รับมือ “พรีออร์เดอร์โกง” ปัญหาพาล่มทั้งระบบการค้าออนไลน์


จากกรณีที่มีข่าวพรีออร์เดอร์หรือการสั่งสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าออกมาให้เห็นตลอดเวลา อย่างล่าสุด “ที่มี 10 ตัวแทนของผู้เสียหายกว่า 180 รายได้เข้าร้องเรียนกับ DSI ถึงการที่ได้ไปสั่งซื้อของในอินสตราแกรมของผู้ใช้รายหนึ่ง โดยโอนเงินค่าสินค้าไปแล้วแต่ไม่ได้รับของตามที่ตกลง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

การโกงพรีออเดอร์บนโลกออนไลน์ขณะนี้ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่การโกงเป็นรายบุคคลในระดับเล็กๆเพียงหลักร้อยบาท ไปจนถึงการโกงผู้ซื้อหลายคนเป็นมูลค่ารวมหลักล้าน

ด้านผู้ซื้อและผู้ขายเอง เราก็มักจะเห็นข่าวสารเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าพรีออเดอร์แล้วไม่ได้รับของตามที่ตกลงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นปัญหาหลักของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ช นั่นเพราะมันแสดงถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ที่จะส่งผลต่อผู้ซื้อสินค้า-บริการ และหาก SMEs ไทยในตลาดอีคอมเมิร์ชไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ หรือปล่อยให้มีข่าวและเหตุการณ์ “โกงพรีออเดอร์” ออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ก็จะกระทบต่อความเชื่อถือในภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ชไทย และท้ายที่สุด สิ่งนี้ก็จะเปลี่ยนไปเป็นการดับฝัน SME ออนไลน์ได้

สำหรับ SMEs ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตอบคอมเม้นต์อย่างเร็วที่สุด การชี้แจงถึงปัญหาที่ผิดพลาด พร้อมบอกแนวทางที่คุณจะสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้า การใช้ Testimonial หรือกลุ่มคนที่น่าเชื่อถือ มาบอกเล่าประสบการณ์การใช้สินค้า-บริการของคุณ นำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ รวมถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ได้มาตรฐานแบบอื่นๆ แล้วจึงสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การจดทะเบียนการค้าออนไลน์และขอเครื่องหมายรับรองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered)

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ SMEs ควรทำทันทีเมื่อเริ่มลุยตลาดอีคอมเมิร์ช แต่สำหรับผู้ซื้อที่โดน “โกงพรีออเดอร์” ไปแล้ว ก็มีข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกโกงดังนี้

  1. เมื่อ User มั่นใจแล้วว่าโดนหลอกแน่ๆ ให้ไปแจ้งความและปรินซ์หลักฐานที่ตัวเองโดนหลอกลวงแนบไว้
  2. ยื่นเรื่องต่อตำรวจ โดยให้ทางตำรวจเขียนใบแจ้งความให้
  3. สแกนใบแจ้งความ แล้วส่งไปที่ผู้ดูแลเว็บหรือแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นๆ เพื่อจะขอเลขที่ IP ของสมาชิกที่โกง
  4. นำเลขที่ IP พร้อมทั้งใบแจ้งความ ยื่นให้กับทาง ISP ที่สมาชิกท่านนั้นใช้อยู่
  5. ได้ที่อยู่มาแล้ว ให้ส่งกลับไปที่ตำรวจเพื่อนำหมายจับและจับกุมตัว หากผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ ผู้เสียหายก็ไปขึ้นศาล

การเตรียมตัวเพื่อแจ้งความ

  • ปริ้นภาพหน้าเว็บที่มีการประกาศขาย (เป็นการยืนยันถึงการกระทำที่เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน)
  • ปริ้นภาพหลักฐานในการโอนเงิน, เลขที่บัญชีธนาคาร (เป็นหลักฐานว่าคนร้ายได้ทรัพย์สินเราไป)
  • ปริ้นภาพเบอร์โทรศัพท์, ข้อความในอินบอกซ์หรืออีเมล์ที่ใช้ติดต่อคนคนร้าย (เพื่อเป็นหลักฐานประกอบสำนวน)
  • อายุการแจ้งความไม่เกิน 3 เดือนหลังที่ถูกโกง (ผู้เสียหายต้องรีบแจ้งความ)
  • คดีความนั้นต้องมีมูลค่าความเสียหาย 500 บาทขึ้นไป

สามารถแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน  ตาม ป.อ. มาตรา 343  และ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14(1)

อ้างอิง: มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาทถึง 14,000 บาท

มาตรา 14  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน