ท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา คว้ารางวัลชนะเลิศ ผู้ใช้น้ำ ชลประทาน ดีเด่นประจำปี 2561


กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน ท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา คว้ารางวัลชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561

ประกาศผลการตัดสินออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ชลประทาน ดีเด่นประจำปี 2561 โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน ท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา ฝ่ายส่งน้่ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคณะกรรมการตามเกณฑ์การตัดสิน ทั้งในด้านความคิดริเริ่ม ความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อกลุ่มกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประจำปี 2561 ไปครอง

เรื่องเล่าคนใช้น้ำฉบับนี้ไม่รอช้า คว้าตัว นายพัก สะอาดนัก ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ชลประทาน ท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา ฝ่ายส่งน้่ำและบำรุงรักษาที่ 2โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 มาพูดคุยถึงการบริหารจัดการน้ำของกลุ่ม ซึ่งยึดหลักการบริหารจัดการน้ำอย่าง เข้าใจและเข้าถึงนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิก และสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้สำเร็จ

นายพัก เล่าว่า กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานท่ายาง-บ้านลาดพัฒนาจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยมีพื้นที่ในความรับผิดชอบครอบคลุม 3 อำเภอใน จ.เพชรบุรี ได้แก่ อ.ท่ายาง (ต.ไร่มะขาม ต.ท่าเสน และ ต.สมอพลือ) อ.บ้านลาดและ อ.เมือง ในการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มในช่วงแรกนั้นยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร มีจำนวนสมาชิกแรกเริ่ม 63 คนเท่านั้น แต่หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกำหนดกติกาการบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์สูงสุด ก็ทำให้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 1,653 คนในปัจจุบัน และที่สำคัญคือสมาชิกไม่มีปัญหาความขัดแย้งดังเช่นอดีตที่ผ่านมา

เกษตรกรที่นี่ทำนาเป็นส่วนใหญ่ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตคือ ต่างคนต่างแย่งชิงน้ำกัน แต่หลังจากที่ทางชลประทานเข้ามาสำรวจพื้นที่วางแผนการประชุม จัดเป็นกลุ่มพื้นฐานมีการจัดรอบเวรเปิด-ปิดน้ำ 21 วันตามความต้องการใช้น้ำและขนาดพื้นที่อย่างเป็นระบบก็ทำให้ความขัดแย้งที่เคยมีหมดไป

ในการรับน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรของกลุ่มจะรับน้ำจากเขื่อนเพชร ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำที่ใช้น้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่สาย 3 โดยฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี จะทำหน้าที่วางแผน ควบคุม และประเมินผลการส่งน้่ำในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่ม ได้แก่ บ้านแหลมพัฒนาเหมืองตาหลอ คลอง 4 ขวาพัฒนา เกษตรพัฒนา เพชรบุรีราษฎร์สุขสำราญ และท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา ด้วยความที่ทั้ง 6 กลุ่มต้องใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งเดียวกัน จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดรอบเวรเปิด – ปิดน้ำตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน และเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

โดยก่อนจัดรอบเวรเปิด – ปิดน้ำ จะต้องมีการสำรวจความต้องการเพาะปลูกและนำเข้าที่ประชุมเพื่อวางแผนร่วมกัน ให้สมาชิกมั่นใจได้ว่าจะได้รับน้ำตามเวลาและตามปริมาณที่ต้องการของแต่ละพื้นที่ บางกลุ่มมีพื้นที่มากอาจจะได้ 4 วันบางกลุ่มพื้นที่น้อยกว่าอาจจะได้ 3 วัน พอครบรอบเวร 21 วัน ก็มาประชุมจัดกันใหม่เป็นการทำงานที่มีความชัดเจน เข้าถึง เข้าใจ และทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากจุดเด่นของกลุ่มที่ได้ร่วมกันวางแผนการส่งน้ำในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับปิรมาณน้ำต้น ทุน แล้วทางกลุ่มยังมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการปลูกและคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวป้อนกรมการข้าว และการปลูกผักลักษณะไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้น้ำที่เป็นปุ๋ยจากบ่อเลี้ยงปลาส่งมาทางท่อและปลูกผักในสายท่ออีกด้วย

นายพัก อธิบายว่า ทางกลุ่มได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรีขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมารวมตัวกันผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพขาย เน้นปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับการบริโภค และปลอดสารเคมี ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกร โดยมีนายบรรพต มามาก รองประธานกลุ่ม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการคัดเมล็ดพันธุ์และการเพาะปลูกเป็นผู้ให้การดูแล นำความรู้ตรงนี้มาเผยแพร่ให้กับสมาชิกในกลุ่มรวมถึงการปลูกผักลักษณะไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงปลา และการทำแก๊สชีวภาพ

นอกจากนี้ยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเดจ็ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ทำอย่างไรให้พออยู่พอกิน พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เช่น การทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมทั้งทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว และผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ควบคู่ไปกับการปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ให้ผลตอบแทนสูงทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปีรวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรทำบัญชีครัวเรือน และยึดความพอเพียงในการใช้ชีวิต

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม และก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2559เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 มาแล้วซึ่งการรับรางวัลในครั้งนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาและกลับมาพิสูจน์ตนเองอีกครั้ง จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 ไปครองได้สำเร็จ

นายพักบอกถึงความรู้สึกว่ากลุ่มของเราไม่ได้ดีเด่นกว่าใครเพียงแต่เรามีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจของกลุ่ม ไม่ย่อท้อ ครั้งแรกที่เคยเข้าร่วมการคัดเลือกเมื่อปี 2559ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ถือว่าไปได้แค่ครึ่งค่อนทาง มาในครั้งนี้ปี 2561 เรามีความพร้อมทุกด้านบวกกับสามารถนำเสนอผลงานได้เข้าตากรรมการ ก็เลยทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งก็รู้สึกดีใจ แต่เหนือกว่าความดีใจ คือการที่สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้สมาชิกได้ใช้อย่างทั่วถึง สมาชิกมีปัญหาอะไรก็เข้ามาพูดคุย ปรึกษากันและร่วมกันหาทางแก้ไขให้ลุล่วง

นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แม้นายพักจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่เมื่อครบวาระก็ยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกให้เป็นประธานกลุ่มต่อ ขณะเดียวกันก็ได้พยายามปลูกฝังเกษตรกรรุ่นใหม่และทายาทให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มเพราะจะได้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนเพื่อต่อยอดงาน ให้กลุ่มมีความแข็งแรงและคงอยู่ตลอดไป