“มะขาม” ถือว่าเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ดูได้จากชื่อที่ปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัด แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับมะขามกำลังได้รับผลกระทบจากล้งต่างชาติที่เข้ามาซื้อผลผลิตตัดหน้าคนไทย เปลี่ยนสถานะจากลูกค้ากลายเป็นคู่แข่ง ด้วยเงินทุนที่มากกว่าทำให้ได้เปรียบล้งไทยในการกวาดซื้อมะขาม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมาซื้อต่ออีกที
เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่งผลให้นี้ล้งไทยที่ซื้อขายฝัก หรือแปรรูป เริ่มปิดกิจการ เพราะสู้ไม่ไหว ทั้งปัจจัยด้านการทำธุรกิจที่ต้องแบกภาระ ไม่ว่าจะเป็น การกู้เงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย, ค่าแรงคนงาน รวมถึงช่องทางการขายที่เหลือแต่ออนไลน์ แน่นอนว่าหากปล่อยเป็นไปเป็นแบบนี้ย่อมไม่ดีแน่นอน
คุณชัยวัฒน์ ศรีเทศ หรือคุณบอย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนน์ แทมมะรินด์ จำกัด และบริษัท ไนน์ เพชรบูรณ์ เทรดดิ้ง จำกัดผู้ประกอบการมะขามให้สัมภาษณ์กับ Smartsme ว่าปัญหาล้งต่างชาติมีมานานแล้ว โดยแต่ก่อนเป็นลูกค้าเรา แต่ตอนนี้กลับกันจากลูกค้ากลายเป็นคู่แข่ง โดยช่วงแรกล้งต่างชาติจะเข้ามาในลักษณะของลูกค้าเพื่อเข้ามาดูกระบวนการต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเมื่อรู้ช่องทางกลายเป็นตอนนี้ติดต่อโดยตรง ถึงขั้นจ่ายเงินกันล่วงหน้า เช่น ช่วยหามะขามให้ 100,000 กิโลกรัม ให้เงินไป 500,000 บาท
“ล้งจีน อินเดีย เวียดนาม ลาว เขมร จะซื้อมะขามเกรดรวม ไม่ต้องมาแปรรูปอย่างผม โดยต่างชาติจะซื้อเกรดรวมแล้วไปขายส่งทั่วโลกแทนคนไทย ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาขนส่งที่มีต้นทุนแพงกว่า”
คุณชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ล้งต่างชาติจะนำมะขามไปขายในราคาที่ถูกกว่าคนไทยส่ง อย่างเช่นล้งไทยจะส่งไปขายที่สหรัฐฯ ในราคา 5 ดอลลาร์ แต่จีนขายในราคา 3 เหรียญ ซึ่งถูกกว่า เมื่อเป็นแบบนี้ลูกค้าก็หันไปซื้อราคาที่ถูกกว่าทั้งที่เป็นมะขามจากจังหวัดเพชรบูรณ์ของประเทศไทย
พ่อค้าล้งคนไทยต้องไปขอแบ่งซื้อกับล้งต่างชาติหรือนอมินีคนไทยที่ไปซื้อให้ต่างชาติ ซึ่งเราแพ้ตรงต่างชาติที่เขาจ่ายเงินสด จ่ายล่วงหน้าตกเขียว ทำให้คุณภาพมะขามแปรรูปลดลงเนื่องจากล้งต่างชาติ ไม่ได้แยกกวานเปรี้ยว ไม่คัดขนาดฝัก ซื้อเกรดรวม
อนาคตล้งไทยจะเป็นอย่างไร
คุณชัยวัฒน์ พูดถึงเรื่องนี้ว่าการที่ล้งต่างชาติเข้ามาซื้อผลไม้ไทย มอง 1-2 ปี แรกก็จะดี เหมือนมีการแข่งขัน แต่พอล้งไทยเลิกกิจการ เพราะสายป่านด้านเงินทุนสู้ไม่ได้ รวมถึงต้องโดนเก็บภาษี แตกต่างจากล้งต่างชาติที่ไม่ต้องเสียอะไรสักอย่าง ทำให้ไม่มีต้นทุน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องนี้
โดยตอนนี้พ่อค้าล้งคนไทยต้องไปขอแบ่งซื้อกับล้งต่างชาติหรือนอมินีคนไทยที่ไปซื้อให้ต่างชาติ ซึ่งเราแพ้ตรงต่างชาติที่เขาจ่ายเงินสด จ่ายล่วงหน้าตกเขียว ทำให้คุณภาพมะขามแปรรูปลดลงเนื่องจากล้งต่างชาติ ไม่ได้แยกกวานเปรี้ยว ไม่คัดขนาดฝัก ซื้อเกรดรวม
“ทุกคนมองว่าการมีล้งต่างชาติ ล้งไทยแข่งขันในตลาดถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูด้วยว่านี่คือมวยคนละรุ่น ถ้าจดทะเบียนการค้าเหมือนกันก็ได้ แต่นี่ไม่ได้จดแต่ใช้นอมินีคนไทยซื้อให้”
คุณชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ล้งที่มาจากจีนเยอะที่สุด เอาตู้ หัวลาก ผ่านมาทางเชียงของ ซึ่งไม่รู้ว่าผ่านได้ยังไง เพราะมีภาษาจีนติดเห็นชัดเจน เมื่อผ่านมาแล้วทำให้สะดวกในการขนย้าย อีกทั้ง จีนยังมีความได้เปรียบเพราะเป็นประเทศที่มีอากาศเย็นทำให้มะขามที่ซื้อไปไม่เสียหาย
“การไปซื้อมะขามกับล้งจีนใช่ว่าจะได้คุณภาพดีมีทั้งหวาน ทั้งเปรี้ยว ผสมกันทั้งฝักเล็ก ฝักน้อย เราซื้อเกรด A แต่ได้เกรดรวม สุดท้ายก็ต้องซื้อเพราะมีภาระที่ต้องส่งให้กับลูกค้า”
ผลกระทบที่ตามมาเมื่อได้มะขามไม่เป็นตามที่ต้องการ
ด้วยคุณภาพที่ลดลงนำมาสู่การตำหนิจากลูกค้า โดยคุณชัยวัฒน์ พูดถึงเรื่องนี้ว่า สังเกตเห็นคุณภาพของมะขามเริ่มดรอปลงเรื่อย ๆ ลูกค้าเริ่มบ่นว่าทำไมมะขามถึงมีรสชาติเปรี้ยวบ้าง หวานบ้าง แตกต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งตนไม่สามารถจะเข้าไปคัดคุณภาพของมะขามได้เหมือนแต่ก่อนที่แยกมะขามเปรี้ยวกับมะขามหวานออกจากกัน
“มะขามกว่าจะมาถึงผมก็ทอดที่ 4 โดยเริ่มจาก 1.ชาวสวน 2.คนเหมาสวน 3.พ่อค้าคนกลาง (ล้งไทย) 4.ห้องเย็น 5.ล้งต่างชาติ แต่ตอนนี้ล้งต่างชาติข้ามไปที่ 1.ชาวสวน รวมถึงให้เงินส่วนที่ 2 และ 3 ด้วย”
คุณชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่าตอนนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจห้องเย็นที่ตอนนี้ไม่มีมะขามมาใส่ เพราะตอนนี้ล้งต่างประเทศได้มาซื้อเองกันหมดแล้ว แถมยังให้ราคาถูกกว่าล้งไทย
ปัญหานี้จะแก้อย่างไร
คุณชัยวัฒน์ มองว่าต้องสนับสนุนความต่อยอดให้วิถีเดิมของเรากลับคืนมา คือให้ผู้ประกอบการไทยมีซอฟต์โลนเพื่อจะได้ต่อสู้กับล้งต่างชาติได้ รวมถึงให้ล้งต่างชาติต้องจดทะเบียนมีตัวตน มีการเสียภาษี มีความแฟร์เท่าเทียมกัน สามารถตรวจสอบได้แม้จะใช้นอมินีคนไทยซื้อให้
“อยากให้มีซอฟต์โลนสำหรับผู้ประกอบการไทยไม่ว่าระดับไหนก็ตามที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับมะขาม จะใช้ต้นมะขามไปเป็นหลักประกัน หรือใช้มะขามในห้องเย็นเป็นหลักประกันได้ และให้ล้งต่างชาติจนทะเบียนเหมือนผู้ประกอบการไทย”