เทคนิคสร้างแบรนด์เพื่อ SME ทุนน้อย


คุณเตฌิณ โสมคำ MD บริษัท Ro2 จำกัด (โค้ชโรเจอร์) เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ SME ว่า ตนเองได้สั่งสมประสบการณ์ การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์จากนิวยอร์กหลายปี หลังจากที่ตนเองเป็นเอเจนซี่จนอิ่มตัวในระดับหนึ่งและบวกกับโลกเริ่มมีอินเตอร์เน็ตเข้ามา ตั้งแต่ยุค เพิร์ส MSN สไกฟ์ HI5 เป็นต้น ทำให้มีจุดพลิกผันหลายจุดจนนำมาสู่การเป็นโค้ชยุคแรกๆของเมืองไทยในการให้ความรู้แก่ SME เนื่องจากยุคที่เฟซบุ๊กเริ่มเข้ามาแต่คนไทยใช้เฟซบุ๊กเพื่อการเล่นเกม แต่โค้ชโรเจอร์กลับมองว่า เฟซบุ๊กจะเป็นช่องทางการค้าใหม่ของ SME

โค้ชโรเจอร์ยังเผยอีกว่า การสร้างแบรนด์คือการสร้าง “ภาพจำ” แก่ลูกค้า , การสร้างแบรนด์ไม่ใช่การหาลูกค้าใหม่ , แบรนด์คือการสร้างการซื้อซ้ำ , การทำแบรนด์ไม่ใช่การสร้างยอดขาย ,การสื่อสารในหนึ่งประโยคเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสร้างแบรนด์ อาทิ โรตีสายไหมร้านสุดท้าย ทั้งๆที่เราไม่รู้ว่าร้านโรตีสายไหมที่ตั้งตามถนนเส้นอยุธยาจะมีอีกหรือไม่ แต่ที่รู้ๆคือรถที่ต้องการซื้อโรตีสายไหม จะต้องซื้อที่ร้าน ที่สื่อสารว่า โรตีสายไหมร้านสุดท้าย , แบรนด์คือการมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า เป็นต้น ส่วน SME ขนาดเล็กมีหลายๆแบรนด์ที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีแบรนด์ อาทิ หมูทอดเจ๊จง โดยเจ๊จงเองมีแบรนด์ที่ดีตั้งแต่ทำร้านข้าวที่เน้นไปที่หมูทอดของตนเอง คือ การเป็นคนใจดีมีอัธยาศัยดี และเจ๊จงยังได้กำหนดให้บุคลากรของตนเองต้องมีบุคลิกเหมือนตนเอง จึงทำให้หมูทอดเจ๊จงเองประสบความสำเร็จและเตรียมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หรือร้านกาแฟ สตาร์บั๊คเองก็ไม่ได้นำกาแฟมาขาย แต่ขายความเป็นสถานที่ที่สามนอกจากบ้านและที่ทำงาน ซึ่งกาแฟเป็นแค่องค์ประกอบๆหนึ่งเท่านั้น หรือกระทั่งการซื้อสว่าน หากคนทั่วไปจะนึกถึงว่า ต้องการอุปกรณ์เจาะผนัง แต่หารู้ไหมว่า แท้จริงแล้วผู้บริโภคต้องการรู จึงจำเป็นต้องซื้อสว่าน เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการที่เป็นโค้ชแก่ SME คำถามง่ายๆที่ต้องถาม SME คือ เราคือใคร ส่วนมาก SME ไม่สามารถตอบได้เลย นี่จึงเป็นปัญหาหลักของ SME ในยุคนี้ เนื่องจากมีการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น SME ต้องทราบว่าเราจะเป็นใครให้แก่ใคร โดยให้แก่ใครนั้นต้องระบุบให้ชัดเจนคือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของตนเอง ไม่ใช่หว่านไปทั่ว รวมไปถึง กรณีที่ขายสินค้าเหมือนกัน ต้องกำหนดจุดเด่นให้ได้ เช่น ขายอาหาร แต่ลูกค้าถามว่ามีอะไรอร่อย แต่กลับตอบว่าอร่อยทุกอย่าง แบบนี้ถือว่าไม่มีจุดเด่นของร้านอาหาร หรือจะเป็นเสื้อผ้าที่มีรูปแบบคล้ายกัน ต้องสร้างลูกเล่นให้มีความเด่นชัด เช่น เพิ่มความเป็นสตรีท เพิ่มความเป็นเกาหลี เป็นต้น ที่ผ่านมาเจอประสบการณ์จาก SME ที่หลากหลาย เช่น ทำโรงเรียนสอนภาษาจีน แต่เกลียดภาษาจีนเพราะถูกล้อเลียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ทั้งนี้ การสร้างแบรนด์เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล อาจจะทำได้แค่ปรับทัศนคติเท่านั้น

รวมถึง โค้ชโรเจอร์ยังได้มีการทำหลักสูตรของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหลักสูตรฟรี กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ต้องวางเงินค้ำประกันหมื่นกว่าบาท หากเรียนไม่ครบตามที่กำหนดก็จะไม่ได้รับเงินค้ำประกัน หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่สอน SME ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย โดยเปิดมาแล้ว 5 ปี แต่ละปีรับ 3 รุ่น แต่รับจำนวนจำกัด และล่าสุดในปี 2016 ได้เปิดอีกหนึ่งหลักสูตรเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นหลักสูตรฟรี แต่รับจำนวนจำกัด โดยเมื่อปีที่ผ่านมา SME สมัครเรียน 4,000 ราย แต่ผ่านเข้ารับการอบรมในหลักสูตรแค่ 30 ราย เนื่องจากวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของเมืองไทย อาทิ ครีเอทีฟคนไทยที่ได้รับรางวัลที่เมืองคานส์ที่ทำโฆษณาที่ดีที่สุดในรอบ 100 ปี เป็นต้น ดังนั้น คอร์สนี้จึงมีราคาสูงกระบวนการคัดเลือก SME จึงต้องคัดเลือกให้คุ้มค่า คือ เลือกจากวีดีโอ 2-3 รอบ ตามมาด้วยเรียกสัมภาษณ์ แต่ไม่ใช่ผู้ที่ถูกเรียกมาสัมภาษณ์จะได้เรียนทุกคน เหตุเพราะ ต้องการทราบถึงเวลาของผู้ประกอบการที่สนใจว่ามีมากพอในการเรียนหรือไม่ มีผู้ช่วยบริหารหรือไม่ มีทุนมากพอที่จะสร้างแบรนด์หรือไม่ รวมถึงยังมีการอบรมส่วนตัวกับโค้ชโรเจอร์ และยังมีหลักสูตรที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม คือหลักสูตร DStart Up ติดตามหลักสูตรเหล่านี้ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก : การตลาดออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊ค