กำหนดเสร็จ : สุขุม นวลสกุล


การที่หัวหน้าจะสั่งงานให้ลูกน้องทำแบบมีประสิทธิภาพ  สิทธิการิยะท่านว่าไว้ว่า ให้มี “กำหนดเสร็จ” กำกับคำสั่งไว้ด้วย  ไม่ใช่สั่งลอย ๆ แต่เพียงให้ทำอะไร   ไม่บอกว่าให้ทำเสร็จเมื่อไหร่  เช่น หยิบข้อเขียนหนึ่งหน้ากระดาษส่งให้ลูกน้องตอน ๑๐ โมงเช้า บอกสั้น ๆ ว่า  “เอาไปพิมพ์ให้ที”

ปรากฏว่าลูกน้องรับแล้วหายไปบ่ายโมงกว่า ๆ ก็ยังไม่มาส่ง  อดรนทนไม่ได้เจ้านายก็เลยเดินไปถามหาผลงาน “ไหนล๊ะ ที่ให้พิมพ์”   ลูกน้องกลับตอบหน้าตาเฉยว่า  “ยังไม่ได้ลงมือเลยคะ”

“อ้าว ทำไมละ”  “ไม่ทราบนี่คะว่ารีบ”  เป็นอย่างนั้นไป   จะเอาเรื่องเอาราวก็คงยาก  เพราะเป็นความหละหลวมของ

คนออกคำสั่งเอง  ห้ามสวนกลับว่า “ถึงไม่บอก ก็น่าจะรู้” เป็นอันขาดนะ จะบอกให้  เรื่องอย่างนี้ทำไมต้องให้เขาคิดด้วยละครับ ไม่สั่งแบบครอบคลุมเสียแต่ต้น

เรื่องอย่างนี้ไม่เกิดหรอกครับ  ถ้าคนเป็นนายจะยึดหลักสั่งทีไรต้องมีกำหนดเสร็จกำกับไปด้วย  อย่างเรื่องข้างต้นนี่

สั่งอย่างมีประสิทธิผลก็ต้อง  “เอาไปพิมพ์ให้ที  ขอก่อนเที่ยงนะ”   ชัดเจนแบบนี้ลูกน้องก็ต้องทำให้เสร็จก่อนเที่ยงแน่นอน  หรือถ้าจะทำไม่ได้ก็คงปฏิเสธให้ได้ทราบก่อน

เช่น  “คงไม่ได้หรอกคะหัวหน้า  หนูกำลังพิมพ์ของผู้จัดการอยู่ กว่าจะเสร็จก็เที่ยงพอดี”

หรือไม่ถึงทำไม่ได้ตามคำสั่ง เธอก็อาจเสนอแนวทางแก้ปัญหามาให้เลยก็ได้  “หัวหน้ารอหนูหน่อยได้ไหมคะ  พิมพ์ของผู้จัดการเสร็จแล้ว  หนูจะพิมพ์ให้รับรองไม่เกินบ่ายโมงครึ่ง เสร็จแน่นอน”   หรือไม่ก็ “ถ้าหัวหน้ารีบ ตอนนี้สมจิตว่างอยู่ ลองวานเธอดูซิคะ”  อะไรทำนองนี้

ประโยชน์ของการสั่งแบบมีกำหนดเสร็จคือทำให้คนสั่งไม่สั่งสุ่มสี่สุ่มห้า  เช่น  หยิบดิกชันนารีขึ้นมาเห็นเป็นเล่มเล็ก ๆ  ไม่เปิดดูว่าเล่มเล็กก็จริงแต่ตัวหนังสือจิ๋วเรียงเป็นพรืดแน่นหนา  หยิบได้ก็ไม่ดูตาม้าตาเรือส่งให้ลูกน้องออกคำสั่งชัดถ้อยชัดคำ “ช่วยพิมพ์ให้หน่อย  สองวันให้เสร็จนะ”

ลูกน้องรับไปงง ๆ  พลิกดูตัวหนังสือให้แน่ใจอีกครั้ง  ก่อนจะส่งคืนหรือเผลอ ๆ อาจจะขว้างคืนแล้วตอบแบบกระแทกเสียงว่า  “ให้เสร็จในสองวัน(เสียงสูง)  หนูว่าสองเดือนก็คงไม่เสร็จ”  และหากไม่เกรงใจอาจมีแถมท้ายอีกว่า “หลับหูหลับตาสั่ง”ถ้าเป็นเรื่องจริงก็สมควรให้ลูกน้องสวนกลับ  ว่าไหมครับ

