“ลิลูน่า” (LILUNA) แอพลิเคชั่นในรูปแบบทางเดียวกันไปด้วยกัน ที่จะมาช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายและลดปัญหาการจราจรติดขัด
นัฐพงษ์ จารวิจิตร หรือนาย ผู้พัฒนา “ลิลูน่า” กล่าวว่าอดีตเคยเป็นโปรแกรมเมอร์ ด้านงานพัฒนาแอพพลิเคชันที่เยอรมันมากว่า 10 ปี จุดเริ่มต้น
“ลิลูน่า” เกิดจากความต้องการที่จะทำสตาร์ทอัพอยู่แล้ว เลยพยายามมองหาไอเดียว่าจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่คอนโด เวลาขับรถออกไปทำงานก็มักจะเห็นเพื่อนร่วมคอนโดหลายคนที่ไม่มีรถ แล้วต้องมานั่งรอรถประจำทางหรือแท็กซี่นานๆ เลยคิดขึ้นว่าเราอยากช่วยพวกเขาเนื่องจากรถเราก็มีที่นั่งว่างอยู่
“ผมเคยเรียกคนขึ้นรถ พี่ไปด้วยกันมั้ย ผมผ่านทางนี้นะ แต่เขาก็ไม่ไป ไม่ใช่เพราะเขาไม่ผ่าน แต่เรามองว่าที่เขาไม่ไป เพราะเขาอาจเกรงใจหรือไม่เชื่อใจ”
ทำให้คิดต่อว่าหากสามารถพัฒนาระบบส่วนนี้ให้มีความน่าเชื่อถือ มันจะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมาก จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชันนี้อย่างจริงจังตั้งแต่กรกฎาคม ปี59 เพราะต้องการโฟกัสกับมันอย่างจริงจัง
“ลิลูน่า” ถือเป็นตัวกลางสำหรับคนขับและผู้เดินทาง ที่มีเส้นทางการเดินทางร่วมกัน โดยการคิดราคา เราแนะนำให้กะเอา เช่น เราขับไปจากจุดนี้ถึงจุดนี้ มีค่าน้ำมัน 100 บาท เราก็อาจหารค่าน้ำมันจากเขาคนละ 50 แล้วอีก 50 บาทเป็นค่าให้บริการ นี่ก็จะเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้เราประหยัดและสร้างรายได้ ซึ่งคนขับจะเป็นคนกำหนดเส้นทางเอง
การดาวน์โหลด “ลิลูน่า” ไม่ได้มีเป้าหมายให้เป็นไปในเชิงธุรกิจ ยกตัวอย่าง มีคนจะขับรถไปพัทยาแล้วคิดค่าบริการ 250 บาทต่อที่นั่ง ซึ่งไปพัทยาราคานี้ก็ถือว่าค่อนข้างแพง แล้วยังมีการแจ้งอีก ว่าต้องรอรถเต็มก่อนถึงจะออกได้ ทำให้ต้องไปชี้แจงกับผู้ใช้งานรายนี้ว่านี่ไม่ใช่แนวทางของเรา
“สิ่งที่เราริเริ่ม ไม่ได้เกิดจากการนำเอาตัวเงินเป็นที่ตั้ง เรามองว่าสิ่งที่ทำควรจะสร้างคุณค่าต่อสังคม ส่วนเรื่องเงินเมื่อเราประสบความสำเร็จมันก็จะตามมาเอง ต่างจากสตาร์ทอัพทั่วไปที่นำเรื่องเงินมาเป็นที่ตั้งและแนวคิดแบบนี้เมื่อเอาไอเดียไปแข่งขันที่ไหนก็จะทำให้แพ้ตลอด มีคนถามว่าเราจะมีวิธีหาเงินยังไงกับการทำแอพนี้ เราเองก็ตอบไม่ได้ เพราะมันยังไม่มีความชัดเจน แต่ที่ทำเพราะคิดแล้วว่ามันมีประโยชน์ เพียงแค่นั้นเราก็ทำแล้ว”
