กรณีเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ บริเวณโกดังเก็บสารเคมีภายในโรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง โดย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า ถือเป็นบทเรียน ในการพยายามผลักดันให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน ไปสู่ Green Factory
และการย้อนทบทวนมาตรฐาน พื้นฐาน รายได้ของโรงาน และปัจจัยอื่นๆ ทั้งเรื่องของที่ตั้งโรงงาน ผังเมือง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ SME ซึ่งเมื่อมีโรงงาน มีความเจริญ ชุมชน และที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกก็ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประธานสภาอุตฯ ฉายภาพว่า ที่ผ่านมาการทำให้ โรงงานผู้ประกอบการ SME เข้ามาอยู่ระบนิคมอุตสาหกรรมนั้น มีอุปสรรคมาโดยตลอด ทั้งเรื่องของที่ดินราคาแพง นี่คือสิ่งที่รัฐต้องคิดทบทวนว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้ทุกโรงงานเข้าสู่ระบบมาตรฐานของนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งมาตรการจูงใจของรัฐ ในการสร้างนิคมฯ SME จึงอาจเป็นทางออกที่สำคัญ
ชัดเจนว่า เมื่อเป็น “นิคมอุตสาหกรรม” ซึ่งควบคุมด้วยมาตรฐาน จะสามารถแบ่งแยกผังเมือง ห้ามสร้างที่พักอาศัย หรือมีชุมชนในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการควบคุมกำกับดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้
ดังนั้น การลดหย่อนภาษีที่ดิน ค่าธรรมเนียม และมาตรการภาษี ในพื้นที่นิคมอุตฯ สำหรับ SME เป็นสิ่งจูงใจในระดับหนึ่ง เมื่อผนวกรวมกับ มาตรการภาษีให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green factory ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 6,000 โรงงาน แต่มาตรฐาน “Eco Industry Town” อยู่ในระดับมาตรฐานขั้นสูงมากมีอยู่ประมาณ 300 โรงงาน เท่านั้น
สอดคล้องกับ “ปราณี คุรุเวฬุกรณ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งกล่าวถึง กรณีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานดังกล่าว ได้สะท้อนเป็นบทเรียน เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานทั่วประเทศ ทั้งโรงงานขนาดใหญ่ และโรงงานระดับ SME
“เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด โดยเฉพาะการช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้น ซึ่งทุกภาคส่วนเข้าร่วมช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเต็มที่ ในส่วนของสมุทรปราการเรามีโรงงานกว่า 6,800 โรงงาน ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาอุตฯ ประมาณ 300 กว่าโรงงาน ในจำนวนกว่า 300โรงงานนี้ ขณะนี้กำลังดำเนินการเข้าสู่ระบบ “Eco Industry Town” เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์ “Green Industry” หรือ อุตสาหกรรมสีเขียว”
“ปราณี” ขยายความ ถึงเรื่องดังกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียว ไม่ใช่เฉพาะแค่เป็นการสร้างมาตรฐานการส่งออกต่างประเทศ ในโรงงานผู้ผลิตซัพลายเชน และโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังหลายถึงการสร้างระบบความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับโรงงาน แรงงาน และชุมชนโดยรอบ ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โรงงาน
“ตัวอย่างวันนี้ สะท้อนถึงการส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงแต่พื้นที่ในชุมชนใกล้เคียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปเป็นวงกว้าง ซึ่งมาตรการด้านความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานอาจยังไม่เพียงพอ การจัดระบบโรงงานด้วย Eco Industry Town จึงควรเกิดขึ้นในทุกโรงงาน แม้กระทั่งโรงงานระดับ SME ทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการก้าวสู่โรงงานที่เกื้อหนุนและสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายใต้ตความรับผิดชอบต่อสังคม”
อย่างไรก็ตามการดำเนินการแก้ไขเฉพาะหน้า คือการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง สภาอุตสาหกรรมจ.สมุทรปราการ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของจังหวัดและรัฐบาลอย่างเต็มที่ ตามแนวทางที่วา “โรงงานอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ และเราจะไม่ทอดทิ้งกัน”