แต่ถ้าเราผู้เป็นหัวหน้าจะต้องสั่งให้ทำพร้อมกับมีกำหนดเสร็จ   ก่อนออกคำสั่งก็คงต้องหยิบดิกชันนารีมาพลิกดูว่าตัวหนังสือเป็นอย่างไรมีจำนวนหน้าเท่าไหร่  ประเมินดูว่าควรใช้เวลาสักเท่าไหร่  รอบคอบแล้วจึงบอกกับลูกน้องว่า “เธอเอาดิกชันนารีไปพิมพ์  ฉันให้เวลาเธอปีหนึ่ง เอาให้เสร็จนะ”

ลูกน้องอาจขมวดคิ้วสวนกลับมาว่า  “ตั้งปีเชียวหรือคะ”   ก็จะได้อธิบายว่า  “อย่าเพิ่งถามกลับ ลองเปิดดูก่อนซิเธอ”  ซึ่งเมื่อเธอเปิดดูก็คงจะเปลี่ยนสีหน้าเป็นหนักใจอาจยอมรับความจริงว่า  “ไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่า  แต่หนูจะพยายามคะ”

เพราะฉะนั้นให้ถือปฏิบัติเป็นกฎเหล็กเลยนะครับสำหรับคนที่เป็นหัวหน้า   ก่อนมีคำสั่งให้ลูกน้องทำอะไร  กรุณาประเมินงานที่มอบหมายก่อนว่าจะต้องใช้เวลาทำประมาณเท่าไหร่   ถึงจะเผื่อเหลือเผื่อขาดอย่างไร ก็ไม่เป็นไร  แต่ต้องบอกกำหนดเสร็จให้ผู้รับคำสั่งได้รับทราบด้วยนะ จะบอกให้

การสั่งแบบกำกับด้วยกำหนดเสร็จ  จะทำให้ผู้รับคำสั่งมีมาตรฐานการทำงานให้ใช้ประเมินความสามารถของตนว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานตามมาตรฐานความต้องการของเจ้านายหรือไม่   ถ้าเขาทำงานเสร็จตามกำหนดก็จะรู้สึกสบายใจเพราะสามารถทำงานได้ตามที่หัวหน้าคาดหมายไว้ได้

ยิ่งถ้าเขาสามารถทำเสร็จก่อนกำหนดที่หัวหน้ากำหนดไว้  แน่นอนเขาต้องภูมิใจว่าศักยภาพของเขาเหนือกว่าที่หัวหน้าคาดไว้   เช่น  ถ้าหัวหน้าสั่งงานวันจันทร์ให้ทำให้เสร็จในวันพฤหัสบดี   ปรากฏว่าแค่วันอังคารเขาก็ทำเสร็จแล้ว  อย่างนี้จะไม่ให้เขาภูมิใจได้อย่างไร  จริงไหมครับ

ถ้าเขาเอามาส่งให้เราผู้เป็นหัวหน้าตั้งแต่วันอังคารหรือวันพุธ  เชื่อเถอะครับ  เขาคงมาส่งงานด้วยตัวเองคงไม่ฝากใครมาส่งแทนเป็นอันขาด  ส่งงานเสร็จเขาจะยังไม่รีบกลับ จะยืนยิ้มอยู่ตรงหน้าผู้เป็นเจ้านายนั่นแหละ  คนเป็นนายควรรู้ด้วยนะครับว่า  เขาต้องการคำชม

หัวหน้าต้องมีหลักจิตวิทยาต้องแสดงออกไม่ให้เขาผิดหวัง  กล่าวชมออกไปให้เขาดีใจว่าเราได้เห็นความเก่งของเขา อย่างน้อยก็  “เก่งจริงคุณ  เสร็จเร็วกว่าที่ผมคิด เยี่ยมจริง ๆ”    หรือจะเว่อร์ไปเลย “เฮ้ย ซุปเปอร์แมนหรือวะนี่  ยอด ๆ ๆ ๆ” ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

