มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือและเปิดตัวโครงการ “Thailand Eye Care…คืนดวงตาให้กับผู้พิการทางสายตา” เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการทำ “ธุรกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) และการเป็น “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” (Social Entrepreneur) สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสังคม สร้างรายได้จากการทำธุรกิจและแบ่งสรรกลับคืนสู่สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการทางสายตา เมื่อวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้อง SEM1 อาคาร 9 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท
รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (คนกลาง) กล่าวถึงโครงการนี้ ว่า “โครงการ Thailand Eye Care นี้จะเป็นโครงการใหญ่ที่จะประกอบไปด้วยหลายกิจกรรมที่พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยการร่วมมือกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการทางสายตา ได้แก่ กิจกรรมนำร่อง Social Enterprise ให้กลุ่มศิลปินคนตาบอดได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ภายใต้แบรนด์ .ONCE ของนักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) ที่พัฒนาสินค้าเครื่องแต่งกายเพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคนิคพิเศษทำให้อักษรเบลล์นูนขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งบ่งบอกถึงสีของวัตถุทำให้ผู้พิการทางสายตา สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้นในการเลือกสี และผู้ซื้อสินค้านี้จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้ผ่านโครงการ .ONCE… ให้ด้วยกัน โดยซื้อสินค้า 1 ชิ้น จะแบ่งปันสินค้าชนิดเดียวกันสู่ผู้พิการทางสายตาอีก 1 ชิ้น และอีกหนึ่งกิจกรรมจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สินค้าต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการทางสายตา ได้แก่ แว่นตา 3D สำหรับคนตาบอด โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะนำไปให้ผู้พิการทางสายตาได้ทดลองใช้และเมื่อการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เสร็จสิ้น ยังสามารถที่จะส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนผ่าน Share Funding เพื่อสร้างตลาดและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน”
ด้าน นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย (คนใส่แว่น) กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “การร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดโครงการ Thailand Eye Care นี้ เป็นเสมือนการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายรัฐในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการทางสายตาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เพราะจากเดิมคนตาบอดมักจะถูกคน ในสังคมมองว่าเป็นวณิพกพเนจร ขอทาน อดอยาก ไม่มีรายได้ ทางสมาคมฯ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ผ่านโครงการจากถนนสู่ดาว (From Street to Stars) สร้างกลุ่มศิลปินนักดนตรีคนตาบอดขึ้นมาเพื่อให้สามารถหารายได้จากการเล่นดนตรี ทำให้มีอาชีพ มีงานทำ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างทัดเทียมคนในสังคม สอดคล้องกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่จัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มนักดนตรีของสมาคมฯ ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของนักศึกษา และผู้ที่ซื้อสินค้าก็ได้ร่วมแบ่งปันให้กับผู้พิการทางสายตาด้วย”
โครงการ Thailand Eye Care นี้ จึงถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดในการทำธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจและกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายๆ ประเทศ เพราะนอกจากจะได้ยอดกำไรที่เป็นตัวเงินแล้ว ผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังมีกำไรจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นได้อีกด้วย