การเช่า กับ การซื้อ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ? โดย ทนายอำพล รัตนมูสิก


   ในตอนนี้ผมขอขยับเข้าใกล้กิจการ  SME  เข้ามาอีกนิดหนึ่ง  เป็นเรื่องของทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ผมเป็นนักกฎหมายไม่ใช่นักลงทุน ดังนั้น หากมองในแง่ของการลงทุนระหว่างการเช่าทรัพย์ กับ การซื้อทรัพย์ อย่างไหนจะดีกว่า  ผมคงจะตอบได้ไม่ดีเป็นแน่  แต่หากมองในแง่ของนักกฎหมาย แน่นอน มันมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งเรื่องของการทำสัญญา  ซึ่งมักจะวุ่น ๆ  อยู่  ท่านผู้ประกอบกิจการ SME  ก็คงจะไม่เจนจัดเหมือนผมเป็นแน่  เอาละครับขอพูดเรื่องการเช่าและการซื้อในแง่มุมของภาษีก่อน  ท้ายสุดจะว่าเรื่องการทำสัญญา
 
   เอาละเริ่มเรื่อง ท่านต้องพิจารณาวางแผนกิจการของท่านให้ดีก่อน เรื่องการเช่า หรือการซื้อนั้น มันมักจะดีกันคนละตอน  กล่าวคือ  การเช่าทรัพย์มักจะดีตอนเริ่มต้นประกอบกิจการ  เช่น เช่าสถานประกอบการ เป็นต้น  ไม่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการลงทุนก็สามารถใช้สถานที่บุคคลอื่นทำกิจการ  ค่าเช่าก็สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกตอนเสียภาษี  การบำรุงรักษาก็แล้วแต่จะตกลงกัน  บางอย่าง เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร  รถยนต์  อย่างนี้เรามักจะไม่ต้องดูแลการบำรุงรักษา    หากทรัพย์ที่เช่าชำรุด   ก็เรียกผู้ให้เช่ามาเปลี่ยนเครื่องใหม่ เอาเครื่องคืนง่าย ๆ   แต่อย่างว่าผลเสียก็มีบ้างเหมือนกัน  เนื่องจากการเช่ามันมีราคาค่อนข้างแพง   อาจถึงขนาดสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  ไม่เหมือนการซื้อ  หากเป็นสถานประกอบการ ก็จะทำให้เราประกอบกิจการได้อย่างมั่นคง   การเช่า เราอาจถูกเจ้าของสถานที่ฮุบกิจการเราได้  เช่น  กิจการล้างทำความสะอาดรถยนต์  เป็นต้น
 
   แต่สำหรับเรื่องการซื้อทรัพย์นั้น  แน่นอนว่าจะดูดีแน่ ๆ   กิจการเราจะดูมั่นคงเป็นที่น่าเชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป รวมถึงลูกค้าของเราด้วย  แต่เรื่องสำคัญที่เราจะต้องผ่านให้ได้ ก็คือ  เงินลงทุนจะต้องใช้จำนวนมาก  และหากไปใช้เครดิตกับทางธนาคารพาณิชย์  ไม่ว่าจะเป็นธนาคารใด  ส่วนใหญ่มักจะบังคับให้ผู้บริหารทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้  นอกเหนือจากการเอาทรัพย์ที่ซื้อ เข้าจำนองด้วย  ด้วยเหตุนี้ ในยุคแห่งดิจิตอล  ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่  มักจะไม่ลงทุนซื้อทรัพย์กัน  แต่ยอมที่จะเช่าเอามากกว่า  แม้กำไรลดน้อยลง  ก็ยังดีกว่าที่จะเอาตัวไปเสี่ยงกับสถาบันการเงินในเมืองไทย   ที่คิดอ่านอาศัยกฎหมายเข้าเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการอยู่เรื่อยไป   แต่อย่างไรก็ดี  การซื้อทรัพย์  ยังมีข้อดีอยู่บ้าง  เช่น  ขณะตอนสิ้นปีงบประมาณ หากผู้ประกอบ  SME  มีกำไรงาม  หากไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ มาหัก  กิจการของท่านก็ต้องเสียภาษีดังระงมไปเป็นแน่ ที่สำคัญในปีหน้าหากท่านไม่ทำกำไรรับรองเจอคำถามจากสรรพกรแน่ๆหากตอบไม่ชัดก็มีหวังโดนตรวจสอบแหลก ทางออก ก็คือ  นำกำไรมาลงทุนซื้อทรัพย์สินไว้ก่อนการปิดงบดุล  และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี นั่นเอง
 
   เรื่องสุดท้ายที่จะเข้าทางถนัดของผมก็คือ  การทำสัญญา  ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าหรือสัญญาซื้อขายก็ดี  ต้องระมัดระวังเรื่องของผู้ทำสัญญา  ดูให้ดี ๆ หากเป็นบุคคลธรรมดา ต้องตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนให้เรียบร้อย  หากเป็นนิติบุคคล  เช่น บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน จะจำกัด หรือไม่จำกัด  ก็ตาม ต้องตรวจดูหนังสือรับรองนิติบุคคลให้เรียบร้อย  อย่าเกรงจง เกรงใจ  กลัวว่าเขาจะโกรธเรา  หาวาไม่เชื่อใจเขา  แต่หากเชื่อใจเขา โดยไม่มีข้อมูล จะทำให้เราทำงานโดยไร้หลักการและทิศทาง  ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่ความหายนะในอนาคต
 
   ต่อจากการตรวจดูเอกสารแล้ว  เรื่องรายละเอียดของสัญญา  โดยสัญญาเช่า เราจะเน้นถึงระยะเวลาแห่งการเช่า เป็นสำคัญ  สามารถทำสัญญาได้  3 ปี หากเช่าเกินกว่า  3  ปี  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดิน ที่ที่ดินตั้งอยู่   ค่าเช่าเป็นรายเดือน  และเรื่องการผิดสัญญา เช่น ผู้ให้เช่า มักจะไม่อนุญาตให้ผู้เช่านำทรัพย์ที่เช่าไปเช่าช่วง   เราจะไม่พูดถึงกิจการไม่ชำระค่าเช่า  แต่หากเป็นกรณีทำสัญญาไว้  3  ปี  แต่ผู้เช่า เช่าจริงเพียง  1  ปี  มักจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เช่าต้องชดใช้แก่ผู้ให้เช่า เรื่องนี้ต้องระมัดระวัง     ส่วนการซื้อขาย  หรือทำสัญญาจะซื้อจะขาย ก็ต้องระบุทรัพย์ที่ซื้อขายคืออะไร  ราคา   การชำระราคา  การผิดสัญญา  เนื่องจากหากเกิดกรณีราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น  ผู้ขายมักจะไม่ขาย เพราะราคาถูกไปอย่างนี้  จึงต้องบังคับให้มีการทำสัญญาไว้นะครับ
เอาล่ะครับ  สำหรับวันนี้คงจะพอเท่านี้ก่อน  คงจะได้พบกันอีกในฉบับต่อไป ขอบคุณมากครับ
 
 
                                                                                                                                                                ทนายอำพล  รัตนมูสิก