นักลงทุนต่างชาติถือครองสิทธิ์ที่ดินใน“ไทย”ได้ถ้า…..


คุณแอน วรรณประที ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย SME  และ หุ้นส่วน บริษัท แอดลอว์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด  กล่าวว่า

การลงทุนธุรกิจฯในประเทศไทย ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ล้วนต้องอาศัยปัจจัยด้านเงินทุนเป็นหลัก แน่นอนว่าหลายธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงิน แต่ไม่มีทุนในการต่อยอด เจ้าของธุรกิจจึงต้องใช้วิธีการหาคู่ค้าธุรกิจ(ชาวต่างชาติ) มาร่วมลงทุนธุรกิจในบ้านเรา เพื่อให้เกิดการเติบโตและสามารถต่อยอดให้ตรงกับเป้าหมายที่ธุรกิจวางแผนไว้  สำหรับการครอบครองหุ้นในธุรกิจชาวต่างชาติร้อยละ 49 % ชาวไทย 51 % (ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุดสำหรับการถือหุ้นระหว่างชาวต่างชาติกับชาวไทย  คือเรื่องผลประโยชน์ที่มากกว่าการแบ่งเปอร์เซ็นในธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น “ชาวต่างชาติอ้างว่า “ ต้องนำเงินจำนวนมากมาลงทุนธุรกิจในประเทศไทย แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับ แค่เปอร์เซ็นหุ้นเองหรือ ? ” ซึ่งชาวต่างชาติที่เป็นนักลงทุนบางรายต้องการครอบครองที่ดิน กรณีนี้จึงทำให้ชาวต่างชาติและชาวไทยตกลงผลประโยชน์กันไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ที่เกิดคำถามเช่นเดียวกันว่า ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้จริงหรือ ? ข้อเท็จจริงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1. โดยปกติแล้วชาวต่างชาติไม่มีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินในประเทศไทย แต่มีข้อยกเว้น หากคนต่างด้าวที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ ในกรณีนำเงินทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย ,  พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือในกิจการที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) โดยตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดต้องนำเงินเข้ามาลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งชาวต่างชาติจะมีสิทธิ์ถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ และที่ดินผืนนั้นต้องอยู่ในกรุงเทพมหานครฯ , พัทยา ฯลฯ ตามที่กฎหมายได้มีการกำหนดขอบเขตไว้ให้ ไม่ใช่ทุกที่

2. ชาวต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคล สามารถถือครองที่ดินซึ่งลักษณะของกฎเกณฑ์ใกล้เคียงกับชาวต่างด้าวที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่หากชาวต่างด้าวที่เข้ามาทำธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมต่างๆที่กฎหมายไทยยอมรับ สามารถถือครองสิทธิ์ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 10 ไร่

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะเห็นได้ว่าชาวต่างชาติไม่มีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินในประเทศไทย…แต่มีข้อยกเว้นบางประการ เพราะฉะนั้นก่อนร่วมทุนกับชาวต่างชาติควรวางแผนอย่างรอบคอบโดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ของตัวเราและโอกาสที่มาจากการขยายธุรกิจตามที่วางเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