เทรนด์แพคเกจจิ้งอาหารปี 2018


  1. ลดความซ้ำซ้อนของแพคเกจจิ้ง

แม้ปัจจุบัน แนวโน้มการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆใช้คิดค้นพัฒนาคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับการออกแบบแพคเกจจิ้งของตนอย่างยั่งยืน จนเกิดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ ไปจนถึงการใช้หมึกพิมพ์ในปริมาณที่จำกัด ตัวอย่างเช่น Veuve Clicquot แบรนด์แชมเปญที่ใช้กากองุ่นเหลือทิ้งมาพัฒนาให้เป็นบรรจุภัณฑ์, Rhoeco บริษัทชาที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ปรับเปลี่ยนมาเป็นกระถางต้นไม้ได้, The Fruits ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ปรับใช้เป็นกระติกน้ำ อย่างไรก็ตาม นาง Carla Traini หัวหน้าทีมผู้ออกแบบของ Landor Paris ได้กล่าวว่าการลดชั้นและความซ้ำซ้อนของบรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่แบรนด์จะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งเป็นโจทย์ที่นักออกแบบต้องนำมาใช้ร่วมกับเทรนด็ในปัจจุบัน เช่น Heineken ได้นำเทคโนโลยีขวด Fobo มาปรับใช้ ทำให้ผู้บริโภคหาข้อมูลได้ทันทีว่าขวดเบียร์ชิ้นนั้นใช้งานมาแล้วกี่รอบ เพียงแค่เช็คข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ

  1. นำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างชาญฉลาด

นั่นเพราะแพคเกจจิ้งคือส่วนสำคัญที่จะให้ข้อมูลสินค้ากับผู้บริโภคได้ หลายบริษัทจึงนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้กับแพคเกจจิ้งเพื่อให้ลูกค้ารับรู้ถึงข้อมูลต่างๆที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยตัวอักษร หรือเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น บริษัท Topcryo ที่ผลิตฉลากที่สีของฉลากจะเปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสกับแบคทีเรียบางชนิด หรือบริษัท Yanko Design ที่ผลิตฉลากสินค้าเป็นรูปนาฬิกาทรายสำหรับเนื้อวัว โดยฉลากจะเปลี่ยนสีเมื่อไกล้วันหมดอายุ นอกจากนั้นยังมีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อ เช่น Rémy Martin ที่ให้ผู้บริโภคสแกนฉลากขวดเหล้า cognac เพื่อตรวจสอบที่มาทั้งยังช่วยป้องกันการปลอมแปลงเหล้าที่เกิดขึ้นบ่อยๆในแถบเอเชียอีกด้วย

ฉลากรูปนาฬิกาทรายที่จะเปลี่ยนสี เมื่อใกล้ถึงวันหมดอายุ

  1. สื่อสารอย่างเรียบง่ายและจริงใจ

ผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมบรรจุภัณฑ์ที่เรียบง่ายสื่อสารด้วยความจริงใจตรงกับโฆษณา เช่น La marque du consommateur ซึ่งเป็นบริษัทนมกล่องที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมพัฒนาโปรดัคท์ โดยร่วมตอบแบบสอบถามเพื่อกำหนดทิศทางลักษณะของผลิตภัณฑ์, กระบวนการการผลิตรวมถึงผลตอบแทนที่ผู้ผลิตวัตถุดิบจะได้รับ ผลที่ได้คือ แพคเกจจิ้งที่เป็นสีพื้นสดใส และพิมพ์ข้อความสีขาวบอกถึงการพัฒนาสินค้าตามที่ผู้บริโภคได้ทำแบบสอบถาม เกิดเป็นแพคเกจจิ้งที่ไม่ได้โฆษากล่าวอ้างถึงคุณลักษณะเกินจริง แต่เป็นการสื่อสารด้วยความเรียบง่ายจริงใจ

นมจากบริษัท La marque du Consommateur

  1. ไม่นำเสนอแพคเกจจิ้งแค่แบบเดียว

ย้อนไปเมื่อปี 2013; Coca-Cola เป็นบริษัทแรกที่ริเริ่มทำขวดที่มีฉลากแตกต่างกัน โดยสามารถพิมพ์ชื่อของคนที่ผู้บริโภคต้องการลงไป ซึ่งต่อมา Nutella ก็ได้ผลิตรูปแบบการนำเสนอที่คล้ายกันออกมา ด้าน Anne-Cécile ได้ให้ความเห็นว่าบรรจุภัณฑ์แบบตามสั่งเช่นนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นสามารถพัฒนาไปได้ต่อ แต่นักออกแบบบางคนก็มีความคิดที่ฉีกออกไปเช่น นักออกแบบจาก Granny’s Secret สินค้าน้ำผลไม้ที่ได้ผลิตฉลากขวดน้ำส้มให้แต่ละขวดต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนส้มที่ใช้ผลิต

  1. เลือกใช้ขวด PET ทึบ

ปัจจุบันมีขวดนมจำนวนมากที่นิยมใช้ขวด PET มากกว่าที่จะใช้ PEHD ทำให้ Elipso สมาคมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกอ่อนคาดการณ์ว่าในอีก 5-10 ปีนี้ ขวดนมทุกใบจะผลิตด้วย PET เนื่องจากขวด PET ทึบสามารถผ่านการฆ่าเชื้อด้วยการอบแห้งและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยลดเวลาผลิต ประหยัดวัตถุดิบและน้ำในการทำความสะอาด นอกจากนั้นยังมีราคาถูกกว่าถึง 20% แต่ปัญหาคือ ขวด PET ทึบมีขั้นตอนการรีไซเคิลที่ซับซ้อน ซึ่งสมาพันธ์พลาสติกก็ต่างเร่งหาทางแก้ไขอยู่ในขณะนี้

  1. มาเป็นชุดพร้อมสูตร

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัท Startup หลายแห่งเริ่มเสนอสินค้าที่มีวัตถุดิบสดที่จัดเป็นชุดให้เลือกปรุงกินเองที่บ้าน แล้วขายพร้อมสูตรอาหาร เช่น Illico Fresco บริษัทที่เสนอขายอาหารชุดรูปแบบที่ว่ามานี้พร้อมกับให้เชฟมืออาชีพมาช่วยพัฒนาสูตรอาหาร หรือจะเป็นบริษัท Marlette ที่เสนอชุดวัตถุดิบเพื่อทำเบเกอรี่ออร์แกนิค โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้แพคเกจจิ้งแนวนี้ให้ได้รับความนิยม คือ วีดีโอรายการทำอาหารที่ช่วยกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าอยากทำอาหารกินเอง

ชุดอาหารสดพร้อมปรุง จากบริษัท Illico Fresco