ขุนสาวไทยมีลูกเพื่อชาติ !! โปรยวิตามินวิเศษ


นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไป ผู้หญิงไทยมีการศึกษาสูงขึ้น คนรุ่นใหม่มีค่านิยมที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่งงานน้อยและช้าลง ทำให้การเพิ่มประชากรลดลง จากร้อยละ 2.7 ในพ.ศ. 2513 เหลือร้อยละ 0.4 ในพ.ศ. 2558 ส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยลดลง นอกจากนี้ ผลการวิจัยของในปี 2558 ยังพบปัญหาต่างๆ คือ
– อัตราการตายมารดาอยู่ที่ 20 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการตกเลือดหลังคลอด
– หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กร้อยละ 39
– ทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 10.4
– ทารกเสียชีวิตจากภาวะความพิการแต่กำเนิดร้อยละ 7
– พบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนมีเพียงร้อยละ 23.9
– เด็กปฐมวัยขาดสารอาหารร้อยละ 16.8
– เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 27.3
– และพบหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะโลหิตจางร้อยละ 29.8
ทำให้โดยรวมประเทศไทยเผชิญกับปัญหา “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ”

ดังนั้น “รัฐบาลจึงสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดเพิ่มขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อเพียงพอสำหรับทดแทนประชากร และการเกิดทุกรายที่มีการวางแผน มีความตั้งใจและมีความพร้อมในทุกด้าน นำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ”

โดยนโยบายฉบับนี้เน้น 3 เรื่อง ได้แก่
1. เพิ่มจำนวนการเกิด เพื่อทดแทนจำนวนประชากร โดยส่งเสริมการเกิดในหญิงอายุ 20-34 ปีที่มีความพร้อม และตั้งใจมีครรภ์
2. การเกิดทุกรายมีความพร้อม มีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตร
3. ทารกแรกเกิดแข็งแรง พร้อมเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง

และมีมาตรการสำคัญในการดำเนินงาน 7 ข้อ ดังนี้
1. พัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ระยะก่อนสมรส ระยะก่อนมีบุตร ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
2. จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยมีลูก
3. ปรับปรุงแก้ไขสิทธิการลาคลอดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรส ส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตร
4. จัดสวัสดิการเรื่องที่อยู่อาศัย เอื้อให้คู่สมรสมีที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน มีความสะดวก เพียงพอต่อการมีบุตร
5. กำหนดมาตรการทางภาษีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตร
6. ขยายจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กคุณภาพเพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระในการดูแลบุตรระหว่างทำงาน
7. ปรับปรุงนโยบายเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น สร้างสมดุลการทำงานและชีวิตครอบครัว

เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและเป็นไปตามมติสมัชชาอนามัยโลกปี 2012 ที่ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกลดภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์ร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2025 กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดกิจกรรมเสริมธาตุเหล็กและโฟลิกหรือวิตามินแสนวิเศษ ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปีทุกคน ที่ตั้งใจ พร้อมและวางแผนจะมีลูก กินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างน้อย 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เนื่องจากจะช่วยให้เด็กมีโอกาสผิดปกติน้อยลงอย่างมากและมีความแข็งแรงสมวัย พร้อมให้คำแนะนำการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์และหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถเข้าไปรับบริการโฟลิกและธาตุเหล้กได้ที่หน่วยบริการสังกัดสธ.ทั่วประเทศได้ฟรี โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีการแจกกล่องวิตามินแสนวิเศษ “สาวไทยแก้มแดงพัฒนาสมองและการเรียนรู้ด้วยเหล็กและโฟลิก” พร้อมแผ่นพับความรู้ ให้กับคู่สมรสที่มาจดทะเบียนพร้อมกันทั่วประเทศ

และยังได้มีการผลิตยาตามมาตรฐานสากล ในราคาที่สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น 3 รายการ ประกอบด้วย
1. ยาน้ำแขวนตะกอนธาตุเหล็กสำหรับเด็ก กินสัปดาห์ละครั้งใช้ป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กโดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย
2. ยาเม็ดวิตามินรวมธาตุเหล็ก ไอโอดีน และกรดโฟลิก กินทุกวันตลอดการตั้งครรภ์ ป้องกันการขาดสารไอโอดีน ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ และพัฒนาการเด็ก
(ซึ่งยาทั้ง 2 รายการนี้ พร้อมสำหรับกระจายสู่กลุ่มเป้าหมาย)
3. ยาเม็ดวิตามินรวมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ กินสัปดาห์ละ1 ครั้ง ใช้ป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (สามารถผลิตและกระจายได้ในเดือนสิงหาคม 2560 นี้)

ทั้งนี้ด้านดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ยังได้กล่าวอีกว่า การสร้างเสริมสุขภาพให้กับกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์มีความจำเป็น สสส. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมให้กินผัก การออกกำลังกายที่เหมาะสม การให้วัคซีน ตลอดจนการเสริมสารอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะโฟเลตและธาตุเหล็ก ตลอดจนถึงการเตรียมตัวก่อนแต่งงาน โดยสนับสนุนการพัฒนาชุดความรู้เรื่อง การป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยวิตามินโฟเลต และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในพื้นที่นำร่อง 22 จังหวัด พร้อมกับประสานความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงานครั้งนี้