สัญญาณฟื้น! ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มต่อเนื่อง 2 เดือน


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน ม.ค.60 ปรับเพิ่มทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2  จากปัจจัยมาตรการกระตุ้น ศก. การส่งออกเริ่มฟื้น และราคาพืชโดยเฉพาะยางพาราปรับดีขึ้น คาดจีดีพีประจำปีขยายในช่วง 3.5-4.0%  ภายใต้ความกังวลจากนโยบายกีดกันการค้าของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยประจำเดือน มกราคม 2560  จากประชาชนทั่วประเทศ 2,238 คน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อของผู้บริโภคเท่ากับ 74.5 เพิ่มจาก 73.7 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 52.7 เพิ่มจาก 52.1 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 83.5 เพิ่มจาก 82.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 63.1 เพิ่มจาก 62.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเท่ากับ 69.1 เพิ่มจาก 68.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 91.2 เพิ่มจาก 90.3

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี การส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะยางพาราปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรสูงขึ้น และการใช้จ่ายของผู้บริโภคดีขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน

ทั้งนี้  ดัชนีความเชื่อมั่น ที่ปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  เกิดจากผลกระทบเชิงลบของเหตุการณ์ภัยน้ำท่วมภาคใต้ และความกังวลใจเกี่ยวกับความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงเป็นขาขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ จะผ่อนคลายลงภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า โดยการจับจ่ายใช้สอยน่าจะคึกคักอย่างชัดเจน ในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป หากรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณกลางปีวงเงิน 190,000 ล้านบาท ได้ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้  จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.0% ได้

ส่วนปัจจัยเสี่ยงทีต้องจับตามอง มาจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้มีการทำตามที่หาเสียงไว้ ทั้งเรื่องกีดกันบางกลุ่มชนชาติและการกีดกันทางการค้า รวมไปถึงเรื่อง Brexit ที่อังกฤษจะเสนอแนวทางกฎหมาย หลังออกจากสหภาพยุโรป เข้าสู่การพิจารณาของสภาในช่วงเดือนมีนาคมนี้