7 ขั้นตอนที่จะพา Startup ขยับสู่ระดับ ยูนิคอร์น


สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ  NEA จัด โครงการเสวนาเพื่อผู้ประกอบการยุคใหม่ Startup Symposium : The Power of Creativity & Innovation” ขึ้น เพื่อติดอาวุธทางความคิดให้กับเหล่าสตาร์ทอัพ โดยมีเมนเทอร์ชื่อดังเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งหนึ่งไฮไลท์ของการเสวนาที่สำคัญ ได้แก่ การออกมาเผยถึงอาวุธลับสำคัญในการเป็นสตาร์ทอัพที่จะประสบความสำเร็จระดับยูนิคอร์นที่ไม่ว่าใครก็สามารถมีและทำได้  7 ขั้นตอนโดยมิสเตอร์วิลเลียม มาเล็ค (Mr.William Malek) กูรูด้านความคิดสร้างสรรค์ และอดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย

1.เข้าให้ถึงแก่นปัญหา

สตาร์ทอัพหลายราย ไม่สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จริงๆ ก็เพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่ามันมีปัญหาอยู่จริงและตระหนักให้ได้ว่าการที่มีปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไปเพราะในทุกปัญหาก็มีโอกาสแฝงอยู่ ที่สำคัญคือทำอย่างไรเราถึงจะสามารถรวบรวมปัญหาออกมาได้ คำตอบก็คือ การตั้งคำถาม การเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามที่ดีจะทำให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยากจะเล่าเรื่องราว แชร์ประสบการณ์ เสนอความคิดเห็นส่วนตัว หรือแม้กระทั่งความรู้สึกที่ไม่ได้รับความไม่สะดวกสบายจากการใช้สินค้าหรือบริการในปัจจุบัน

2. ลงพื้นที่จริง

หลังจากที่รู้ว่าปัญหาคืออะไรแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องลงพื้นที่จริงๆ เพื่อที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีอุปสรรคในด้านนั้นๆจริงๆ และจากตรงนี้เราจะได้เห็นโลกในแบบกลุ่มเป้าหมายที่เราเห็น คิดหรือรู้สึกในแบบเดียวกัน จากตรงนี้จะทำให้เราสามารถระบุถึงความต้องการจริงๆ ในใจของพวกเขาออกมาได้ผ่านพฤติกรรม  ความชอบ  แรงกระตุ้น  หรือแม้กระทั่งความไม่พอใจส่วนตัว ตามคำกล่าวที่ว่า ปัญหาของธุรกิจทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าพวกเราขาดแคลนนวัตกรรม แต่ขาดความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ในส่วนหลังนี้เป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเดียวกันอยู่

3.ระบุขอบเขตของปัญหา

อะไรคือปัญหาของที่แท้จริงลูกค้า มองปัญหาให้เหมือนที่ลูกค้ามอง เมื่อนั้นคุณจะเห็นโอกาส สังเกต วิเคราะห์ และปะติดปะต่อข้อมูล คำถาม ปัญหา หรือไอเดียต่างๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันแล้ว ระบุประเด็นปัญหาออกมาให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ทราบว่าเรากำลังทำงานไปในทิศทางเดียวกันทั้งทีม และกำลังแก้ปัญหาได้ตรงจุด

4.ระดมไอเดียในการแก้ปัญหา

ว่ากันว่า การใช้คนให้ถูกกับประเภทของงานก็เหมือนกับทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง มาถึงตรงนี้ คุณต้องมีทีมงานที่ทำงานเข้าขากันเหมือนนักฟุตบอล 11 คน รับส่ง บอลให้กันอย่างรู้อกรู้ใจเพื่อให้กองหน้าทำประตูคู่แข่งได้ ….คุณต้องทำการระดมทุกไอเดียในการแก้ปัญหา   ว่ากันว่า ใน 1,000 ไอเดียจะมีแค่ 10 ไอเดียหรือแค่ 1เท่านั้นที่เอาไปใช้ได้จริง ดังนั้นยิ่งมีไอเดียมากเท่าไร คุณก็ยิ่งจะได้ไอเดียที่สามารถนำไปใช้ได้จริงมากขึ้นเท่านั้น

5.จำลองต้นแบบของสินค้าหรือนวัตกรรมและทำการทดสอบ

นำเอาความคิดสร้างสรรค์ที่ได้ มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง (จะเป็นรูปแบบของแอพพลิเคชั่นหรือ ผลิตภัณฑ์จริงๆ ก็ได้)

6.ทำซ้ำๆและเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ

หลังจากที่ได้ผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วมาถึงขั้นตอนในการทดสอบการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ลองนำสิ่งที่คุณทำไปให้ใครสักคนที่กำลังประสบความไม่สะดวกสบายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ แอพพลิเคชั่น หรือบริการต่างๆ ทดลองใช้ แล้วขอฟีดแบ็คจากเขาเหล่านั้นว่าถ้าคุณจะทำออกมาจริงๆ มันจะเวิร์คหรือไม่ และถึงแม้มันไม่เวิร์คเลย อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้ว่า ความล้มเหลวเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จ ล้มแล้วลุกขึ้นให้ไว เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วนำไปปรับปรุง

7.ลงมือสร้างผลิตภัณฑ์แล้วลุยตลาดจริง

เมื่อผลิตภัณฑ์พร้อม ตลาดกลุ่มเป้าหมายชัด สิ่งที่คุณต้องการในตอนนี้ก็คือโอกาส อย่าหยุดที่จะมองหาโอกาสไม่ว่าจะโอกาสในการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ หรือ โอกาสในการขาย

 

ที่มา : nea.ditp.go.th  Facebook.com/nea.ditp