวเลขนักท่องเที่ยวของเขมรอยู่ที่ 7 ล้านกว่าคนเพราะที่นั่นมีสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนครวัดเป็นแม่เหล็ก
นับจากปี 2011 อันเป็นปีที่รัฐบาลทหารมุ่งมั่นจะปฏิรูปการเมืองการเศรษฐกิจ พลิกวิธีคิดใหม่ทั้งหมดโดยการให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้าบริหาร ปรับปรุงระบบการเงินสมัยใหม่ จนล่าสุดก่อนจะส่งมอบการบริหารให้กับรัฐบาลถิ่นจอ-ซูจี พม่าได้ให้ใบอนุญาตธนาคารต่างชาติมาดำเนินกิจการได้ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บัตรเครดิตได้มากว่าสองปีแล้ว ขณะที่ตัวเลขการลงทุนในกิจการโรงแรมก็โตพรวดๆ แข่งกับยอดนักท่องเที่ยว
จากตัวเลขสวยๆ ที่ได้รับทำให้ทางการพม่าทะยานใจ ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้ 7.5 ล้านคนในปี 2020
เฉลี่ยจากนี้ ต้องเพิ่มให้ได้อีกปีละประมาณล้านคน !
ตารางแสดงสถิติการท่องเที่ยวพม่า 2015 โดยกระทรวงการโรงแรมและท่องเที่ยว
พยายามเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น ภาคเหนือของประเทศในเขตรัฐคะฉิ่น ซึ่งจะว่าไปทหารรัฐบาลยังเคลียร์พื้นที่รอบนอกโดยเฉพาะพรมแดนต่อกับจีนไม่ได้เลย บางจุดก็ยังเป็นเขตสู้รบ บางเขตยังเจรจาสันติภาพอยู่แต่เขตภาคเหนือมีภูเขาสูง มีหิมะ และบริสุทธิ์…นั่นก็แหล่งหนึ่ง ส่วนแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มาจะแรงในลำดับต่อไปคือ เมืองโบราณอาณาจักรพยู ของชนชาติพยู ที่เป็นบรรพบุรุษของชาวพม่าละแวกเมืองโปรม หรือที่คนไทยรู้จักว่าเมืองแปร ซึ่งเพิ่งจะได้รับประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี 2014 นั่นทำให้รัฐบาลถิ่นจอ-ซูจี ได้กำลังใจตั้งเป้าจะปัดฝุ่นผลักดัน โบราณสถานพุกาม ราชธานีเมื่อพันปีก่อน (และถูกล้มล้างโดยทัพมองโกล) อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งรู้จักกันดีในนามเมืองพระเจดีย์สี่พันองค์ให้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของพม่าให้ได้
เรื่องนี้จะว่ายากก็ยาก ง่ายก็ง่าย
อันที่จริงพม่าพยายามจะผลักดันแหล่งโบราณสถานของตนขึ้นเป็นมรดกโลกมานานแล้ว แต่ถูกตีกลับบ้าง ไม่คืบหน้าบ้าง แหล่งโบราณสถานเมืองพุกาม เสนอขึ้นบัญชีเบื้องต้นมรดกโลก หรือ Tentative List มาตั้งแต่ปี 1996 ไม่สามารถจะผ่านด่านสุดท้ายของการเสนอเอกสารและการบริหารจัดการและแผนการดูแลรักษาเพื่อให้คณะกรรมการยอมรับได้ มารอบนี้รัฐบาลเห็นช่องทางและวิธีการจะนำไปสู่ผลสำเร็จจากแหล่งอารยธรรมพยู ก็คิดจะลองอีกสักตั้ง เนื่องจากว่า การได้รับขึ้นบัญชีมรดกโลกนั้นจะเป็นกระดานหกดึงดูดนักท่องเที่ยวชั้นดี โดยไม่ต้องโปรโมทกับสื่ออื่น
ดูเหมือนว่ารัฐบาลพม่ามั่นใจว่าการปัดฝุ่น เสนอแหล่งโบราณสถานเมืองพุกามขึ้นเป็นมรดกโลกรอบนี้น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะมีปัจจัยเอื้ออำนวยหลายอย่าง ไม่ว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตลอดถึงภาพพจน์ใหม่ของพม่า การที่พุกามถูกคณะกรรมการมรดกโลกตีตกไปเมื่อครั้งกระโน้นอยู่ในยุครัฐบาลทหารสลอร์ค ที่ปิดประเทศและขาดการเชื่อมโยงกับนานาชาติ แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว
พม่ามองว่าการท่องเที่ยวเป็นอนาคตสวยหรู ตัวเลขตลอด 4-5 ปีมานี้บอกว่ามีความเป็นไปได้
แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมาย 7.5 ล้านคนภายใน 2020 ใช่จะมีอุปสรรคเอาเสียเลย
ในท่ามกลางตัวเลขสดสวย ที่พุ่งทะยานไปข้างหน้ามันก็บังเกิดมีสิ่งที่ฉุดรั้งให้ได้เห็นมากขึ้นๆ
พุกาม แหล่งอารยธรรมโบราณเมืองแห่งพระเจดีย์สี่พันองค์กำลังจะถูกปัดฝุ่นเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกอีกครั้ง
ค่าใช้จ่ายของการท่องเที่ยวพม่านั้นแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยอย่างชัดเจน เสียงบ่น เสียงตำหนิเรื่องคุณภาพไม่สมราคาจากนักท่องเที่ยวที่ไปสัมผัสพม่ามีให้เห็นมากขึ้น เอาแค่เสิร์ชในอินเตอร์เน็ตดูท่านจะเห็นทันที แค่ค่าไกด์ ค่ารถ ค่าโรงแรม (และอาหารในโรงแรมหรือร้านใหญ่) เอาแค่นี้ก็ชัดเจนว่าค่อนข้างแพง
ไม่ใช่เรื่องราคาเท่านั้น ระบบของเขาก็ซ้ำซ้อน อย่างเช่น ทัวร์ที่จะไปเที่ยวเมืองลา ต้องผ่านเชียงตุง กฎของพม่ากำหนดให้จ้างไกด์เชียงตุง 1 คนติดไปกับคณะ เมื่อเดินทางไปถึงเมืองลา กฎให้จ้างไกด์ท้องถิ่นเมืองลาอีก 1 คน รวมเป็นต้องจ่ายค่าจ้างไกด์ 2 คน/วัน เป็นต้น อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามากก็คือการแลกเงิน พม่าเป็นประเทศนี้เข้มงวดกับการแลกธนบัตรดอลลาร์สหรัฐที่นักท่องเที่ยวต้องพกแบงค์ใหม่ เรียบ ไม่ยับ และไม่มีรอยหมึกใดๆ แม้แต่จุดเดียว เวลาท่านแลกเงิน พนักงานท้องถิ่นจะค่อยๆ ลูบบนธนบัตรให้แน่ใจ ตรวจดูซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะหากพลาดขึ้นมาเธอหรือเขาจะต้องควักเงินชดใช้ ถ้าธนบัตรมีรอบพับครึ่งตรงกลางอันเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป ธนบัตรใบนั้นจะถูกปฏิเสธไม่ยอมรับแลก นี่ก็เป็นอุปสรรคเล็กๆ อีกเรื่องที่มีการเล่าขานกันมาก
พม่าคงต้องเรียนรู้และผ่านประสบการณ์ในธุรกิจการท่องเที่ยวอีกสักพัก เพราะที่ผ่านมาจำนวนห้องเหมือนจะยังน้อยไปเมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่เพิ่มพรวด การแข่งขันไม่สูงมาก ราคาจึงไม่สอดคล้องกับคุณภาพและบริการในท่ามกลางการแข่งขันอย่างสูงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพราะไม่ใช่แค่พม่า กับลาวเท่านั้น มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนามต่างก็มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวของตนอย่างจริงจังเช่นกัน
การท่องเที่ยวพม่าต้องขอบคุณคนไทย เพราะนักท่องเที่ยวหลักอันดับหนึ่งที่เข้าพม่าก็คือคนไทย ยอดนักท่องเที่ยวผ่านพรมแดนทางบกมากที่สุดปีละ 2 ล้านกว่าคนคือด้านตะวันออกที่ติดกับไทย ก็น่าสังเกตว่าคนไทยที่ไปเที่ยวลาวโดยข้ามพรมแดนไปก็ตกปีละ 2 ล้านคนเท่าๆ กับทางพม่า เป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายคล่องเป็นที่ต้อนรับด้วยดี
คลิกอ่าน : Bagan to bid for UNESCO World Heritage listing – again http://yangon.coconuts.co/2016/08/02/bagan-bid-unesco-world-heritage-listing-again