มหัศจรรย์แห่งโขนหน้าพระที่นั่ง โดย อ.มานิต รัตนสุวรรณ


     ครับ ไปดูมาเรียบร้อยแล้วครับ อภิมหานาฏกรรมแห่งปีของประเทศไทย ที่เรียกกันว่า “โขนสมเด็จ” ซึ่งแสดงเพียงปีละครั้งเดียว ยิ่งใหญ่อลังการ ตระการตา และยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี 
 
     ถ้าใครบอกว่าโขนไทยเชย ก็ให้รีบไปดูให้เห็นเป็นขวัญตา อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิตก็ยังดี (มีแสดงตั้งแต่เสาร์อาทิตย์นี้ จนถึง ๕ ธันวาคม) จะได้รู้ว่าเมืองไทยนี้มีของดีมีค่าที่ควรยกย่องไว้เหนือหัว ผมเห็นชาวต่างประเทศ ทูตานุทูต บุคคลสำคัญในประเทศไทยมากันแน่นขนัดเต็มโรง คนไทยที่ให้เกียรติและแต่งตัวอย่างสวยงามสมเกียรติกับการแสดงระดับชาติ ซึ่งมีแสดงเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ซึ่งต้องเรียกว่า “ระดับโลก” เพราะเฉพาะฉากก็เรียกเสียงปรบมือได้ทุกครั้งโดยเฉพาะฉากไฮไลท์ ซึ่งปีนี้แสดงตอน นาคบาศ ที่ยิ่งใหญ่สนุกสนานสมความตั้งใจของทีมงานระดับชาติจริง ๆ
 
     ผมเสียดายแทนคนไทยที่ยังไม่ได้ดูจริง ๆ ทั้งที่การแสดงบันลือโลกนี้มาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยว่า โขนซึ่งเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทยจะเสื่อมสูญไป ทั้งที่โขนเคยใช้เป็นการแสดงพระราชทานแก่พระราชอาคันตุกะของบ้านเมือง และเป็นที่ชื่นชมอย่างยิ่งเสมอมา จึงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูโขนให้กับคืนสู่ความนิยมของคนไทย และมีการแสดงครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๐  เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา
 
     ปรากฏว่ากลายเป็นมหาจินตนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระดับโลก เมื่อเป็นการรวมทีมศิลประดับชาติที่เก่งที่สุดในเมืองไทยมารวมกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทีมฉากที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ทีมแสงสีเสียงที่ทำงานคอนเสิร์ตระดับโลก ทีมเทคนิคและกลไกพิเศษ ที่เรียกเสียงปรบมือได้ยาวนานทุกครั้งทุกปี ที่ยิ่งกว่านั้นคือ เครื่องแต่งกายโขนที่ระยิบระยับ ออกแบบใหม่เอี่ยม จนเหมือนจิตรกรรมบนเวทีที่สุดยอด แต่ยิ่งกว่านั้น บรรดาดนตรี นักขับร้องและนักแสดงมือเยี่ยมจากกรมศิลปากร และนักแสดงที่คัดตัวจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ 
 
     ทราบว่าเป็นมหกรรมคัดตัวประจำปีที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้อะคาเดมีแฟนตาเซีย ปีนี้คัดมาจากผู้สมัครเข้าแข่งขันกว่า ๘๐๐ คนทั่วประเทศ ใครได้แสดงก็ถือเป็นเกียรติประวัติของสถาบันที่แข่งขันกันสุดฤทธิ์ นี่คือเบื้องหลังที่น้อยคนที่จะรู้ และหลายคนยังคงหลงใหลการแสดงค่าตัวแพงจากวัฒนธรรมตะวันตกยอมเสียเงินซื้อบัตรแพง ๆ และคิดว่าโขนไทยก็เป็นยังเป็นการแสดงเชย ๆ เคยดูมาแล้ว น่าเสียดายจริงๆ ของดีที่คนไทยทั้งชาติควรจะได้ดูได้ชม เป็นเกียรติประวัติในชีวิตสักครั้งก็ยังดี
 
     แต่วันนี้ “โขนสมเด็จ” ได้พลิกคำวิจารณ์อย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่แสดงในปีแรก ตอน พรหมมาศ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจนแน่นขนัดหอประชุมวัฒนธรรม ทุกรอบ จากปากต่อปากก็เรียกเสียงเรียกร้องให้แสดงซ้ำอีก จนกลายเป็น “วัฒนธรรม” แห่งการดูโขนยุคใหม่ ทำให้ยกกันมาทั้งครอบครัว ทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อคุณแม่ คุณหลาน และบัตรโขนก็ขายหมดอย่างรวดเร็ว
 
