เทรนด์ “พลาสติกชีวภาพ” กับโอกาสธุรกิจค้าปลีกไทย


จากกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีบริษัท ห้าง ร้านหลายแห่งได้หันมาใช้ “พลาสติกชีวภาพ” ในการผลิตถุงใส่ของ ถุงขยะ ภาชนะและ “แพคเกจจิ้ง” เพื่อเป็นส่วนผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ท คืออีกหนึ่งบริษัทในจังหวัดชิบะที่เข้าร่วมโครงการโดยเริ่มจากการใช้ถุงใส่ของที่เป็น “พลาสติกชีวภาพ” จากเอทานอลอ้อย (ชานอ้อย) พร้อมติดโลโก้มิกกี้เม้าส์บนถุงในปี 2015 เริ่มใช้ที่ร้านขายของที่ระลึกในโตเกียวดิสนีย์ซี, โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ทและโรงแรมในเครืออื่นๆ

เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯกล่าวว่า “การที่ตัดสินใจใช้ถุงใส่ของที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ เพราะต้องการช่วยลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม” นอกจากนี้ ยังได้แสดงความกังวลกับการเผาทำลายพลาสติกว่าจะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายได้ ในขณะที่ “พลาสติกชีวภาพ” สามารถย่อยสลายเองได้ ทั้งเอทานอลจากอ้อย แป้งข้าวโพด และเซลลูโลสจากไม้ เมื่อถึงเวลาย่อยสลายจุลินทรีย์จากการย่อยสลายจะสลายตัวเข้าไปในคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งชีวมวลตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงถือเป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นกลาง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม

เมื่อปี 2011 บริษัทเครื่องสำอาง “ชิเซโด้” ได้เริ่มใช้ “พลาสติกชีวภาพ” ที่ผลิตจากเอทานอลอ้อยเพื่อใช้เป็น “แพคเกจจิ้ง” สำหรับยาสระผมและครีมนวดผม ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากลูกค้า ทำให้ต่อมาบริษัทได้เริ่มคิดค้นวัสดุต่างๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ผลิต “แพคเกจจิ้ง” ในสินค้าตัวอื่นๆด้วย

ปี 2013 ซุปเปอร์มาร์เก็ตเครือ “อิออน” ก็ได้เริ่มใช้ถุงที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพเช่นกัน พร้อมกันนี้ยังรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงใส่ของของตนเองมาใช้ และมีมาตรการคิดค่าบริการถุงใส่ของ (ถุงพลาสติกชีวภาพ) จากทางร้าน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ โดยเงินที่ได้จากค่าบริการถุงใส่ของทั้งหมด จะนำไปส่งเสริมกิจกรรมเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือ “อิออน” บางสาขา ยังจำหน่ายร่ม Topvalu Fururi จากแผ่นพลาสติกชีวภาพที่มีลวดลายมากมายให้เลือกสรร ซึ่งลูกค้าสามารถออกแบบร่มด้วยตัวเองได้ เพียงศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ของ “อิออน”

มิถุนายน 2017 ในการครบรอบ 20 ปีของ “พิธีสารเกียวโต” (บันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศอุตสาหกรรม 35 ประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป ที่มีพันธะผูกมัดตามกฎหมาย เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) โดยจังหวัดเกียวโตได้นำถุงขยะที่ผลิตจาก “พลาสติกชีวภาพ” มาทดลองใช้แทนถุงพลาสติกแบบเก่า พร้อมเพิ่มการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพให้ประชาชนใช้แทนถุงพลาสติกต่อไป

ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ “พลาสติกชีวภาพ” ทั่วโลกคิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไป นั่นเพราะเป็นการผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าปิโตรเคมีที่เป็นการผลิตในรูปแบบเดิม อีกทั้ง “พลาสติกชีวภาพ” ยังต้องพัฒนาคุณสมบัติบางประการเพิ่มเติม เพื่อให้มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับพลาสติกทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ราคาและคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้การใช้ “พลาสติกชีวภาพ” เติบโตในตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเส้นใย โดยเติบโตขึ้นทั้งด้าน อาหาร สินค้าอินทรีย์ แอปพลิเคชั่นและนวัตกรรมใหม่ด้านการแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงอุตสาหกรรม

เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งประเทศไทยยังได้ส่งออกอ้อย เป็นอันดับ 2 ของโลก (บราซิลอันดับ 1) นี่จึงถือเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในอาเซียน แต่สัดส่วนรายได้รวมทั้งประเทศในการผลิต “แพคเกจจิ้ง” จากชานอ้อยเพื่อสิ่งแวดล้อมมีแค่ 4% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ “แพคเกจจิ้ง” ในกลุ่มอื่น นั่นเพราะการผลิต “แพคเกจจิ้ง” เพื่อสิ่งแวดล้อมในไทยมีราคาสูง และประชาชนทั่วไปก็ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีมาตรการจูงใจด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ภาครัฐ, เอกชนและประชาชน ให้คุณค่าต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สินค้า-บริการ รวมถึง “แพคเกจจิ้ง” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการอย่างมาก

เมื่อกระแสนี้กำลังมาแรงอย่างไม่อาจปฏิเสธ SMEs ไทยควรมองหาโอกาสและพัฒนาสินค้า-บริการ ให้สอดคล้องกับเทรนด์ พลาสติกชีวภาพ”  เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตอันใกล้การพัฒนาสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม จะได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และกลายเป็นสินค้าในกระแสหลัก ที่ไม่ถูกจัดเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป

credit images | nowbali.co.id