วว.แนะวิธีปลูกผักกูดขายฝ่าวิกฤต สร้างรายได้ 600-1,000 บาท ปลูกง่าย มีคุณค่าอาหารสูง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยสถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ประสบความสำเร็จพัฒนาระบบการปลูกผักกูดในพื้นที่ร้อน/แล้ง สร้างรายได้ ช่วยลดผลกระทบ สู้วิกฤตโควิด- 19 นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง วว. เปิดเผยความสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกผักกูดของสถานีวิจัยลำตะคอง วว. ว่า ผักกูด [Diplazium esculentum (Retz.) Swartz] เป็นพืชตระกูลเดียวกับเฟิร์น ลักษณะของต้นผักกูดจะขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร รากแตกฝอยเป็นกระจุกใหญ่ ก้านใบแตกจากเหง้าใต้ดิน ใบยาว 50-100 เซนติเมตร ส่วนของยอดอ่อนปลายยอดม้วนงอแบบก้อนหอยและมีขน การขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์ที่สร้างขึ้นบริเวณด้านหลังใบ เมื่อสปอร์ปลิวไปตกบริเวณที่มีความชื้นก็จะแตกเป็นต้นใหม่ และขยายพันธุ์โดยใช้ต้นใหม่ที่เกิดจากส่วนเหง้าหรือรากฝอยของต้นแม่ เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย ในสภาพมีความชื้นสูง แสงแดดไม่ร้อนจัดเกินไป คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผักกูดจะต้องปลูกในพื้นที่มีฝนตกชุกและความชื้นค่อนข้างสูง อย่างภาคใต้และภาคตะวันออก แต่จากการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการปลูกผักกูดในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พิสูจน์ให้เห็นว่า การปลูกผักกูดให้ได้ผลผลิตที่ดีต้องปลูกในสภาพแสงแดดรำไรและมีความชื้นสูง หากเราจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตก็สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย “สำหรับรูปแบบของการปลูกผักกูดสามารถทำได้ 2 วิธี คือการปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เพื่อช่วยในการพรางแสง เช่น การปลูกร่วมกับกล้วย หรือปลูกร่วมกับไม้ผลยืนต้น วิธีที่สองปลูกภายใต้ร่มเงาตาข่ายพรางแสงหรือสแลนที่สามารถพรางแสงได้ตั้งแต่ 50-60 […]