ติดปีก SMEs อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ก้าวสู่ตลาดโลก


เพราะ SMEs คือรากฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้ก้าวทันกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าอย่างรวดเร็ว จึงเป็นวาระสำคัญของภาครัฐที่จะเป็นส่วนช่วยยกระดับ SMEs ของไทยให้แข็งแกร่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแท้จริง

 ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดกิจกรรม “Fashion  Next 2017” หรือ กิจกรรมพัฒนารูปแบบและผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach 2016)   เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการตลาดของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอ เครื่องหนัง และอัญมณี สู่ระดับสากล อบรมเนื้อหาเข้มข้นจากวิทยากรผู้รู้จริง พร้อมกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกแบบเฉพาะกิจการ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านปฏิบัติ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์ สร้างยอดขายได้จริง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

คุณพจน์ พรรณเชษฐ์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า “Khun Jack” หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมที่ได้รับคำปรึกษาเชิงลึกจากโครงการ เผยว่า “เดิมทำธุรกิจในลักษณะของ OEM คือ เป็นโรงงานรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อส่งออกต่างประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มากว่า 22 ปี จากนั้นจึงเริ่มมีแบรนด์ของตนเอง ชูจุดขายเรื่องการใช้ผ้าทอของไทยผสานกับดีไซน์ทันสมัย ในชื่อแบรนด์ “Khun Jack” ที่เน้นสไตล์แคชชวลสวมใส่ได้ทุกวันเน้นกลุ่มอายุ 30 – 40 ปี และ แบรนด์ “Lazy Space” เสื้อผ้าสไตล์ Resort wear สวมใส่สบายเจาะกลุ่มสาวๆ อายุ 20-30 ปี แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นเมื่อต้องการสร้างแบรนด์ คือการปรับเปลี่ยนดีไซเนอร์หลายครั้ง ทำให้คอนเซปต์ของเสื้อผ้าไม่ชัดเจน กลายเป็นโจทย์สำคัญทางธุรกิจที่ต้องรีบปรับปรุง ดังนั้นจึงได้รับคำปรึกษาจากกูรูว่า การคัดเลือกดีไซเนอร์มาร่วมทีมนั้น จะต้องพิจารณาถึงอุปนิสัย และผลงานที่ผ่านมา ให้สอดคล้องกับทิศทางและสไตล์ของแบรนด์ด้วย รวมถึงเคล็ดลับง่ายๆ ในการตลาดให้โดนใจลูกค้าด้วยการหา Insight ของลูกค้า ตีความออกมาเป็นคีย์เวิร์ด เพื่อใช้ในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้า”

คุณเกศินี ทิพยเนตร เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับ “SABA” อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในกิจกรรมได้กล่าวว่า “แบรนด์ SABA เกิดขึ้นจากความชื่นชอบในเสน่ห์ของผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง และผ้าชนเผ่าต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ จากนั้นจึงนำมาประยุกต์สร้างสรรค์ให้ลูกค้าสามารถนำมาใช้งานในโอกาสต่างๆ โดยใช้เทคนิคการเย็บมือ และตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ อย่างประณีต ดังนั้นจึงเป็นงานแบบ Tailor-made ที่ต้องพัฒนาและสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าตลอดเวลา จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ามารับคำปรึกษาจาก “Fashion  Next 2017” หรือ กิจกรรมพัฒนารูปแบบและผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach 2016) เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการออกแบบ และการตลาด ซึ่งความรู้ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญนั้น ถือเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ในการทำงาน ได้เทคนิคการออกแบบใหม่ๆ เกิดความคิดที่แตกต่างออกไป แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแบรนด์ รวมทั้งได้วิธีทำให้เรารู้จักลูกค้าของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

ปิดท้ายด้วย คุณเปรมิกา จงสถิตย์วัฒนา เจ้าของแบรนด์รองเท้า Walker ที่แม้จะเป็นแบรนด์รองเท้าที่อยู่คู่คนไทยมาหลายยุคหลายสมัย และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่พฤติกรรมและความชื่นชอบของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งแบรนด์ก็ต้องการให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น กลายเป็นโจทย์สำคัญที่ส่งให้คุณเปรมิกาก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในโครงการ “Fashion Next 2017” โดยได้กล่าวว่า “ปัจจุบันแบรนด์รองเท้า Walker ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ ที่ชื่นชอบรองเท้าแตะที่ทำจากหนัง คุณภาพดีเยี่ยม แข็งแรงทนทาน สวมใส่ได้หลายโอกาส แต่ธุรกิจจะหยุดเพียงเท่านี้ไม่ได้ เราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ขยายธุรกิจออกไปได้ ดังนั้น จึงได้เข้ามาร่วมอบรมในโครงการ “Fashion Next 2017” พร้อมกับโจทย์ที่ต้องการพัฒนารองเท้าแตะสำหรับวัยรุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์ ซึ่งได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ การตลาด และการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้จบโครงการแล้วมีสินค้าใหม่ และต่อยอดธุรกิจได้อย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ คุณเปรมิกา ยังฝากคำแนะนำถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการพัฒนาสินค้าให้ก้าวทันความต้องการของตลาดว่า “ผู้ประกอบการจะต้องกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone จะต้องทุ่มเทกับงาน และพัฒนาตนเอง และสินค้าตลอดเวลา และควรจะเปิดโลกหาประสบการณ์ใหม่ๆ พบปะกับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ได้ ในท้ายที่สุดก็จะเป็นคอมมูนิตี้ของเรา ที่จะช่วยกันพัฒนาธุรกิจของเราได้ในระยะยาว”