รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
…..เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่รวดเร็วและรุนแรงทั้งในระดับโลกและระดับประเทศอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ลักษณะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพียง 3 ครั้งในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ โดยครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว เมื่อโลกเข้าสู่สังคมเกษตร ครั้งที่ 2 เกิดเมื่อ 200 ปีที่แล้วเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสังคมอุตสาหกรรม และเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา สังคมมนุษย์เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือยุคดิจิตอล หรือที่ Thomas Friedman เรียกว่า ยุคโลกแบน (Flat world)
เมื่อ 10,000 ปีที่แล้วที่สังคมมนุษย์เริ่มเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคในบ้าน และปลูกพืชผักผลไม้เพื่อการบริโภคถือเป็นจุดกำเนิดของสังคมเกษตรเป็นครั้งแรก สังคมเกษตรที่เกิดขึ้นครั้งแรกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการที่มนุษย์เริ่มหยุดเคลื่อนย้ายและมีการตั้งถิ่นฐาน (Settlement) สังคมเริ่มรวมกันเป็นกลุ่ม ที่ดินกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด นำมาสู่การขยายดินแดน เกิดการขยายตัวของอาณาจักรในภูมิภาคต่าง ๆ และนำไปสู่สังคมทาส และยุคที่ 2 ของสังคมเกษตรคือการพัฒนาสู่สังคมศักดินา ซึ่งที่ดินยังเป็นองค์ประกอบของการแข่งขันที่สำคัญที่สุด
ในยุคนี้เองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่การกำเนิดของรัฐชาติ ผู้ปกครองรัฐจะเป็นผู้ผูกขาดด้านเศรษฐกิจ ด้านการค้า และด้านระหว่างประเทศ เราเรียกระบบนี้ว่า ระบบพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ในช่วงปลายยุคสังคมเกษตรก็มีการกำเนิดของเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมกลายพันธุ์ (Mutation) เมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีแนวคิดในการต่อต้านสังคมเดิมและต้องการพัฒนาสังคมใหม่ คนชั้นกลางเหล่านี้ได้รับอานิสงส์จากแนวคิดของกรีกและโรมันที่เรียกว่า ปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) อันเป็นสาระสำคัญของยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) ในศตวรรษที่ 15-16 แนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า “มนุษย์นั้นฉลาดและเก่งซึ่งควรจะให้เสรีภาพกับความเป็นมนุษย์ เพื่อนำความฉลาดและเก่งไปพัฒนาสังคม”
แนวคิดดังกล่าวเริ่มทำให้ชนชั้นกลางมองเห็นทางสว่างในการต่อต้านสังคมเดิมที่ปิดกั้นการพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะศาสนจักรที่มีศาลศาสนา (Inquisition) และแม้แต่กาลิเลโอก็ยังถูกจับขังเพียงเพราะเห็นว่าโลกกลม แนวคิดด้านมนุษยนิยมจึงพัฒนาสู่แนวคิดในการตอกย้ำเสรีภาพของมนุษย์และนำไปสู่มิติแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกษตรและเป็นเสมือนเชื้อที่กลายพันธุ์สู่สังคมอุตสาหกรรม แนวคิดด้านเสรีภาพทางศาสนานำโดย Martin Luther และทำให้ศาสนาคริสต์แตกออกเป็นคริสตังและคริสเตียน แนวคิดด้านเสรีนิยมทางเศรษฐกิจนำโดย Adam Smith ส่งผลต่อการขยายตัวของระบบทุนนิยม และแนวคิดการค้าต่างประเทศ นำโดย Riccardo นำไปสู่การค้าเสรีซึ่งเป็นมรดกตกทอดสู่ทุกวันนี้ และแนวคิดเสรีภาพทางการเมืองของ Jean Jacques Rousseau นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ในยุคอุตสาหกรรมนี้เองมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่เรียกกว่ายุค Enlightenment ในศตวรรษที่ 18-19 ในยุคนี้บุคลากรที่ทรงความรู้ที่เป็นที่รู้จักกันคือ Voltaire, Jean Jacques Rousseau และ Sir Isaac Newton บุคลากรในกลุ่ม Enlightenment อาจแยกเป็น 2 สาย คือ สายปรัชญาและวรรณคดี อีกสายคือ สายประจักษ์นิยม (Empiricism) ซึ่งสายนี้เองที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม
การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงสังคมโลกในทุกมิติอย่างมโหฬารเช่นเดียวกับยุคเกษตร การปฏิวัติอุตสาหกรรมนำไปสู่การกำเนิดเครื่องจักรไอน้ำซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการคมนาคม เช่น รถไฟ เรือกลไฟ และพัฒนาไปสู่ไฟฟ้าซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติด้านการผลิตที่เน้นประสิทธิภาพเป็น Mass Production ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการบริหารในเชิงอำนาจลดหลั่น (Vertical) เกิดการขยายตัวของอาวุธทันสมัยซึ่งนำไปสู่การล่าอาณานิคม เกิดการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ในยุคแรก ๆ เกิดการขยายตัวของค่านิยมตะวันตกไปสู่ทั่วโลก แม้กระทั่งการแต่งกาย อาหารการกิน การศึกษา ระบบการบริการการจัดการทั้งในภาครัฐและเอกชน
เมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา ในยุคสังคมอุตสาหกรรมเริ่มมีเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นสังคม IT ในทุกวันนี้ เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวก็คือการกำเนิดของคอมพิวเตอร์ซึ่งได้สร้างมิติใหม่แห่งการแข่งขันที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั่นคือ มิติความลึกของข้อมูล (Depth), ความเร็ว (Speed), และมิติของ Multi-media ใครจะเชื่อว่าข้อมูลมหาศาลจะถูกเก็บใน IPhone, IPad ได้ ถ้าเป็นยุคอุตสาหกรรมต้องใช้พื้นที่เก็บเป็นตึกทั้งหลัง มิติทั้ง 3 จึงได้สร้างความโกลาหลของการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิด Disruption หรือการพังทลายของทุกมิติ นำมาซึ่งกำเนิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และองค์ประกอบใหม่ ๆ ในสังคม พัฒนาการของคอมพิวเตอร์ได้รับการเชื่อมต่อจากพัฒนาการด้าน Telecom และเป็นจุดกำเนิดของสังคม IT ที่เรียกว่า ยุค 3.5 ในขณะที่คอมพิวเตอร์สร้าง 3 มิติแห่งการเปลี่ยนแปลงอันประกอบด้วย ความลึก ความเร็ว และมิติ Multi-media แต่ Telecom สร้างมิติที่ 4 คือ ความกว้างหรือความเชื่อมโยง (connectivity) ทั้ง Intranet, Extranet และ Internet ทำให้โลกไร้พรมแดน (Borderless)
จากเมล็ดพันธุ์ด้าน IT เกิดการแตกหน่อสู่การขยายตัวของโลกาภิวัตน์ด้านข้อมูลและนำไปสู่การล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในปี 1989 เมื่อยุโรปตะวันออกล่มสลายเปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์เป็นทุนนิยมประชาธิปไตย อีก 2 ปีต่อมาคือปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลายแตกเป็น 15 ประเทศ ยูโกสลาเวียแยกเป็น 7 ประเทศ การล่มสลายของคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคหลังสงครามเย็น (Post cold war) ในยุคนี้ปัญหาความมั่นคงจากคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็นหมดไป สังคมโลกเกิดการขยายตัวเชื่อมทุกมิติ (โลกาภิวัตน์) ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และค่านิยม ในทางการเมืองระบบเผด็จการทั้งโลกเริ่มเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง (บางสังคมกลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก) เกิดการขยายตัวของสิทธิมนุษยชน โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการขยายตัวของสินค้า บริการ ดังจะเห็นว่า สังคมไทยได้กินปลาทูน่า แซลมอน เชอรี่ ขณะเดียวกัน มวยไทย อาหารไทยก็ขยายไปทั่วโลก ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และคนไทยก็ไปลงทุนในต่างประเทศ เมื่อต่างชาติเข้ามาลงทุน คนไทยรวยขึ้นก็เกิดการขยายตัวของบ้านช่องและคอนโด รสนิยมการกินของคนไทยก็เปลี่ยนไป เริ่มกินอาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น อาหารอิตาลี อาหารสเปน รวมทั้งอาหารไม่มีสัญชาติ เช่น สปาเก็ตตี้ใส่ใบโหระพาปลาเค็ม เป็นอาหารฟิวชั่นซึ่งเกิดจากการปะทะกันทางวัฒนธรรมของตะวันออกและตะวันตกจากโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ทำให้มีการเปิดเสรีขนานใหญ่ทั้งเสรีสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน ยุคหลังสงครามเย็นจึงเป็นยุคแข่งขันทางการค้า เป็นยุคที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ความอยู่รอดของปลาเล็กคือ การรวมกลุ่มในลักษณะการค้าเสรีและตลาดร่วมทั้งโลก จึงไม่น่าแปลกใจว่า AFTA และ AEC จึงเกิดขึ้นในยุคนี้
อาจจะกล่าวได้ว่า เชื้อแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เกิดขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ที่มีพลังการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เป็น 1 ใน 3 ของเมล็ดพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสังคมในรอบ 10,000 ปี และในยุคปัจจุบันหรือยุค 3.5 ก็มีเชื้อแห่งการกลายพันธุ์สู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการผสมดิจิตอล Biotechnology, Nanotechnology นำไปสู่ปรากฏการณ์หลายอย่าง เช่น Internet of things, 3D Printing, Robotic autonomous เช่น เครื่องบินไร้คนขับ รถยนต์ไร้คนขับ ที่เห็นได้ชัดคือ การขยาย Blockchain ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านการเงินและการค้าอย่างมากมาย
อาจกล่าวได้ว่า สังคมมนุษย์ในทุกวันนี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่มีเพียง 3-4 ครั้งในรอบ 10,000 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นข่าวของสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในระดับใหญ่คือรัฐ ระดับกลางคือองค์กร และระดับเล็กก็คือตัวเราเอง