“ไม่สนุกไม่ทำ” ถอดแนวคิดริชาร์ด แบรนสัน โดยเสน่ห์ ศรีสุวรรณ


                                                                                เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

ผมอ่านหนังสือ Like A Virgin ของริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) กับแนวคิดการทำธุรกิจที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย จากชายผู้มีปัญหาด้านการอ่านสู่การสร้างธุรกิจกว่า 400 แห่งทั่วโลก ชอบใจแนวคิดที่แปลกแตกต่างไปจากแนวคิดดั้งเดิมในการทำธุรกิจจึงขอเอามาถ่ายทอดต่อเผื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการทั้งหลาย

ริขาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) เป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 66 ปี มีปัญหาในเรื่องการอ่านจนต้องเลิกเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่ไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคเพราะเขาตัดสินใจในการทำธุรกิจด้วยการ “ลงมือทำ” แทนที่จะไปเรียนรู้จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่น เริ่มจากการทำนิตยสารรายเดือนตอนอายุ 15 ปี ไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ สร้างธุรกิจกว่า400 แห่งภายใต้แบรนด์เวอร์จิ้น (Virgin) จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

ธุรกิจใหญ่ที่เป็นที่รู้จักได้แก่ สายการบินเวอร์จิ้น (Virgin Airlines) ค่ายเพลงเวอร์จิ้น (Virgin Records) โทรศัพท์เวอร์จิ้น (Virgin Mobile) ธนาคารเวอร์จิ้น (Virgin Money) ท่องเที่ยวเวอร์จิ้น (Virgin Holidays) โรงแรมเวอร์จิ้น (Virgin Hotels) ค้าปลีกเวอร์จิ้น (Virgin Megastores) สื่อเวอร์จิ้น (Virgin Media) กีฬาเวอร์จิ้น (Virgin Sport) เป็นต้น

เขาเป็นคนที่มีสไตล์การทำงานที่เน้นความสนุกและท้าทาย ให้ความสำคัญกับคน ไม่เก็บตัวอยู่แต่ในสำนักงานหรือห้องทำงาน ชอบเดินออกไปพบปะพนักงานและลูกค้า รับฟังและบันทึกความคิดดีๆลงในสมุดโน้ตที่พกติดตัวไปทุกแห่งแล้วนำมาใช้มาปฏิบัติ รักการผจญภัย ชอบเล่นกีฬา ชอบออกกำลังกาย สร้างแบรนด์เวอร์จิ้นด้วยตนเอง ทำตัวให้เป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอ

ริชาร์ด แบรนสันมีแนวคิดที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไปโดยเฉพาะธุรกิจบริการที่มักจะให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรกหรือ Customer First แนวคิดในการทำธุรกิจของเวอร์จิ้นคือให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอันดับแรก อันดับสองคือลูกค้า และอันดับสามคือผู้ถือหุ้น ด้วยปรัชญาที่ว่าถ้าให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอันดับแรกจะทำให้พนักงานมีความสุขส่งต่อให้ลูกค้ามีความสุข ทำให้ผลประกอบการออกมาดีสุดท้ายก็ทำให้ผู้ถือหุ้นมีความสุข

เขามีความเชื่อว่าคนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของบริษัท ต้องลงทุนและทุ่มเทไปกับการหาคนที่ใช่และเก่งไม่ใช่เลือกคนที่ชอบเพราะเป็นเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง เขาพร้อมให้อำนาจคนให้ปลดปล่อยศักยภาพและความสามารถออกมา ปฏิบัติกับทุกนในเชิงบวก สร้างวัฒนธรรม “จับถูก”ให้ได้คาหนังคาเขา คือหาคนที่ทำดีทำถูกมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มายกย่องให้รางวัล ชมคนโดยไม่รีรอและหลีกเลี่ยงการตำหนิคนต่อหน้าผู้อื่น ทำตนเป็นผู้นำไม่ใช่เจ้านาย

เขาไม่ชอบเป็นผู้นำที่หลบอยู่ในห้องหรือบนโต๊ะทำงาน ชอบที่จะเดินออกไปพบไปคุยไปรับฟังพนักงานและลูกค้าแต่ไม่ไปพูดไปทำให้พวกเขาเสียกำลังใจ เขาเชื่อไม่มีใครผูกขาดเป็นเจ้าของความคิดหรือคำแนะนำที่ดีไว้แต่เพียงผู้เดียว บอกกับคนของเขาว่า “อย่าเอาปัญหามาให้ฉัน เอาวิธีแก้ปัญหามาให้ฉันดีกว่า”

กฎระเบียบกรอบการทำงานต้องมีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่กฎก็มีเอาไว้แหกได้เพื่อไม่ให้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับบริการที่แย่หรือเพื่อให้บริการที่ยอดเยี่ยมแก่ลูกค้า ค่านิยมที่สำคัญสำหรับแบรนด์เวอร์จิ้นก็คือการมอบบริการชั้นยอดแก่ลูกค้า เชื่อมโยงธุรกิจแต่ละอย่างเข้าด้วยกัน ใช้หลักปลาเร็วชนะปลาช้า หรือ Small is beautiful

กฎ 5 ข้อของริชาร์ด แบรนสันในการทำธุรกิจภายใต้แบรนด์เวอร์จิ้นจนประสบความสำเร็จก็คือ

  1. ไม่สนุกกับมันอย่าทำ ต้องรักในสิ่งที่ทำ
  2. มีความคิดสร้างสรรค์ ทำอะไรให้แตกต่างโดดเด่น
  3. พนักงานเป็นสินทรัพย์ที่เยี่ยมที่สุดต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
  4. นำโดยการฟัง ขอความเห็นตอบกลับจากพนักงานและลูกค้าอยู่เสมอ
  5. จงอยู่ในสายตาคน ออกสื่อให้บ่อย ทำให้บริษัทและผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก

ริชาร์ด แบรนสัน เห็นว่าพนักงานอายุเยอะมากประสบการณ์ก็ยังคงมีประโยชน์ เขาคิดว่าตัวเขาเองน่าจะทำงานได้อีกเกือบสามสิบปีเพราะเขาเป็นคนเอาใจใส่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ แม้เขาจะเริ่มลงมือทำธุรกิจมาตั้งอายุ 15 ปีผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านวิกฤติมาถึงกว่า 50 ปีแล้วเขายังสนุกกับการทำงานและมองหาโอกาสในทุกสถานการณ์ให้กับธุรกิจภายใต้แบรนด์เวอร์จิ้นด้วยหลักการสั้นๆง่ายๆทีว่า

“Do Good, Have Fun and The Money Will Come (ทำดี สนุกเข้าไว้ แล้วเงินจะมาเอง)”

================================================================