นอนแบงก์อู้ฟู้รอบ 5 ปี คนรายได้เกิน 3 หมื่นแห่กู้


นายวิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้ประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงต้องหันไปกู้ยืมจากผู้ให้บริการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) เพิ่ม เพื่อนำใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งผ่อนชำระสินค้ารวมถึงใช้จ่ายในกรณีพิเศษ เช่น กู้เพื่อแต่งงาน รักษาพยาบาล ท่องเที่ยวต่างประเทศ

ทั้งนี้เห็นได้จากยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลทั้งระบบธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ที่มีรวมกว่า 325,000 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเติบโตอยู่ 3.8 % แต่ในจำนวนนี้เป็นการเติบโตของนอนแบงก์ถึง 9.6 % หรือมียอดสินเชื่อมากถึง 167,000ล้านบาท สวนทางกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่หดตัวไป 1.7 % มีสินเชื่อเหลือเพียง 158,000 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มนอนแบงก์กลับมาครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 54 หรือในรอบ5ปี

นอกจากนี้จากการศึกษาข้อมูลในตลาดพบว่า ระยะหลังคนไทยไม่กังวลว่าจะถูกนอนแบงก์เรียกเก็บดอกเบี้ยแพง 27-28 % เต็มเพดานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เพียงแต่จะขอให้ได้รับเงินอนุมัติออกมาให้ใช้ได้รวดเร็ว และมีวงเงินที่มากพอต่อความต้องการก็เพียงพอ ทำให้ธุรกิจของนอนแบงก์มีโอกาสขยายตัวได้อีก สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าของบริษัทที่พบว่ามีลูกค้าฐานะดีกู้ซื้อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ หันมาขอกู้สินเชื่อบุคคลเพิ่มกว่า 100 ล้านบาททีเดียว

“แนวโน้มความต้องการสินเชื่อไปใช้เสริมสภาพคล่องขยายวงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำแต่ตอนนี้ขยับมาถึงกลุ่มมีรายได้สูงแล้ว ทำให้การปล่อยกู้สินเชื่อบุคคลของนอนแบงก์ยังมีโอกาสโตได้อีกปีละ 5-10% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังระวังการปล่อยกู้อยู่ เพราะกลัวจะกลายเป็นหนี้เสียหลังจากภาระหนี้ครัวเรือนและเอ็นพีแอลยังสูงอยู่ ผิดกับนอนแบงก์ที่มีความกล้าที่จะปล่อยและสามารถบริหารจัดการการปล่อยกู้หรือบริหารหนี้ได้ดีกว่า แต่เชื่อว่ากลุ่มรายได้สูงยังเป็นตลาดสินเชื่อที่ดี มีความเสี่ยงเป็นหนี้สูญน้อยกว่าลูกค้ารายได้ต่ำอยู่”