สุขุม นวลสกุล
…… โดยปกตินักบริหารถือเป็นคนระดับสูงในบริษัทเพราะจะต้องเป็นหัวหน้ามีหน้าที่บังคับบัญชาหรือดูแลคนอื่นๆ ที่อยู่ในฐานะลูกน้อง เมื่อเป็นลูกพี่ นักบริหารจึงมักได้รับความเกรงอกเกรงใจหรือบางครั้งอาจถึงขั้นเกรงกลัว ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้องจะพูดจะคุยด้วยก็มักจะต้องรอจังหวะที่เหมาะสม ไม่ใช่นึกอยากจะสนทนาด้วยก็โผล่พรวดเข้าไปหา
เพราะฉะนั้นคนเป็นนักบริหารมักจะเปล่าเปลี่ยวหาคนพูดคุยด้วยยาก ยกเว้นแต่คนระดับเดียวกัน ซึ่งยิ่งตำแหน่งหน้าที่เราสูงขึ้นเท่าใดก็ยิ่งมีคนแวดล้อมน้อยคนลงไปเรื่อย ๆ จนมีการรำพึงว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” หมายถึงว่ายิ่งทำงานบริหารสูงขึ้นก็ยิ่งมีเพื่อนน้อยลง โต๊ะทำงานก็ปลีกวิเวก หันซ้ายหันขวาก็ไม่เห็นใคร ไม่เหมือนสมัยเป็นผู้ตามมีเพื่อนคุยด้วยเป็นฝูงเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามก็อยากจะแนะนำคนเป็นนักบริหารว่าควรทำตัวเป็นคนที่ลูกน้อง “สัมผัส”ได้ หมายความว่าเป็นคนที่ลูกน้องกล้าพูดกล้าคุยด้วย ไม่ใช่วางตัวเป็นคนน่าเกรงขามคนทำงานด้วยไม่กล้าเข้าใกล้ อย่าว่าแต่พูดคุยเลยแค่สบตายังไม่ค่อยจะบังอาจ กราดหน้าไปทางไหนก็เห็นแต่คนก้มหน้าก้มตาไม่ค่อยมีใครสู้สายตา
อย่าไปภูมิใจแบบไม่เข้าท่าว่าข้าพเจ้าเป็นคนที่มีบารมี ลูกน้องเกรงกลัว เดินไปทางไหนในบริษัทลูกน้องทำตัวลีบหลบตากันวูบวาบ พูดกับใครคนนั้นก็ปากคอสั่นไม่กล้าต่อปากต่อคำด้วย เพราะถ้าเป็นแบบนั้นโอกาสที่จะทำให้ลูกน้องเข้าใจผิดในตัวเราหรือพฤติกรรมของเรา เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ช่องว่าง”ขึ้นมาได้
“ช่องว่าง”คือความเข้าใจผิด เราทำบางสิ่งบางอย่างที่ส่งผลกระทบกับคนอื่นด้วยความปรารถนาดี แทนที่จะได้รับความพออกพอใจจากคนที่ได้รับผล เขากลับไม่พอใจมองความดีที่เราตั้งใจให้เป็นความเลวที่ไม่ปรารถนา เกิดความไม่พอใจหรือแค้นเคืองหัวหน้าผู้หวังดีไปเสียนี่
ตัวอย่างเช่น เรามีลูกน้องสิบคน วันหนึ่งเราคิดจะตั้งคนหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้ช่วยของเรา เพื่อให้งานแผนกเราได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น เราเห็นแววแล้วว่าควรจะตั้งใคร ติดขัดตรงที่สิบคนนี่วัยวุฒิและคุณวุฒิใกล้เคียงกัน ตั้งขึ้นโดยไม่มีปี่หรือขลุ่ยบรรเลงล่วงหน้าละก็ ท่าทางจะเกิดความขัดแย้งในหน่วยงานแน่นอน
