กรมควบคุมโรค เตือนเล่นน้ำทะเลช่วงฝนตก ระวังแมงกะพรุนมีพิษ


นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนมักจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดจำนวนมาก ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ โดยแมงกะพรุนที่พบทั่วไปในทะเลไทยมีหลายชนิด แต่แมงกะพรุนที่เป็นอันตรายและมีพิษรุนแรงคือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องแล้ว จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2542-2558 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 1,000 ราย พบอาการหนักจนถึงหมดสติ 18 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย ทุกรายเกิดจากแมงกะพรุนกล่อง
ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเหตุการณ์พบผู้ได้รับบาดเจ็บสงสัยสัมผัสแมงกะพรุนพิษ 3 ราย ในจังหวัดกระบี่ โดยผู้ป่วย 2 ราย บาดเจ็บเล็กน้อยที่มือ ส่วนอีก 1 ราย มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณขาและแขน แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ปวดจุกแน่นท้อง แต่ยังรู้สึกตัวดี จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 คน ได้ลงเล่นน้ำทะเลขณะมีฝนตกโปรยๆ หลังเล่นน้ำพบว่ามีบาดแผลลักษณะโดนแมงกะพรุน จึงไปรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยน้ำส้มสายชูจากเจ้าหน้าที่และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
สำหรับการป้องกันแมงกะพรุน ขอให้ประชาชนระมัดระวังการเล่นน้ำทะเลในขณะฝนตกหรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ สำหรับขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่สงสัยถูกแมงกะพรุน ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล ที่เบอร์ 1669 แต่ห้ามทิ้งให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง เพราะอาจหมดสติภายในเวลาไม่กี่นาที ควรให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน ห้ามขัดถู หรือราดน้ำจืดบริเวณที่ถูกแต่ให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่มีร่องรอยจากการสัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วนานอย่างน้อย 30 วินาที กรณีผู้ป่วยหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจทันที โดยไม่ต้องรอราดน้ำส้มสายชู