กสอ. เร่ง 3 ปัญหาฉุดรั้งเอสเอ็มอีไทย


กสอ. เร่ง 3 ปัญหาฉุดรั้งเอสเอ็มอีไทย

กสอ. ลุยแก้  3 ปัญหาหลักเอสเอ็มอี การเพิ่มยอดขาย การลดต้นทุน และการลดของเสีย พร้อมตั้งเป้า ปี 2564 ปั้นเอสเอ็มอี 3 พันราย

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2559- 2560 ว่า กสอ. มีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพของเอสเอ็มอีในเรื่องหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มยอดขาย การลดต้นทุน และการลดของเสีย โดยตั้งเป้าหมายในปี 2559 กลุ่มเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 3 พันราย จะมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท ในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 7 พันล้านบาท และในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยเอสเอ็มอี 1 รายจะมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ 9% ลดต้นทุนได้ 6% และลดของเสียได้ 3%

นอกจากนี้ ได้จัดโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเจาะจงใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการใหม่ (Start Strong ) กลุ่มที่ต้องเสริมสร้างความเข็มแข็ง และกลุ่มที่ส่งเสริมให้ไปสู่ตลาดโลก (Sustain )โดยในกลุ่ม Start Strong จะมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่ง กสอ. ได้กำหนดให้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) , โครงการสร้างธุรกิจใหม่ (NBC) , โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ให้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 250 กิจการ หรือ 5,200 ราย ในปี 2560 ใช้งบประมาณ 207 ล้านบาท

ส่วนในกลุ่ม Strong จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามารถให้กับผู้ประกอบการรายเดิมที่กำลังดำเนินธุรกิจ ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องของการปรับแผนธุรกิจและการเพิ่มขีดความสามารถ โดยจะเน้นในภาคการผลิตและภาคบริการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีไอทีใช้ในการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถเข้าสู่ การแข่งกันในตลาดการค้าสากล รวมทั้งเน้นการผลักดันเอสเอ็มอี เพื่อการส่งออกตลาดโลก ผ่านทางโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายเห็นผลสำเร็จไม่น้อยกว่า 1.6 พันกิจการ หรือ 7.2 พันราย ในปี 2560 ใช้งบประมาณ 513 ล้านบาท

ขณะที่ในกลุ่ม Sustain มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้ทันยุคโลกาภิวัฒน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่ง กสอ. มีโครงการส่งเสริมเครือข่ายและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ , การพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม , การพัฒนาปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาและการบูรณาการในกลยุทธ์นี้จะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวได้มากถึง 870 กิจการ / 650 ราย ด้วยงบประมาณ 130 ล้านบาท