เพื่อแก้ปัญหาการไม่ยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน เราผู้เป็นหัวหน้าก็เลยตั้งใจว่า ขอเวลาสักเดือนสร้างคนที่เราหมายตาไว้ให้เพื่อน ๆ ยอมรับให้ได้ว่าเป็นคนเก่งคนขยันและเหมาะสมที่จะได้รับการโปรโมท โดยเพิ่มงานหรือเรียกใช้งานคนดังกล่าวมากกว่าคนอื่น ทำด้วยความปรารถนาดีแท้ ๆ แต่เป็นไปได้นะที่คนที่เราหวังดีกลับสงสัยว่า “หัวหน้าจงเกลียดจงชังอะไรเรานักหนา โยนงานให้เรามากมาย ทำไมไม่กระจายงานให้คนอื่นบ้าง”
นี่ถ้าเราเป็นคนที่เขาสัมผัสได้คือกล้าพูดกล้าคุยด้วย เมื่อเขาสงสัยเขาก็คงเดินมาหาเราและสอบถามแบบคนโง่ เอ๊ย…..คนไม่รู้เหตุผล “หัวหน้า ทำไมหมู่นี้ถึงมอบหมายงานให้ผมหนักหนากว่าคนอื่นละครับ” ทำให้เราสามารถอธิบายให้เขาฟังได้ว่า “ผมกำลังหาทางโปรโมทคุณอยู่ อยากให้คนอื่นเห็นว่าคุณเป็นคนทำงานเก่ง สู้งาน มอบงานอะไรคุณก็ทำได้ คุณอย่าถามอะไรเลย ผมส่งงานไปคุณก็รีบทำก็แล้วกัน ถ้าคุณทำได้สิ้นเดือนอาจมีข่าวดี”
ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ คนที่กำลังคิดว่าเจ้านายจงเกลียดจงชังหรือเราแกล้งให้ทำงานหนักก็ย่อมจะเข้าใจ แทนที่จะโกรธเคืองอาจจะเปลี่ยนเป็นขอบอกขอบใจมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้นและที่มั่นใจได้ก็คือเคารพนับถือลูกพี่หรือตัวเรามากขึ้นอย่างแน่นอน
เรื่องความข้องใจที่จะลงเอยแบบแฮบปี้เอ็นดิ้งอย่างที่ยกตัวอย่างมานี้ได้ คนที่เป็นนักบริหารต้องเป็นคนที่ลูกน้องไม่เกรงกลัวหรือเกรงบารมีมากจนไม่กล้าพูดคุยด้วย เห็นเป็นลูกพี่ที่สามารถถามไถ่เพื่อให้หายสงสัยข้องใจได้ นักบริหารแบบนี้แหละครับที่เขาเรียกว่าสัมผัสได้
ถ้าหัวหน้าเป็นคนหน้าตาบึ้งตึงไม่ยิ้มแย้ม ออกหน้ายักษ์ตลอดเวลา ใครถามอะไรก็มักออกอารมณ์ไม่พอใจแบบ “อะไรวะ แค่นี้ก็สงสัยด้วย” บางทีก็ตอบอย่างเสียไม่ได้และมีท่าทีไม่สบอารมณ์ทุกครั้งที่ถูกตั้งคำถาม บางครั้งโมโหโทโสตวาดหรือตะคอกใส่ มีความรู้สึกว่า “เห็นกูเป็นจำเลยหรือไง” หัวหน้าแบบนี้มีไม่น้อยนะครับ บนจอทีวีก็มีให้เห็น ลองสังเกตุดูซี
ถ้าเป็นคนอารมณ์เสียแบบนี้ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาก็คงไม่กล้าถาม ใครละครับที่อยากจะแกว่งปาก เอ๊ย…..แกว่งเท้าหาเสี้ยน อยู่ดีไม่ว่าดีถามให้โดนด่าไปทำไม เมื่อไม่ถามก็คงจะจินตนาการไปเองว่าคง อย่างนี้มั๊งหรืออย่างโน้นมั๊ง คิดไปในทางดีก็แล้วไป แล้วถ้าคิดไปในทางร้ายละ ก็น่าจะไม่ส่งผลดีต่อการเป็นหัวหน้าลูกน้องกันต่อไป จริงไหมครับ
