ปั้นเมืองนวัตกรรมอาหาร ช่วย SME ลดต้นทุนงานวิจัย


ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ CEO เมืองนวัตกรรมอาหารและรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ SME ว่า

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลกซึ่งอยู่ในอันดับที่ 14-15 ของโลกมาทุกปี แต่ในปัจจุบันนี้ที่ SME ด้านอาหารเผชิญอยู่คือ ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้การแข่งขันยากขึ้น เช่น สังคมผู้สูงอายุ วิถีชีวิตของคนในยุคนี้ โลกโซเชียล เป็นต้น จึงเกิดโจทย์ด้านนี้ขึ้นในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเพื่อพัฒนาอาหารของไทย โดยเมืองนวัตกรรมอาหารนี้ อยู่ใน 1 อุตสาหกรรมเป้าหมายอนาคต (ซุปเปอร์คลัสเตอร์)ที่ภาครัฐผลักดันในช่วงปี 59 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ การทำงานที่ให้ SME อาหารได้เห็นภาพคือ ใช้พื้นที่แห่งแรกนี้ ที่มีจำนวน 200 ไร่ หรือ 1.2 แสนตารางเมตร  จัดทำขึ้นเพื่อให้เอกชนได้ใช้และได้ร่วมพัฒนางานวิจัยกับนักวิจัยภาครัฐ ซึ่งรวมถึง SME และ Start Up ด้วย เพื่อให้เป็นการลดต้นทุนแก่ SME และอาคารเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาความลับงานวิจัยของเอกชน โดยประเภทของพื้นที่ในเมืองนวัตกรรมอาหารแห่งแรกนี้ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์เบื้องต้นรองรับ อาทิ มีเฟอร์นิเจอร์ มีน้ำไฟ ตู้ดูดควัน เป็นต้น 2.พื้นที่ว่างเปล่า ที่มีท่าน้ำท่อแก๊ส ชนิดต่างๆ แต่เป็นพื้นคอนกรีตที่สะดวกต่อการฆ่าเชื้อ เป็นต้น และ 3.พื้นที่โซนกลาง ที่ไมไดให้ใครจับจองในการเช่า แต่มีอุปกรณ์ราคาสูงเพื่อให้ทุกคนได้มาใช้อุปกรณ์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่พิเศษ ที่เป็นพื้นที่ดินเปล่า 10 กว่าไร่ ให้เอกชนที่สนใจอยากสร้างอาคารด้วยการเช่าที่ดินเปล่าระยะยาว ส่วนราคาเช่าในประเภทที่ 2 คิดตารางเมตรละ 450-500 บาทต่อเดือน ประเภทที่ 1 ตารางเมตรละ 850 ต่อเดือน โดย SME สามารถเลือกเป็นตารางเมตรในขนาดที่ตนเองต้องการได้ ส่วนเงินทุนในการพัฒนานั้น มีต้นทุนที่สูงและใช้เวลาในการศึกษานาน ดังนั้น ต้นทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยดร.อัครวิทย์ ได้แนะนำช่องทางการหาทุนดังนี้คือ ภาครัฐมีโครงการที่มีแหล่งเงินทุนร่วมวิจัย50% , สามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา 300% (ผู้ประกอบการลงทุนการวิจัยเอง) , สกว.มีเม็ดเงินในการสนับสนุนการวิจัยแก่ SME , ขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ และการกู้กับสถาบันการเงินทุกสถาบัน ในการร่วมมือกับเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยจะได้รับดอกเบี้ยต่ำ ส่วนดอกเบี้ยส่วนต่างกระทวงวิทย์จะเป็นผู้รับผิดชอบดอกเบี้ย รวมถึงประเด็นการหานักวิจัยของ SME นั้น ทางเมืองนวัตกรรมอาหารมีโครงการทาเล้นโมบิวลิตี้ คือการเคลื่อนย้ายนักวิจัยภาครัฐทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ทางราชการของนักวิจัยภาครัฐ และจะหานักวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ SME ต้องการจริงๆ ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเปิดเมืองนวัตกรรมอาหารไปสู่ภูมิภาคอื่นๆด้วย

นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า นอกจากโรงพยาบาลจะเป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ยังเพิ่มบทบาทด้านสมุนไพรด้วยการผนวกกับแผนปัจจุบัน จนนำมาสู่การพัฒนาสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องดื่ม , คอสเมติก , ยา รวมกันทั้งสิ้น 145 ผลิตภัณฑ์ และมีพื้นที่ปลูกด้านสมุนไพร 21 จังหวัด รวมถึงยังมีการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะจัดสร้างศูนย์บริการด้านสุขภาพเพื่อผู้สูงวัย นอกจากนี้การใช้ยาแผนปัจจุบันที่คนไทยใช้นับแสนล้านบาทต่อปี แต่หากไทยสามารถนำสมุนไพรมาร่วมใช้ด้วยจะสามารถช่วยลดต้นทุน และส่งผลดีตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรเกิดรายรายได้แก่ชุมชน ซึ่งเล็งเห็นว่าการเกิดเมืองนวัตกรรมอาหารแห่งนี้จะสามารถเข้ามาช่วยด้านสมุนไพรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ปราจีนบุรี ทางโรงพยาบาลพร้อมที่จะให้คำแนะนำ SME ด้านสมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีเมืองสมุนไพรระดับชาติในแต่ละภูมิภาค 4 แห่ง รวมถึงเปิดเผยเทรนด์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะชื่นชอบสิ่งที่จับต้องได้ เช่น การนวด สปา ลูกประคบ เป็นต้น และทางโรงพยาบาลยังมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยฝรั่งเศส ด้วยการพัฒนาบัวไผ่ข้าว สกัดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นการเจาะตลาดยุโรป