ปัจจุบันเปิดมา 6 เดือนมียอดโหลด “แอพลิลูน่า” สูงถึง 60,000 ยูสเซอร์ โดยมีคนขับกว่า 2,000 ราย และมีคนมาสร้างเส้นทางกว่า 30 เส้นทางต่อวัน พร้อมมีอีกฟังก์ชั่นสำหรับผู้โดยสารซึ่งสามารถแจ้งได้ว่าอยากไปเส้นทางไหนที่ไหน เช่น ผู้โดยสารสามารถโพสต์ที่หน้าบอร์ดได้ว่าวันที่…เดือน…ต้องการไปภูเก็ต มีใครขับรถไปบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็มีคนมาระบุเส้นทางที่ต้องการจะไปกว่า 50 โพสต์ต่อวัน
ปัญหาช่วงแรกคือ ต้องมีคนมีระบุเส้นทางที่จะไปให้เยอะมากขึ้นกว่านี้ อีกส่วนคือ คนที่อยากใช้บริการจำนวนมากแต่ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือการเน้นย้ำว่าระบบการตรวจสอบของ “ลิลูน่า” สามารถยืนยันตัวตนที่แน่ชัดของทุกยูสเซอร์ แต่เพราะยังเป็นบริการใหม่ หลายคนก็อาจยังคงกลัวอยู่
ถ้ามองถึงภาพรวม กลุ่มผู้บริโภคที่มีเงินเดือนสูงๆ หรือคนที่ชอบความเป็นส่วนตัวอาจยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเราก็เข้าใจเนื่องจาก “ลิลูน่า” ไม่ได้สร้างขึ้นมาให้รับกับไลฟ์สไตล์คนทุกกลุ่ม แต่เราจะเน้นคนที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย คนที่อยากมีเพื่อน คนที่อยากสร้างมิตรภาพ ซึ่งจากยอดดาวน์โหลด 300 คนต่อวันก็เห็นได้ชัดขึ้นแล้วว่า “ลูลิน่า” เหมาะกับคนไทย
อย่างกลุ่มแรกคือ คนขับรถไปทำงานทุกวันที่มีคอร์สค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เช่นค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ถ้ามีคนมาร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายก็จะทำให้ประหยัดมากขึ้น กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไม่ได้มองถึงค่าใช้จ่ายแต่อยากมีเพื่อน หรืออยากช่วยเหลือคน หากต้องเดินทางไปไหนไกลๆก็อยากมีเพื่อนนั่งคุยไปด้วยกัน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มคนนั่ง ซึ่งการต้องออกจากที่ทำงาน 1 ทุ่ม แล้วรอรถตู้หรือรถเมล์อีกชั่วโมงทั้งขึ้นรถแล้วยังไม่มีที่นั่ง ทำให้พวกเขายินดีมากที่จะใช้บริการของ “ลิลูน่า” แต่ปัญหาตอนนี้คือเส้นทางที่จะไปไม่ตรงกัน ทำให้เราต้องคิดว่าจะทำยังไง? ให้คนรู้จักเรามากที่สุด
ผมเชื่อว่า “ลูลิน่า” สามารถนำมิตรภาพกลับสู่สังคมไทยได้ อย่างสังคมคอนโดที่ผมอยู่ ผมเห็นหลายๆคนที่พักอยู่ที่เดียวกันแทบทุกวัน แต่ทำไมเราไม่เคยคุยกัน? ไม่รู้จักกัน? จนวันหนึ่งผมขับรถไปทำงาน เห็นเพื่อนร่วมคอนโดหลายคนรอแท็กซี่ ผมชวนเขาไปกับผมอีกครั้ง วันนั้นเขายอมไปด้วย พวกเราเลยได้รู้จักกัน ซึ่งจริงๆแล้วผมมองว่า “ลิลูน่า” มันไม่ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอะไรมากมายหรอก แต่มันเป็นเรื่องของมิตรภาพมากกว่า เมื่อเราให้เขาก่อน เราก็จะได้มิตรภาพกลับมา นี่คือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้และเป็นคุณค่าของ “ลิลูน่า”