โอกาสแรงงานไทย ไม่ตกงาน !


คุณวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ SME ว่า

ปัจจุบัน วัยแรงงานอยู่ที่ 18-60 ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีประมาณ 38 ล้านคน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.แรงงานในระบบ คือ แรงงานที่มีนายจ้างจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทน แรงงานจะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 2.แรงงานนอกระบบ คือ อาชีพทั่วไป รวมถึงเกษตรกร แต่สามารถเข้าสู่ประกันสังคมได้ ซึ่งนอกจากกรมการจัดหางานจะมีบทบาทด้านการวางแผนให้ 38 ล้านคนนั้นมีงานทำหรือส่งเสริมอาชีพและบทบาทเชื่อมโยงSMEกับแรงงานให้พบกันแล้ว กรมยังเพิ่มบทบาทคือ 1.ประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการส่งข่าวให้คนไทยทุกคนรับรู้ทิศทางตามนโยบายของภาครัฐตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 2.วางแผนให้กลุ่มผู้สูงวัยมีงานทำ ในกลุ่มอายุ 60 ขึ้นไป อาทิ ประกอบอาชีพส่วนตัว,หางานที่ใช้แรงงานเบา,เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น  3.พัฒนาอาชีพให้แรงงานที่ไม่อยากเป็นแรงงานในระบบ ด้วยการจัดส่งไปยังกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ส่วนปัญหาแรงงานไทยที่พบอยู่ทุกวันนี้ คือ ค่านิยมของไทยสนใจเรียนระดับปริญญาตรี แต่ไม่ได้ดูสาขาวิชาที่เรียน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าตลาดไมได้ต้องการสาขาวิชาที่เด็กไทยจบมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดได้เด็กที่ไม่มีความรู้พื้นฐานของสายงานที่ทำ กรมจึงได้ประสานงานไปยังโรงเรียนแต่ละจังหวัดให้แนะแนวเด็กๆตั้งแต่ ม.3 เพื่อให้สร้างค่านิยมใหม่ให้เด็กเห็นความสำคัญของสายอาชีพมากขึ้น และทุกวันนี้ไทยต้องดูแลแรงงานต่างด้าวจำนวน 3 ล้านรายจาก 3 ชาติที่อยู่ใกล้ไทย เนื่องจากคนไทยไม่นิยมทำงาน 3 อย่าง (งาน 3D) คือ งานอันตราย งานยาก และงานสกปรก ทั้งนี้ คำว่าตกงานอาจจะเป็นคำรุนแรงเกินไป ซึ่งภาพในวันนี้ คือ อัตราว่างงานไทย +-1% เท่านั้น โดยไทยเป็นชาติต้นที่อัตราว่างงานน้อยมาก ซึ่งเรามีตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือไทยใช้แรงงานจากต่างชาติถึง 3 ล้านคน ซึ่งกรมเองได้นิ่งนอนใจเพราะต้องคอยเฝ้าระวังอยู่เสมอ โดยเฉพาะการให้แรงงานไทยเป็นแรงงาน 4.0

ส่วนชาติที่คนไทยยังนิยมไปทำงานคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ อิสราเอล ด้วยปัจจัยที่ดึงดูดคือ 1.ผลตอบแทนสูง 2.พบสิ่งแปลกใหม่ 3.ค่านิยม ซึ่งท่านได้แนะนำว่าให้คำนวณต้นทุนว่าคุ้มหรือไม่ อาทิ ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาลในประเทศที่ต้องการไปทำงาน ค่าศึกษาค่าเลี้ยงดูในเมืองไทยต้องแต่เกิดมาทั้งจากครอบครัวและรัฐบาล เป็นต้น

นอกจากนี้ การไปทำงานต่างประเทศไปได้ 2 วิธีหลักๆคือ รัฐจัดส่งและบริษัทจัดหางานจัดส่ง แต่ยังมีวิธีอื่นๆอีกที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ นายจ้างไทยพาไป (นักลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น พาไปได้) และลูกจ้างเดินทางเอง แต่ต้องมีสัญญา และกรมจะให้ท่านทูตแต่ละประเทศปลายทางดูแลลูกจ้างให้ และยังมีการแนะนำถึงวิธีป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวงโดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ต ให้นำข้อมูลทั้งหมดโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1694 ซึ่งกรมเองจะมีการควบคุมโฆษณาเกินจริง อาทิ ตำแหน่งงานระบุชัดเจน ค่าตอบแทนชัดเจน เป็นต้น