สปสช.วางแนวทางช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาข้อเข่าเสื่อม


สปสช.ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เขตบริการสุขภาพ สธ.ออกแนวปฏิบัติสำหรับการให้บริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม เน้นประสิทธิภาพ คุณภาพผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น กระจายอำนาจคณะทำงานระดับเขตพิจารณาช่วยผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 55 ปีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนข้อเข่าให้ได้รับการผ่าตัด พร้อมเผยข้อมูลช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยบัตรทองผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเพิ่มขึ้น 23% ต่อปี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคข้อที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อจากอายุที่เพิ่มขึ้นและการใช้งานมากจนเกิดการสึกกร่อนของกระดูกผิวข้อ ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากจนไม่สามารถปฎิบัติกิจวัตรประจำวันได้ และได้รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ยาและใช้ยาแล้วไม่ได้ผล จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อเข่าเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมและข้อมูลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่เข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วงปี 2554-2557 พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษาในหน่วยบริการเพิ่มขึ้น จาก 241,135 ราย เป็น 274,133 ราย เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 8,250 ราย ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 6,353 รายในปี 2557 เป็น 8,690 ราย ในปี 2558 และ 10,736 รายในปี 2559 คิดเป็นอัตราเฉลี่ยเพิ่มร้อยละ 23 ต่อปี ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการเข้าถึงบริการแล้ว คุณภาพของบริการก็เป็นสิ่งจำเป็น สปสช.จึงร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางการให้บริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยเน้นที่ศักยภาพ ความพร้อมของหน่วยบริการ ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถานที่ อุปกรณ์ แนวทางและข้อบ่งชี้การให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในรายที่จำเป็นต้องได้รับบริการผ่าตัด รวมทั้งกำกับติดตามคุณภาพบริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมของหน่วยบริการ ออกเป็นประกาศ “แนวปฏิบัติสำหรับการให้บริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม พ.ศ.2559” เพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 นี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น พร้อมกระจายอำนาจให้พื้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยใช้กลไกคณะทำงานพิจารณาบริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมระดับเขต ซึ่งมีองค์ประกอบจากผู้แทนเขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข สปสช.เขต และผู้แทนศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในพื้นที่ เพื่อให้การบริการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นไปตามประกาศแนวทางปฏิบัติการให้บริการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม พ.ศ.2559 รวมถึงการพิจารณาผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 55 ปี โดยคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ รวมทั้งเน้นการส่งเสริมให้มีการดูแลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก เพื่อช่วยยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด “เป้าหมายสำคัญของการบริหารจัดการบริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมในปีงบประมาณ 2560 นี้ เพื่อมุ่งเน้นการเข้าถึงการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมระดับรุนแรง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” รักษาการเลขาธิการ สปสช.กล่าว