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ก็คือ คนไทยทั่วไปนั้นมักทนความสงสัยไม่ใคร่ไหว มันอึดอัดแน่นคับอก ต้องหาทางคลายข้อสงสัยให้ได้ อาจใช้วิธีถามคนโน้นคนนี้ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นทำไมถึงเป็นอย่างนี้ บางทีไม่รู้จะถามใครที่อยู่ใกล้ชิด ก็อาจจะเขียนไปถามผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็เห็นประพฤติกันอยู่
คนถูกถามก็เหมือนกัน บางทีก็ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางกับเขาหรอก แต่พอมีคนถามก็อดจะตอบไม่ได้อาจไม่อยากให้คนถามผิดหวังก็ได้ ตอบแนะนำดี ๆ ก็แล้วไป แต่บางทีอาจพาเข้ารกเข้าพงทำให้เรื่องดี ๆ กลายเป็นเรื่องเลวร้ายเข้าใจผิดกันใหญ่โตก็เป็นไปได้
อย่างเรื่องที่สมมุติขึ้นมาข้างต้น เกิดลูกน้องเราที่ตั้งใจจะสร้างให้เป็นผู้ข่วย ไปถามใครไม่ถาม ดันไปถามคนที่มันนึกว่าเป็นเพื่อนกับเรา โดยไม่รู้ว่าไอ้หมอนั่นเป็นเพื่อนเราก็จริง ๆ แต่ลึก ๆ แล้วมันอิจฉาริษยาเราอยู่ เพราะเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันก็จริงแต่เราก้าวหน้าในการทำงานมากกว่ามัน ถามไปก็ได้เรื่องยาวทันที เพราะมันจ้องรอหาจังหวะอย่างนี้มานานแล้ว
พอโดนถามว่า “พี่ ๆ รู้ไหม ทำไมเพื่อนพี่เขาถึงเพิ่มงานผมมากกว่าคนอื่น” แทนที่มันจะตอบแบบตรงไปตรงมากลับย้อนถามให้ลูกน้องเราสดุ้ง “โดนเข้าแล้วหรือน้อง”
เจอคำตอบสะดุดหูอย่างนั้น คนถามก็ละล่ำละลักถามต่อไปทันที “หมายความว่าไงพี่” “ไม่มีอะไรหรอก เพื่อนกูก็ยังงี้แหละ มันจะแกล้งใครก็จะเริ่มด้วยการเพิ่มงาน ใครทำไม่ได้ มันก็จะรายงานว่า หย่อนสมรรถภาพ ถึงทำได้มันก็เพิ่มงานให้อีกจนกว่าจะทำไม่ได้ เสร็จมันทุกราย”
“แล้วผมทำยังไงดีละนี่” “กูแนะนำได้ แต่มึงจะกล้าทำหรือ”
“ทำอย่างไรหรือครับ” “หาทางฆ่ามันเสีย”
นี่ถ้าเกิดลูกน้องเราหลงเชื่อไอ้บ่างช่างยุเข้าก็ดูท่าว่าเราจะตกที่นั่งอันตราย แล้วคนเราโดยธรรมชาติมักจะหลงเชื่อเรื่องอะไรร้ายง่ายๆ ว่าไหมครับ
ทางที่ดีปรับปรุงบุคลิกภาพเราให้เป็นคนที่ลูกน้องกล้าพูดกล้าคุยกล้าถาม อย่ามีอารมณ์เวลาถูกลูกน้องซักไซร้ไล่เรียง ถ้าเราแสดงท่าทางเต็มอกเต็มใจอธิบายข้อสงสัยของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกครั้งที่ถูกถาม เวลาเขามีข้อข้องใจอะไรเขาก็จะมาพูดคุยกับเรา แทนที่จะปรึกษาหารือกับคนอื่นซึ่งอาจจะชักนำไปสู่ความเข้าใจผิดหรือเข้าใจผิดมากขึ้น
เพราะฉะนั้น วิธีป้องกันไม่ให้เกิด “ช่องว่าง”หรือความเข้าใจผิดที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีต่อคนเป็นเจ้านาย นักบริหารต้องพยายามทำตนเป็นคนที่ลูกน้อง “สัมผัส”ได้ คือกล้าพูดคุยซักถามเมื่อมีข้อสงสัยหรือข้องใจต่อพฤติกรรมหรือการปฏิบัติของหัวหน้า