พม. จัดกิจกรรม “999 ดวงใจ ร่วมอาลัยพ่อหลวง”


วันนี้ (9 พ.ย. 59) เวลา 11.00 น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม) ให้การต้อนรับราษฎรบนพื้นที่สูง 9 ชนเผ่า จาก 20 จังหวัด จำนวน 999 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีจำนวนหนึ่งที่เป็นบุคคลในภาพที่เคยร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จำนวน

9 เหตุการณ์แห่งความทรงจำของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมมอบกระเป๋า “พม. เพื่อพ่อหลวง” เพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และเครือข่ายภาคประชารัฐ มอบให้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูง และได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “บุคคลในภาพ” 9 ภาพ
ณ วิหารคต วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนารามราชวรวิหาร จากนั้นได้ปล่อยขบวนรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 25 คัน ที่ใช้อำนวยความสะดวกในการเดินทางของราษฎรบนพื้นที่สูง 9 ชนเผ่า ไปยังสนามหลวง เพื่อตั้งริ้วขบวนแยกตามเผ่า ก่อนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ภายใต้กิจกรรม “999 ดวงใจ ร่วมอาลัยพ่อหลวง”

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการพัฒนาคนตามหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนามาขับเคลื่อนงานตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับการพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง อาทิ โครงการหลวง โครงการในพระราชดำริ โครงการพระธรรมจาริก งานสังคมสงเคราะห์ราษฎร งานพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้ราษฎรบนพื้นที่สูง สามารถดำรงชีวิตภายใต้หลักภูมิสังคม และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง โดยมีศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 16 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ เลย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลำปาง ลำพูน อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ดูแลราษฎรบนพื้นที่สูง 10 เผ่า 342,652 ครอบครัว จำนวน 1,441,135 คน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคม โดย พส. ร่วมกับวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนารามราชวรวิหาร และเครือข่ายภาคประชารัฐ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทคาราบาวตะวันแดง จำกัด บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จํากัด และกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดกิจกรรม “999 ดวงใจร่วมอาลัยพ่อหลวง” เพื่อแสดงความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อราษฎรบนพื้นที่สูง โดยได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางของราษฎรบนพื้นที่สูง 9 ชนเผ่า จาก 20 จังหวัด จำนวน 999 คน ก่อนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการอำนวยความสะดวกดังกล่าว เริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 3 ร่วมดูแลอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูงจาก 14 จังหวัดภาคเหนือ โดยรถไฟขบวนพิเศษของการรถไฟแห่งประเทศไทย สู่ปลายทางสถานีรถไฟหัวลำโพง และเดินทางต่อโดยขบวนรถบัสขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สู่วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่จัดกิจกรรมพัฒนาและบรรพชาอุปสมบทหมู่ชาวเขามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2508 สำหรับราษฎรบนพื้นที่สูงที่เดินทางมาในวันนี้ มีจำนวน 999 คน ประกอบด้วย 9 ชนเผ่า ได้แก่
กระเหรี่ยง 249 คน ม้ง 207 คน ลาหู่ 99 คน อาข่า 99 คน เมี่ยน 99 คน ลีซู 99 คน ลัวะ 49 คน ขมุ 49 คน ถิ่น 49 คน และในจำนวนนี้เป็นบุคคลในภาพแห่งความทรงจำ 9 เหตุการณ์ ได้แก่ นายอันไช แซ่ย่าง ชนเผ่าม้ง ผู้เคยร่วมทำพิธีผูกขวัญข้อพระกรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จหมู่บ้านแม่สาใหม่ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2521
นายจอนิ โอ่โดเชา ชนเผ่ากระเหรี่ยง ผู้เคยเข้าเฝ้า เมื่อครั้งเสด็จโครงการหลวงขุนวางและสถานีทดลองการเกษตร ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2528  และ นายเจริญ ไชยกอ ชนเผ่าลาหู่ ผู้เคยเข้าเฝ้าถวายของที่ระลึก เมื่อครั้งเสด็จบ้านห้วยลึก ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ซึ่งภาพเหตุการณ์ของนายเจริญฯ ได้ถูกจัดพิมพ์
เป็นด้านหลังธนบัตรฉบับละ 100 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย