ยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม : เสน่ห์ ศรีสุวรรณ


เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

ประวัติการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลก (Industrial Revolution) จากยุคที่ 1 หรือ Industrial 1.0 เริ่มต้นในประเทศอังกฤษราวปี ค.ศ. 1784 เป็นยุคที่เริ่มใช้ไอน้ำ (Steam) และเครื่องจักรกลในการผลิต อุตสาหกรรมหลักในสมัยนั้นก็คือสิ่งทอ ต่อมาก็เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 2 หรือ Industrial 2.0 มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในราวปี ค.ศ. 1870 เป็นยุคที่มีการใช้ถ่านหินที่มีคุณภาพความร้อนสูง ใช้เหล็กกล้ามาสร้างเรือกลไฟและรถไฟ พัฒนาเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า (Electricity) มีการแบ่งไลน์หรือสายพานการผลิต เป็นยุคของการผลิตสินค้าจำนวนมากเหมือนๆกันที่เรียกว่า mass production เป็นยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 3 หรือ Industrial 3.0 เริ่มขึ้นในราวปี ค.ศ. 1969 เป็นยุคอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) เทคโนโลยีสารสนเทศ(Information Technology – IT) คอมพิวเตอร์ (Computer) ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automated production) ผลิตสินค้าสลับซับซ้อน ลดต้นทุนการผลิตเพื่อการแข่งขัน

ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 หรือ Industrial 4.0 เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 และคาดว่าจะปฏิวัติเต็มรูปในปี ค.ศ. 2020 เป็นยุคที่มีการพลิกโฉมการผลิตครั้งใหญ่โดยการเชื่อมต่อระบบการผลิตเข้ากับเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตแบบที่เรียกว่า Cyber – Physical Systems (CPS) ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อเครือข่ายในทุกรูปแบบหรือ Internet of Things (IOT)  โดยให้กระบวนการผลิตหรือตัวสินค้าเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิตอล มีระบบการป้อนข้อมูลให้เครื่องจักรรับคำสั่งการผลิตออนไลน์จากผู้บริโภคได้โดยตรง ใส่ตัวส่งข้อมูลในเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้สินค้าและเครื่องจักรคุยกันได้อง มีการแจ้งกลับโดยอัตโนมัติไปยังโรงงานเมื่อเกิดปัญหาทางเทคนิค

โรงงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะมีความสามารถในการผลิตของหลากหลายแตกต่างกันตรงตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละรายโดยตรงและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลแบบครบวงจรแบบ Smart Factory

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคที่ 4 ได้แก่

  • การใช้หุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced robotics) และการขนส่งอัตโนมัติ (Autonomous transport)
  • มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) และ Machine learning โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้เครื่องสามรถเรียนรู้ด้วยตัวมันเองกับความเปลี่ยนแปลงและข้อมูลใหม่
  • มีการใช้วัสดุขั้นสูง (Advanced materials)
  • ใช้ไบโอเทคโนโลยีและจีโนมิกส์ (Biotechnology and Genomics)
  • บางตำแหน่งงานจะหายไปส่วนตำแหน่งอื่นก็ยังคงมีและเป็นที่ต้องการและจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้น
  • ทักษะงานประมาณหนึ่งในสามของทักษะงานที่มีความสำคัญในปัจจุบันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
  • แรงงานใหม่ในอนาคตจะต้องสร้างทักษะให้ตรงตามความต้องการ

World Economic Forum ได้ประเมินว่า 10 ทักษะสำคัญสุด (Top 10 Skills) ในยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปจาก 10 ทักษะสำคัญสุดในปี ค.ศ. 2015 ได้แก่

  1. Complex Problem Solving คือทักษะการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน
  2. Critical Thinking คือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณมีเหตุมีผลไม่ด่วนสรุป
  3. Creativity คือทักษะการคิดสร้างสรรค์
  4. People Management คือทักษะในการบริหารบุคคล
  5. Coordinating with Others คือทักษะการประสานงานกับผู้อื่น
  6. Emotional Intelligence คือทักษะความฉลาดในการใช้อารมณ์
  7. Judgment and Decision Making คือทักษะการประเมินและการตัดสินใจ
  8. Service Orientation คือทักษะในการให้บริการ
  9. Negotiation คือทักษะในการเจรจาต่อรอง
  10. Cognitive Flexibility คือทักษะในเรื่องความยืดหยุ่นทางปัญญา หมายความว่าต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงแสวงหาพัฒนาความรู้ความสามารถให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ ทักษะนี้ไม่ได้อยู่ใน 10 ทักษะสำคัญสุดปี ค.ศ. 2015 มาก่อน

แรงงานไร้ทักษะ (Non-Skill Labor) ที่อาศัยแต่แรงงานรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายวันจะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นแรงงานมีทักษะ (Skill Labor) ซึ่งเป็นที่ต้องการในยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานไร้ทักษะจำนวนมากจะถูกแทนด้วยเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ซึ่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตดีกว่า ปัจจุบันเริ่มมีบางโรงงานอุตสาหกรรมใช้กระบวนการผลิตด้วยหุ่นยนต์แขนยนต์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผลิต เหลือเพียงการขนส่งเท่านั้นที่ยังใช้แรงงานคนอยู่ ซึ่งก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีการพัฒนาระบบขนส่งอัตโนมัติไม่ต้องใช้แรงงานคน

เมื่อพิจารณา 10 ทักษะสำคัญสุดในยุค Industrial 4.0 เห็นได้ชัดว่าเป็นทักษะที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความคิด สติปัญญามากกว่าการใช้แรงงานเหมือนในอดีต การควบคุมเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์จะไม่ใช่หน้าที่ของมนุษย์อีกต่อไปแต่เป็นเรื่องของการเชื่อมต่อควบคุมสั่งการผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญที่ต้องการการเรียนรู้และปรับตัวเชิงรุกไม่ต้องรอช้าอยู่

==========================================================