คุณนลิณี ทองแท้ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ SME ว่า จากวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ที่ได้เปิดโครงการอย่างเป็นทางการ ทำให้เห็นว่ามี OTOP จำนวนมากที่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนพัฒนาสินค้าของตนเอง ทั้งผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการตลาด โดยผู้เข้าร่วมส่วนมากต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์ ส่วนผู้เข้าร่วมที่คิดว่าตนเองทำได้ดีแล้วซึ่งอาจจะสวนทางกับอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ก็จะให้คำแนะนำโดยตรงเพื่อชี้แนวทางให้ไม่หลงทางในอนาคต ซึ่งยังต้องเน้นอัตลักษณ์ตัวตนของตนเองและของท้องถิ่นเพื่อสร้างความแตกต่าง เนื่องจากใน 355 รายนั้นมีความเหมือนกันอยู่ ทั้งนี้ OTOP ยังขาดเรื่องของการออกแบบ ถึงแม้จะออกแบบได้แต่ออกแบบไม่ตรงจุดกับพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายตนเอง
ส่วนบรรยากาศในงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค.60 นั้น อาจารย์ยกตัวอย่าง OTOP ทำยาหม่อง สปา ยาสระผม โคลนพอกผิวที่นำไพรมาบดผสมเกลือให้ผิวนุ่ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดทำมาจากสมุนไพร และได้รับการติดต่อจากห้างสรรพสินค้าให้นำสินค้าไปจัดจำหน่ายจึงได้เข้าร่วมโครงการเพื่อเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ และฉลากที่ต้องปรับด่วน
ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคือ อาจารย์ที่ปรึกษาส่งแบบบรรจุภัณฑ์ 3 แบบ โดยผู้ประกอบการจะสนับสนุนให้ทำต้นแบบขึ้นมา 1 แบบ พร้อมโลโก้และบรรจุภัณฑ์ และอาจารย์ที่ปรึกษาจะลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลเชิงลึก พูดคุยกัน และตรวจสอบการบ้านที่อาจารย์ที่ปรึกษาส่งแบบให้เพื่อเป็นการกระตุ้นแก่ผู้ประกอบการในโครงการ ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการให้ความสนใจอย่างมาก
คุณดวงพร เชื่อวงษ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าบางน้ำเชี่ยว เป็นหนึ่งในโอทอป 3-5 ดาวที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งได้เผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นที่บ้านน้ำเชี่ยว จ.สิงห์บุรี และพบว่าเสื้อผ้าถูกโคลนแม่น้ำเจ้าพระยาทับอยู่ จึงนำเอามาซักและพบว่าเสื้อผ้าที่ถูกโคลนทับถมนั้นมีกลิ่นหอม สีของเสื้อผ้าจากสีฉูดฉาดก็กลับมาเป็นสีที่หม่นขึ้นและเนื้อผ้านิ่มมาก จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา ด้วยการนำผ้าถุงทั่วๆไปแช่กับโคลนแม่น้ำเจ้าพระยาของบ้านบางน้ำเชี่ยว โดยใช้ระยะเวลามากกว่า 1 วันขึ้นไป ปัจจุบัน คุณดวงพร ได้พัฒนามาทำเป็นกระเป๋า กางเกง ซึ่งอาจารย์นลิณีได้แนะนำว่า ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “เจ้าพระยา หมักโคลน” และพัฒนาต่อยอดไปสู่สินค้าประเภทอื่นๆ เช่น เสื้อลำลอง เนื่องจากเนื้อผ้าถุงนั้นมีคุณสมบัติพิเศษจากการหมักโคลนคือ หน้าร้อนจะใส่เย็น หน้าหนาวจะใส่อุ่น หรือแปรรูปเป็นกระเป๋าที่ใส่ความเป็นสากลมากขึ้น แต่ไม่ทิ้งภูมิปัญญาคือการค้นพบว่าโคลนเจ้าพระยาสามารถทำให้สินค้ามีความแปลกใหม่ และโคลนในท้องถิ่นคืออัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงอาจารย์ยังได้คุณดวงพร เปลี่ยนแปลงการแต่งตัวของตัวเองเพื่อให้สอดรับกับชื่อแบรนด์และเปรียบเสมือนการสร้างแบรนด์ และอาจจะให้คุณดวงพรได้สร้างลวดลายของตนเองให้เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการที่คุณดวงพรได้เข้าร่วมโครงการนี้ เกิดจากที่ตนเองติดตามข่าวสารและเคยเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยู่บ่อยๆ กรมจึงได้เชิญตนเองเข้าร่วมเพื่อพัฒนาสินค้าสู่สากล
คุณภูษิต กาญจนศิริปาน กลุ่มอาชีพเปลือกไข่วิจิตร เผยถึงการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า ปัจจุบันตนเองทำอาชีพเกี่ยวกับการนำไข่ที่มีอยู่ในเมืองไทย ตั้งแต่ไข่นกกระทา ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่ห่านและไข่นกกระจอกเทศ นำมาประกอบกันเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆหรือการนำไข่ที่แตกมาประกอบกันและใช้สารเคลือบเพื่อเพิ่มแข็งแรงป้องกันการแตก และเพิ่มลวดลายที่เป็นงานฝีมือตั้งแต่การวาดและการนำจิวเวอรี่มาประดับ ซึ่งตนเองมีจุดแข็งด้านวาดภาพศิลปะเนื่องจากจบจากศิลปกร จุดเริ่มต้นที่ทำนั้นเกิดจากยุคต้มยำกุ้งที่บ้านตนเองถูกยึด จึงนำสู่ไอเดียนี้ ซึ่งสินค้าที่ทำมาจากไข่เหล่านี้แปลงมาเป็นกระเป๋าเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังนำความเชื่อของไข่ที่เหมือนกับความโชคดี ความอุดมสมบูรณ์ ความซื้อสัตย์จึงได้รับความนิยมจากต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยอาจารย์นลิณีแนะนำว่า ให้เปลี่ยนชื่อเป็น สิปป์ เนื่องจากแบรนด์ที่ชื่อภูษิตนั้นคุณภูษิตได้ใช้กับการวาดภาพอยู่แล้ว และยังให้คุณภูษิตสร้างแบรนด์มากขึ้น ด้วยการนำตนเองไปยังสถานที่ที่ให้คนรู้จักมากขึ้น เช่น ออกสื่อ ออกงานอีเว้นท์ เป็นต้น และยังให้คุณภูษิตเปลี่ยนจากการทำผลิตภัณฑ์เล็กๆน้อยๆให้ภรรยาเป็นคนทำ ส่วนตนเองได้หันมาทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นใหญ่ๆเพื่อให้ได้ราคาที่มากขึ้นและให้มากกว่าหลักล้าน ซึ่งคุณภูษิตจะมีเรื่องราวใส่ในตัวผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น เช่น สัตว์แต่ละตัวที่สร้างขึ้นมาจากไข่นั้นจะมีความเชื่อแตกต่างกันออกไป , การนำไข่นกกระทามาทำเป็นปลานินที่ถ่ายทอดถึงการเหลือกินเหลือใช้และหมายถึงรัชกาลที่9ที่ทรงประทานปลานินให้คนไทย เป็นต้น