เชื่อว่าใครๆ ก็คงอยากไป ตีตลาดจีน เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตสูง ทั้งชาวจีนยังมีความเชื่อมั่นในสินค้าไทย จึงทำให้ SMEs ไทย มองว่าเป็นตลาดที่สวยหรู ในทางกลับกัน การนำเข้าเครื่องสำอางอย่างถูกต้องตามกฎหมายจีน มีขั้นตอนการขออนุญาตและการตรวจสอบมาตรฐานที่เข้มงวดและยุ่งยาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน แต่ยังไงก็ตาม วัยรุ่นจีนขณะนี้ยังนิยมซื้อเครื่องสำอางนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสัมภาษณ์พิเศษ คุณวรวุฒิ สายบัว กรรมการผู้จัดการบริษัท บิวตี้นิสต้า จำกัด และเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์นิสต้า ดิจิตอลแบรนด์เอเจนซี่ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเครื่องสำอางไทยมากมาย ได้ให้ข้อมูลเส้นทางที่ซับซ้อน ก่อนธุรกิจเครื่องสำอางไทยเจาะตลาดจีน ดังนี้
เครื่องหมายการค้าและอย.จีน บททดสอบความพร้อม ความอดทน
ด้านความยุ่งยาก เครื่องหมายการค้าหรือชื่อแบรนด์ และ อย.จีน CFDA (China Food and Drug Administration) ถือเป็น 2 เครื่องหมายพื้นฐานที่สำคัญก่อนขยายตลาดไปจีน อย่างที่รู้กันว่าจีนเป็นตลาดที่ใครก็อยากเข้า ทำให้มีการแข่งขันสูง อย่างสินค้าบางชนิดที่นักธุรกิจจีนบางกลุ่มรู้ว่าเริ่มดังในไทย ก็มีการไปจดชื่อแบรนด์ดักรอ หรือแม้แต่หน้าสำนักงานจดเครื่องหมายการค้า ก็มีการชูป้ายขายชื่อแบรนด์ต่างๆ มากมาย ซึ่งไม่ต่างจากการทำธุรกิจจดโดเมนเนมแล้วนำมาขาย ฉะนั้นช่วงเริ่มทำธุรกิจในไทยแล้วมีแผนจะเข้าไปเจาะตลาดจีน แนะนำว่าควรไปจดเครื่องหมายการค้าที่จีนรอไว้ก่อน การของเครื่องหมาย อย.จีนก็ถือเป็นอีกความยากยิ่งกว่าการขอ อย.ไทย เพราะกว่าจะได้มา ต้องนำสินค้าเข้าไปตรวจในแลป ซึ่งมีการตรวจวัดที่ละเอียดสูง หากไม่ผ่านก็จะให้กลับไปแก้สูตรใหม่ ทั้งบางมณฑลยังไม่ได้ตรวจวัดเพียงแลปเดียว หรือบางมณฑลต้องเสียค่าดำเนินการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐฯ สินค้าบางประเภทก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในบางมณฑล ด้วยการกีดกันทางการค้า ทั้งยังมีข้อห้ามนำสารสกัดบางประเภทเข้า เช่น สารสกัดเมือกหอยทากที่มีการตรวจสอบเข้มงวดอยู่ในขณะนี้ และบางมณฑลก็ได้ระงับการนำเข้า ความซับซ้อนเหล่านี้ทำให้ต้องใช้เวลาขอ อย.จีนอย่างน้อย 1 ปี
ขนาดประเทศ และความหลากหลายของประชากร เป็นสิ่งที่ต้องเดินให้ชัด
เรื่องความใหญ่ของจีน เป็นสิ่งที่ทำให้การบริหารจัดการให้ครบทุกมณฑลต้องใส่ใจทุกรายละเอียด เช่น เรื่องคลังสินค้า การกระจายสินค้า เพราะอย่างมณฑลทางเหนือก็จะกระจายไปได้เฉพาะมณฑลต่างๆ ในจีนตอนบน และแต่ละมณฑลก็จะมีข้อกำหนดความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญเรื่องความหลากหลายของประชากรก็ทำให้การพัฒนาสินค้าอย่างตรงกลุ่ม แตกต่างกัน ทั้งมณฑลแต่ละมณฑลก็มี e-Marketplace ของตัวเองที่แยกย่อยออกไปอีก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อม ต้องดูว่าสินค้าเราคืออะไร เหมาะกับมณฑลไหน ขั้นตอนการทำงานเป็นยังไง รวมถึงกระบวนการขึ้นทะเบียนการค้า ก็ไม่ใช่จะขึ้นทะเบียนที่มณฑลนี้แล้วหมายความว่าจะได้ครอบคลุมทั้งประเทศจีน
e-Payment รองรับ 2 ค่ายใหญ่ ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้
