อายุความคดียักยอกทรัพย์ โดย ทนาย อำพล รัตนมูสิก


ปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนหนึ่ง คือ แรงงาน   เอ่อ…เกือบลืมสวัสดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและท่านผู้สนใจเรื่องกฎหมายทุกท่าน  ท่านทั้งหลายครับปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีมากจริงๆครับ   ผมจะทยอยเขียนให้ท่านได้เข้าใจและได้ระมัดระวังไว้ไม่ต้องไม่ซื้อประสบการณ์ด้วยราคาแพง   ดังที่ได้เรียนมาเมื่อฉบับที่แล้วครับ   กิจการเอสเอ็มอีหากว่าดำเนินกิจการไปผิดพลาดแล้วโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายมักจะแก้ไม่ได้เกือบทุกเรื่องจนมีอันต้องล้มเลิกกิจการไป

ฉบับนี้ผมขอนำเรื่องปัญหาจริงที่เกิดกับผู้ประกอบการแล้วทำให้กิจการย่ำแย่ไป   มีลูกความของผมรายหนึ่งอยู่แถวๆบางบอน กรุงเทพนี้เอายุยังน้อย  ประกอบกิจการผลิตปุ๋ย  จำหน่ายยาปราบวัชพืช  ศัตรูพืช อื่นๆจำพวกเคมีภัณฑ์ทางเกษตร  ตอนเริ่มกิจการใหม่ประมาณ 3 เดือนแรก  เจ้าของกิจการเองเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นเซลเดินสายขายสินค้าด้วยตนเองปรากฏว่าขายสินค้าได้ดี   มียอดจำหน่ายสินค้ามากมายทีเดียวจนกระทั่งผลิตปุ๋ยและจัดจำหน่ายไม่ทันใจลูกค้า   หลังจากนั้นเดือนที่ 4   เจ้าของกิจการจึงจ้างเซลแมนให้ไปขายสินค้าให้โดยมอบหมายให้ทั้งส่งสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าด้วย   ปรากฏว่าทางร้านขายสินค้าได้เป็นจำนวนมากจนกระทั่งเกือบ 1 ปีผ่านไป   สินค้าที่ขายไปไม่สามารถเก็บเงินได้จนกระทั่งความถึงทราบว่า  เซลแมนลูกจ้างเก็บเงินค่าสินค้าแล้วไม่ส่งแก่ทางร้านหลังจากตรวจสอบทางบัญชีพบว่าเซลได้ยักยอกเงินค่าสินค้าไปเป็นจำนวนหลายครั้งหลายรายการคิดเป็นเงินได้ประมาณ  1,400,000 บาท   มีใบส่งของเกือบหนึ่งร้อยฉบับทีเดียว    ทางเจ้าของกิจการจึงได้เรียกเซลแมนคนนั้นมาให้ชดใช้เงินคืนแต่เซลแมนไม่มีเงินคืนเงินให้   ทางเจ้าของกิจการจึงได้ให้มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้โดยระบุว่าได้รับเงินค่าสินค้าไปตามใบส่งของจำนวนกี่ฉบับ  และระบุว่าจะชำระเงินให้แก่ทางร้านภายในเวลา  3  เดือน    หลังจากครบกำหนดเวลาแล้วทางร้านก็ไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด  ตอนปัจจุบันนี้เจ้าของกิจการต้องไปกู้หนี้มาชำระเงินค่าสินค้าที่ได้เครดิตไว้เป็นจำนวนมากทำให้กิจการจวนเจียนอยู่หรือไปเป็นต้น

วิธีการแก้ไขคือต้องดำเนินคดีอาญาเอากับเซลแมนตัวแสบนี้ให้ได้   แต่เมื่อตรวจสอบข้อกฎหมายจะพบว่า  การที่เซลแมนรายนี้ยินยอมเจรจาและทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้ว่าจะชำระค่าสินค้าที่ยักยอกไปให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา  3  เดือนนั้นเป็นการถ่วงเวลาไว้ให้คดีอาญาหมดอายุความ  กล่าวคือ  ในคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์นี้จะมีอายุ  3 เดือนนับวันที่ผู้เสียหายรู้ว่าตนถูกยักยอกเงินและรู้ตัวผู้กระทำความผิด   คดีนี้อายุความคดีอาญาจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้  หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้จึงขาดอายุความ   ส่วนความแพ่งอายุความ 1 ปี  ตามมูลละเมิด   หากเราสามารถดำเนินคดีอาญาได้อายุความคดีแพ่งก็จะยาวขึ้นตามคดีอาญา  ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการมักเห็นว่าเมื่อเซลรับแล้วว่า ยักยอกเงินไปและจะคืนเงินให้ไม่เกิน  3  เดือนก็จะตายใจไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี

อย่างไรก็ดีต้องดำเนินคดีอาญาให้ได้   ดังนั้นเราต้องไปตรวจสอบใหม่ว่ามีใบส่งของฉบับใดบ้างที่ยังไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้   เมื่อพบแล้วให้ว่าจ้างทนายความฟ้องเซลแมนด้วยตนเอง  ผมย้ำว่าต้องหาให้ได้หากเซลแมนคนนั้นยอมติดคุกให้มันรู้ไป    ส่วนใหญ่มักกลัวและต้องหาเงินมาชำระหนี้ให้  และเซลหาเงินยังไม่ได้ก็ให้เจรจาหาหลักทรัพย์มาวางเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้   หรือบุคคลธรรมดาก็ได้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะลดลงไป

ขอส่งท้ายอีกเรื่องหากเกิดกรณีเราส่งของแล้วร้านค้าที่เราส่งของปิดร้านหนีหนี้อย่างนี้ก็มีให้เห็นมากมาย  คุณต้องเสียเวลาให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ร้านนั้นๆตั้งอยู่ข้อหาฉ้อโกง  อายุความเรื่องนี้ก็ 3 เดือนเหมือนกัน

ขอให้พิจารณาเรื่องเครดิตให้ดีนะครับ   ในยุคปัจจุบันนี้กฎหมายหากไม่เจอเข้าเต็มๆไม่มีใครกลัวกันหรอกครับ  ดูเรื่องเสาไฟฟ้าแรงสูง   หรือเรื่องขโมยตัดพืชผลทางการเกษตรก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ  เรื่องที่ผมนำเสนอฉบับนี้มีเพียงเท่านี้เรื่องอาจจะดูไม่สร้างสรรค์ซักเท่าไร   แต่เชื่อผมนะครับระมัดระวังไว้ให้ดีเรื่องกฎหมายทำจนกันไปหลายรายแล้วทีเดียว