อย่าแบบหัวหน้าบางคนนะ  ทำเป็นคนไม่มีหัวจิตหัวใจ  ลูกน้องทำงานเสร็จก่อนกำหนด  เอามาส่งพร้อมกับรีรอคอยฟังคำชม  หัวหน้ากลับเฉยมองด้วยสายตาเฉยเมย  จนในที่สุดก็ต้องเดินจากไปแบบไม่เข้าใจว่าหัวหน้าของตนทำไมถึงเป็นคนไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาวขนาดนั้น

พอลูกน้องเดินจากไปแล้ว  เพื่อนของหัวหน้าที่เห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็อดถามไม่ได้  “เมื่อกี๋ทำไมคุณไม่ชมเขาละ เขาอุตส่าห์ยืนรอคำชมอยู่”   หัวหน้าที่ไม่ควรมีหัวหน้าคนไหนเอาแบบอย่างกลับอธิบายด้วยเหตุผลที่นึกได้อย่างไรก็ไม่ทราบ “ไม่ได้หรอก เดี๋ยวมันเหลิง”

แต่การทำเฉย ๆ ไม่รับรู้การทำเสร็จก่อนกำหนดตามตัวอย่างข้างต้นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับมีปฏิกริยาโต้ตอบแต่เป็นไปทางลบ  เช่น  “รีบจริงนะ  ฉันให้ส่งวันพฤหัสฯ ไม่ใช่หรือ  นี่เพิ่งวันพุธรีบส่งแล้ว จะรีบไปไหนพ่อคุณ  อย่าให้ฉันเจอข้อผิดพลาดนะ ฉันเอาตายแน่”  เล่นเอาลูกน้องตัวสั่นงันงกหอบงานที่ทำเสร็จแล้ว  “ถ้ายังงั้น  ขอผมเอากลับไปทบทวนดูอีกสักครั้ง เพื่อความชัวร์ครับ”  แล้วตั้งแต่นั้นมา อย่าหวังว่าลูกน้องจะกระตือรือร้นรีบเร่งทำงาน  ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกำหนด

หัวหน้าต้องรู้จักชมลูกน้องในเวลาที่สมควรชม  คำชมของหัวหน้าทำให้ลูกน้องมีความรู้สึกดี ๆ ต่อหัวหน้า  วันหน้าวันหลังเกิดมีเรื่องต้องตำหนิว่ากล่าวคนเป็นลูกน้อง   เขาก็อาจไม่รู้สึกในทางลบ  อาจจะคิดว่า หัวหน้าตูก็เป็นคนอย่างนี้แหละทำดีก็ชมทำเสียก็ต้องว่ากล่าวตักเตือนเป็นธรรมดา

ผิดกับหัวหน้าที่ไม่เคยชมลูกน้องเลย  พูดกับลูกน้องทีไรมีแต่เรื่องว่ากล่าวหรือตำหนิโน้นนี่  ระวังนะครับ  ลูกน้องอาจจะมองเราเป็นหัวที่เอาแต่คอยจับผิดลูกน้อง  ไม่เคยเห็นความดีของลูกน้องเลย  เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่มีจังหวะหรือมีโอกาสจะชมลูกน้องกรุณาฉกฉวยด้วย  อย่าลืมวลีที่ว่า “อันลมปากหวานหูไม่รู้หาย” เสียนะครับ

นอกจากนี้ ถ้าหากได้รับคำสั่งแล้ว เอางานไปปฏิบัติแต่ทำท่าจะไม่เสร็จทันตามกำหนด  เขาก็จะรู้ตัวว่าต้องพัฒนาปรับปรุงศักยภาพเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เจ้านายต้องการ  ยิ่งถ้างานนั้นเจ้านายมอบหมายกระจายให้หลายคน  คนอื่น ๆ ไม่มีปัญหาสามารถทำเสร็จตามกำหนดทั้งนั้น  มีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำท่าจะไม่ถึงหลักชัย  เขายิ่งรู้ตัวว่าต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองให้ทันคนอื่น   ไม่งั้นคงทำงานไม่ราบรื่นแน่

เห็นไหมครับ  “กำหนดเสร็จ” สามารถช่วยให้คนที่เป็นเจ้านายสามารถกำกับหรือผลักดันให้ลูกน้องทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างไร