ปิดกิจการอย่างถูกกฎหมายใน 5 ขั้นตอน ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด!!


คุณแอน วรรณประทีป ที่ปรึกษากฎหมายด้านธุรกิจ กล่าวว่า….

การจดทะเบียนพาณิชย์นั้น คือ หลักฐานทางการค้า ที่จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกิจการ ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ใบจดทะเบียนพาณิชย์ยื่นคู่กับใบ Statement ในการขอกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือหาเงินทุนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

สำหรับการจดทะเบียนพาณิชย์เปิด – ปิดกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัท มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันโดยเฉพาะด้านเอกสาร แต่ปัญหาที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) มักประสบ คือ เปิดกิจการเป็น ปิดกิจการไม่เป็น หากปิดกิจการแล้วแต่ผู้ประกอบการไม่ได้ไปยกเลิกการจดทะเบียนพาณิชย์ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ปิดกิจการ เสียค่าธรรมเนียม 20 บาท ที่สำคัญไปกว่านั้นอาจถูกกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง

หากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์ในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัท มีความประสงค์จะปิดกิจการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายควรเตรียมความพร้อม ดังนี้

1. ผู้ถือหุ้นมีมติพร้อมเพรียงที่จะปิดกิจการ

2. ทำการประกาศหนังสือพิมพ์ ว่าธุรกิจที่กำลังจะยกเลิกการจดทะเบียนพาณิชย์ได้ปิดกิจการ

3. ชำระหนี้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกิจการ

4. สรุปยอดบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมด หากมีเงินเหลือควรแบ่งให้หุ้นส่วนทั้งหมด ตามเงื่อนไขที่ตกลงก่อนเปิดกิจการ

5. เตรียมสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับจริง) กรุงเทพมหานครฯ ปริมณฑล ยื่นได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำหรับต่างจังหวัดยื่นได้ที่ สำนักงานธุรกิจการค้าประจำจังหวังหวัด หรือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่ที่ตั้งกิจการ

การจดทะเบียนพาณิชย์ถือเป็นกระบวนการในการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการทุกคนควรจะปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อกิจการของท่านตามนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อธุรกิจทุกกลุ่ม