อย่างการชำระเงินแบบ e-Payment ก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งปัจจุบันในจีนจะมีอยู่ 2 ค่ายหลักๆ คือ Alipay ของอาลีบาบา และ Wechat pay ของรัฐบาลจีน ซึ่งจีนก็พยายามทำให้ Wechat pay ใหญ่กว่า Alipay ผู้ประกอบการไทยจึงเกิดความสงสัยว่าทำไมการใช้ Wechat pay ถึงได้สิทธิพิเศษมากกว่า บวกกับนโยบายของจีนที่พยายามให้ชนชั้นแรงงานออกจากเมืองหลวง กลุ่มสินค้า High end จึงเป็นกลุ่มสินค้าที่ขายดีในเซี่ยงไฮ้
เรื่องภาษีนำเข้า จีนตรวจเข้ม แนะหน้าใหม่ไป Free Tax Stores
ด้านภาษี ในอดีตการส่งตรงหรือ Door-to-Door อาจสามารถทำได้ แต่ปัจจุบันการจะทำเช่นนั้นค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้องเสียภาษีนำเข้าตามขั้นตอนของศุลกากรอย่างถูกกฎหมาย หรืออาจเข้าไปแบบ Free Tax Stores คือถ้าส่งไปแล้วยังขายไม่ได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษี จะเสียก็ต่อเมื่อมีการขายออกไปแล้วเท่านั้น
การตลาดออนไลน์ สิ่งที่ธุรกิจเครื่องสำอางไทย ต้องเข้าใจพฤติกรรมจีน
เรื่องลูกล่อลูกชนในการขาย คนไทยตามเจ้าของประเทศอย่างจีนไม่ทัน เมื่อผู้ประกอบการไทยไปทำตลาดในจีน จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องจ้างเซลล์จีนมาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ พร้อมจ้าง KOL (Key Opinion Leader) มาช่วยรีวิวหรือทำการตลาด อย่าง Influencer ก็ถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้ออย่างมากในจีน ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะสมกับสินค้าของเราด้วย ไม่ใช่ดูเพียงยอดคนติดตาม ส่วนภาษาที่ใช้ ไม่ควรสื่อสารแบบ Google Translate เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงกับภาษาทางธุรกิจหรือภาษาทางการขายได้ พฤติกรรมคนจีนชอบค้นหาข้อมูล การสร้างตัวตนที่ไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เช่น การสร้าง Official Website ที่ไทย ทำให้แบรนด์เราดูมีชื่อเสียงในไทย หรือนำไปลงขายในหลายๆเว็บไซต์ เช่น สินค้าไทยบางชนิดมีการลงขายในเว็บ Tmall และ Taobao พร้อมนำเสนอภาพลักษณ์ที่สวยงาม
พาร์ทเนอร์ แรงขับสำคัญที่ช่วย ตีตลาดจีน ได้เร็วขึ้น
ปัจจุบันจะเห็นกูรูมากมายเต็มไปหมดที่บอกว่าสามารถช่วยนำสินค้าไปขายจีนได้ ซึ่งเราควรเช็คข้อมูลให้ละเอียด เช่น ขอบเขตการทำงาน อะไรที่สามารถการรันตีได้และไม่ได้ ต้องคุยกันให้ชัดเจน เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกินจริงก็ความสำคัญ เนื่องจากเอเจนซี่แต่ละที่เรทราคาที่แตกต่าง บางรายบอกมีค่าจดแจ้ง อย.ของจีน 150,000 บาท แต่บางรายเรียกเก็บสูงกว่า 6-8 แสนบาท โดยแจ้งว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐฯ ของจีนดำเนินงานให้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการเร่งกระบวนการ แต่ต้องย้อนไปดูว่าเขาเคยทำให้ใครบ้าง แล้วในลักษณะการดำเนินการเช่นนี้มีกี่กรณีที่สำเร็จ ด้านการเปิดร้านค้าปลีกที่จีนก็มีราคาสูงเพราะการเปิดในทำเลดีๆ จะอยู่ที่ราว 4-5 แสนบาท ทั้งบางแห่งยังมีข้อกำหนดให้เฉพาะคนจีนเปิดได้เท่านั้น แนะนำว่าควรมีที่ปรึกษาเป็นชาวจีน และต้องเป็นคนที่เราสามารถไว้วางใจได้ เพื่อคอยตรวจสอบงานต่างๆ ให้เรา ซึ่งควรจ้างทั้ง Audit Consult และ Marketing Consult ควบคู่กันไป