มีด้วย !! โรคแพ้โปรตีนเบเกอรี่


ท้องอืด ดูจะเป็นโรคธรรมดาและปกติที่หลายคนพบเจอกับตัวเองและคนใกล้ชิดบ่อย ๆ โดยมักจะคิดว่า “ทานเยอะอาหารไม่ย่อย ทำให้ปวดท้อง ท้องอืด” แต่คุณรู้หรือไม่ว่ามีโรคแพ้โปรตีนกลูเตนในเบเกอรี่ด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษามีผลทำให้ลำไส้เล็กถูกทำลายได้ !!

โดยพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยมบริโภคอาหารประเภท เบเกอรี่ อาทิ เค้ก พาย ขนมปัง ข้าวโอ๊ต ซีเรียล ในอาหารจำพวกแป้งเหล่านี้จะมีโปรตีนที่เรียกว่า กลูเตน (Gluten) ที่ช่วยทำให้อาหารเหนียว นุ่ม และยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่รับประทานมังสวิรัติ และอาหารเจ แต่สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

การแพ้กลูเตนอาจก่อให้เกิดโรค ที่เรียกว่า โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โดยกลูเตนจะทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบ จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง (Autoimmune Disease) โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสร้าง แอนติบอดี เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อบุเซลล์ที่ลำไส้เล็ก (microvilli) ส่งผลให้เกิดการอักเสบและลำไส้เล็กฝ่อในที่สุด ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การดูดซึมอาหาร เกลือแร่ วิตามิน ได้ไม่เพียงพอ

อาการของโรคคือ

– ท้องอืด

– ท้องเสียเรื้อรัง

– ปวดท้องที่เกิดจากก๊าซในกระเพาะอาหาร

– โลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากดูดกลืนโฟลิค และวิตามิน B12 ได้ไม่เพียงพอ

– อ่อนเพลีย

– น้ำหนักตัวลดลง

– กระดูกพรุน

– ระบบประสาททำงานผิดปกติ

– ผิวหนังเป็นผื่นบริเวณข้อศอกและเข่า

– ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ

– โกธรง่าย

– ซึมง่าย

– ในกรณีที่เกิดในเด็กจะทำให้เด็กโตช้า ตัวเล็กกว่าเด็กปกติทั่วไป

บางรายจะไม่มีอาการเลยก็ได้แต่โรคดังกล่าวยังคงมีการทำลายลำไส้เล็กอย่างต่อเนื่อง อาการจะพบได้มากในคนผิวขาว เป็นได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากสุดในกลุ่มช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยหากมีพ่อ แม่ พี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสที่คนอื่นๆในครอบครัวจะเป็นโรคนี้ด้วยถึง 10%  และที่น่าเป็นห่วงคือ อาการจะไม่ได้ปรากฏในทันที ผู้บริโภคจึงไม่ค่อยรู้ตัว แต่อาการมักจะแสดงออกมาหลังรับประทานกลูเตนโปรตีนนานประมาณ 5-10 ปี หากเรากินมากๆ ก็อาจจะเกิดปัญหาได้

จึงควรป้องกันเอาไว้ก่อนโดย “ขนมปังสามารถกินได้ แต่ควรกินน้อยๆ และควรบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมากกว่า เนื่องจากการศึกษาวิจัยเรื่องข้าวไทย ไม่พบว่ามีสารกลูเตนโปรตีนเป็นส่วนประกอบ แต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง”

สำหรับการวินิจฉัยโรคเซลิแอคนั้นทำได้โดย

– ตรวจร่างกาย

– ตรวจเลือด

– ส่องกล้อง

– ตัดชิ้นเนื้อในลำไส้เล็กเพื่อตรวจยืนยัน

เนื่องจากโรคเซลิแอค มีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ ของระบบลำไส้ ทำให้แพทย์รักษาตามอาการ คนไข้จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอค หากไม่ได้รับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั่วไป

ท้ายสุดแล้วก็ลองสังเกตตัวเองดูนะคะ แล้วถ้าพบว่าเข้าข่ายแพ้กลูเตน ก็ควรปรึกษาแพทย์พร้อมประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับช่องท้อง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และนอกจากนี้ควรได้รับการแนะนำจากนักโภชนาการที่มีประสบการณ์โดยตรงในการจัดอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคโรคเซลิแอค และควรอ่านฉลากอย่างระมัดระวังก่อนที่จะบริโภคอาหารทุกชนิด