ตรวจสอบให้ดี!! SMEs รายใดเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์


คุณแอน วรรณประทีป นักกฎหมายธุรกิจ ประจำรายการ SME Smart Service กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ (Software) หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นส่วนสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ หากขาดซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถทำงานได้ ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมตระกูล Microsoft , Notepad , Google Chrome หรือแม้กระทั่งซอฟต์แวร์ฝีมือคนไทย ที่คิดค้นออกมา สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมจำหน่ายสินค้าหน้าร้าน โปรแกรมการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจและพนักงาน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์มีประโยชน์ต่อทุกอย่างอณูบนโลกใบนี้ “ มีคุณย่อมมีโทษ ” หากใช้งานในทางที่ผิดก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะด้านกฎหมายเนื่องจากซอฟต์แวร์มีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์คุ้มครอง ได้แก่

1.การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง : คือ การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่โปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่สาธารณชน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม : คือ การนำต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวออกให้เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างรายได้ที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ จำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อน โดยผ่านการคัดลอกจากแผ่นต้นฉบับ แล้วไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือ เป็นเจ้าของธุรกิจแล้วซื้อซอฟต์แวร์เถื่อนมาใช้งาน มีโทษมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ SMEs ต้องรู้จักซอฟต์แวร์ในทุกด้าน ไม่ใช่แค่ด้านการใช้งาน ด้านกฎหมายก็เช่นกัน หาก SMEs รายใดที่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ลองทบทวนดูให้ดีว่าโปรแกรมพิมพ์งานของคุณ เป็นของจริงหรือของปลอม