     จากชุดพรหมมาศ ในปีแรก ๒๕๕๐ ตามมาด้วยชุด นางลอยในปี ๒๕๕๓  ชุด ศึกมัยราพย์ ในปี ๒๕๕๔ ชุด จองถนน ในปี ๒๕๕๕ ชุดโมกขศักดิ์ ในปี ๒๕๕๖ แต่ละปีก็กลายเป็นการแสดงโขนฉากและแสงสีเสียงที่ยิ่งใหญ่ประจำปี กลายเป็นมหกรรมประจำปีที่ทุกคนรอคอยว่าปีต่อไปจะแสดงตอนอะไร จะมีฉากที่ยิ่งใหญ่อะไร เพราะจะมีไฮไลท์ที่เปลี่ยนไปทุกปี และปีนี้ คือ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ
 
     ครับ ได้รับเกียรติเชิญให้เข้าร่วมชมการแสดงอันยิ่งใหญ่นี้ทุกปี ด้วยบารมีจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย โดย “คุณแขก” นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัทสหศีนีมา ซึ่งผมเป็นกรรมการและกรรมการบริหารอยู่ คุณแขก เลยจัดบัตรให้ร่วมชมรอบเสด็จทุกปี ไม่ได้ขาด และผมก็ไม่เคยขาดเลย ชอบไปชมความยิ่งใหญ่ใหม่ ๆ เป็นบุญตาทุกปี
 
     ถ้าท่านที่ไม่ทราบว่าผมอยู่ในแวดวงการตลาดมากว่า ๓๐ ปี เกี่ยวข้องแต่เรื่องการค้าการขาย แต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการนาฏศิลป์ชั้นสูงนี้ได้ยังไง ก็อยากจะเล่าให้ฟังนิดหน่อยว่า 
 
     ผมเป็นคนที่รักโขนตั้งแต่เด็กครับ ครั้งหนึ่งได้ไปชมโขนกรมศิลป์ที่สนามโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กตัวกะเปี๊ยก บ้านอยู่สถานีรถไฟหนองโดน แต่คุณพ่อคุณแม่พาไปชมความยิ่งใหญ่ของโขนกรมศิลป์ ซึ่งผมเคยดูอย่างมากก็ลิเกบ้านนอก ซึ่งผมก็จะต้องไปนั่งแถวหน้าทุกครั้ง หรืองิ้วฉลองงานศาลเจ้าที่ผมก็จะไปดูทั้งที่ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ชอบตอนฉากใหญ่ที่มีแสงเฮ้ากวง แล้วก็รู้จักโจโฉ ขงเข้ง ตั้งแต่นั้น แต่วันที่ผมดูโขนกรมศิลป์ครั้งแรก ฉากที่ประทับใจที่สุดคือ ฉากยกรบ ที่มีขบวนยักษ์กับลิงออกมาเต็มเวที ราชรถสองคันที่ประจัญบานกันกลางเวที นั่นคือความประทับใจที่น่าตะลึงติดตาติดใจผมมาตั้งแต่เด็ก
 
     ปี ๒๕๓๔ ผมเป็นประธานบริษัท อยู่ที่บริษัทเอ็มจีเอ ซึ่งผมก่อตั้งขึ้นร่วมทุนกับ “อากู๋” คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และ “พี่เต๋อ” เรวัต พุทธินันท์ กำลังบุกเบิกวงการเทปเพลง และขายดีเป็นล่ำเป็นสัน ชนิดที่ดาราดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด ธงชัย อัสนี วสันต์ นันทิดา ฯลฯ จะแอบมาคุยขอตัวเลขยอดขายที่ห้องทำงานผมเป็นประจำ 
 
     วันหนึ่ง ผมก็ได้ต้อนรับคุณอนันต์ อัศวโภคิณ ซึ่งสนิทกันดีเพราะผมแอบไปช่วยงานให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์ในรุ่นบุกเบิก จนคิดสโลแกน “หนึ่งในโครงการแลนด์แอนด์เฮ้าส์” ให้
 
     คุณอนันต์ ถามผมว่า ทราบข่าวว่าคุณมานิต สนใจเรื่องโรงละครมานาน ผมบอกใช่ครับ เป็นความฝันของผมตั้งแต่เด็ก พอมาเป็นครีเอธีฟในวงการโฆษณา และมายุคในวงการเพลง วงการคอนเสิร์ต ก็ยิ่งสนใจเรื่องนี้ มีอะไรหรือ
 
     คุณอนันต์ ก็เล่าโครงการ พลิกฟื้นตลาดมิ่งเมือง แถวพาหุรัด ให้กลายเป็นตลาดที่ทันสมัย ตามอาชีพของแก แต่มีปัญหาคือ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งช่วงนั้นทรุดโทรมมาก เพราะตอนนั้นทีวีมาแรง และคนดูภาพยนตร์น้อย ถามว่าคุณมานิตสนใจไหม เพราะอยู่ในบริเวณตลาดมิ่งเมืองนี้ที่จะต้องพัฒนาด้วย ผมก็บอกเอาซิ แต่ผมไม่มีสตางค์นะ มีนิดหน่อย คุณอนันต์ก็ยื่นมือให้จับบอกเรื่องนั้นไม่ต้องห่วง เรามาร่วมกัน และนั่นก็คือ กำเนิดโครงการมิ่งเมือง ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น “โอลด์สยาม” และศาลาเฉลิมกรุงยุคใหม่
 
    ปัญหาใหญ่ประการแรกก็คือการไล่ที่คนเก่าที่อยู่มานานแล้วไม่ยอมออก ต้องสู้กันถึงศาล เพราะได้ค่าเช่าถูกมาเกือบ ๕๐ ปี แต่สภาพตลาดต้องรื้อทิ้งใหม่หมด ผมก็เลยกลายเป็นทีมงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ อาศัยความรู้เก่าสมัยเครือซิเมนต์ไทย ทำงานร่วมกับทีมงานแลนด์แอนด์เฮ้าส์ คุณขจรศักดิ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์เรียนปริญญาโทกับผมที่จุฬาฯ (ตอนนี้บวชเป็นหลวงพี่อยู่วัดพระธรรมกาย) และอีกท่านคือ คุณวิชา วรมาลี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายที่สำนักงานทรัพย์สินฯ  ผมก็กระโดดเข้าไปช่วยเต็มที่เพื่อแลกกับที่ผมจะได้ทำศาลาเฉลิมกรุงที่ผมรัก เป็นงานที่ไม่มีเงินเดือน ทำด้วยใจรักจริง ๆ แถมลงหุ้นด้วยอีกนิดหน่อยอีกต่างหาก
 
     เราใช้งบประมาณ ๑๐๐ ล้านบาทในการปรับปรุงโรงซึ่งต้องทำใหม่หมด ตั้งแต่หลังคาเก่า ไปจนถึงปรับโครงสร้าง อายุกว่า ๖๐ ปี ต้องรื้อพื้นโรงออกหมด ติดตั้งที่นั่งใหม่ ขยายเวที ให้กว้างออกมาอีก ๓ เมตร ติดตั้งไฮโดรลิค ยกเวทีขึ้นมาได้ เปลี่ยนผ้าม่าน ตกแต่งฝาด้วยไหมสวยงาม สรุป คือ ทำใหม่ทั้งโรง ติดตั้งเครื่องเสียง ลำโพงที่ดีที่สุด เลือกอุปกรณ์แสง สี เสียง เอง มีแม้กระทั่งเครื่องฉายเลเซอร์ที่ทันสมัย สุดท้ายกลายเป็นโรงละครและภาพยนตร์ยุคใหม่ ที่สวยงามที่สุด (ต่อมาได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์แห่งปีจากสมาคมสถาปนิกสยาม รับรางวัลจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ ในจิตรลดา)
 
     ครับ ๓ ปีเต็มที่ผมตะลุมบอนในการสร้างโรงละครใหม่ ทันสมัย อยู่ดึก ๆ ชนิดตีหนึ่งตีสอง เป็นประจำ บางคืนก็อยู่คนเดียวกับโรงละครเก่า ซึ่งมี ศาลถึงเจ็ดศาล มีเจ้าพ่อดำ ที่ลือลั่น แต่ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร ในขณะที่ลูกน้องวิ่งกลับบ้านหมดแล้ว สรุป ผมก็กลายเป็นนักทำโรงละครไปโดยบังเอิญ แต่ไม่กลัวเพราะมีสุดยอดฝีมือเป็นพี่เลี้ยงรอบข้าง
 
     แน่นอน การแสดงที่ผมฝังจิตฝังใจ คือ การแสดงโขน ที่จะต้องกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยแสงสีเสียงระดับโลก ผมต้องวิ่งไปกราบกรานครูบาอาจารย์ทั้งที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ และคนในวงการ โชคดีที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยยุคนั้น คือ อาจารย์เปี๊ยก ศิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ซึ่งเห็นการณ์ไกลมาก และสนับสนุนเต็มที่ (ต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรและปัจจุบันเป็นอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) และร่วมมือทำกันจนสนิทสนมมากมาถึงปัจจุบัน
 
    ครับ ผมก็ได้มีโรงละครสมใจ ทำด้วยมือตนเอง กำกับแสงสีเสียง และเทคนิคฉาก ด้วยตนเองร่วมกับทีม และเปิดการแสดงโขน ที่ผมเรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” เป็นการแสดงที่ผมคิดว่าสุดอลังการในยุคนั้น สร้างความฮือฮาในวงการ และทีวี หลายช่องก็เชิญผมไปออกรายการ 
 
     ที่สุดยอด คือ ช่อง ๗ สีของคุณสุรางค์ เปรมปรีด์ “คุณนายแดง” ทำรายการชื่อ “จันทร์กระพริบ”พิเศษ เรื่องพลิกโฉมศาลาเฉลิมกรุง ทำเป็นแบบ Phantom of the opera สัมภาษณ์ผม โดยคุณผุสชา โทณะวนิก และแสดงละคร โดยคุณมนตรีเจนอักษร และคุณ “กบ” สุวนันท์ คงยิ่ง ดาราดังช่วงนั้น ทำได้ดีมาก แถมผมขอให้พี่อารีย์ นักดนตรี ผู้ช่วยงานละครผมนำการแสดงละคร “ศรอนงค์” ที่จะลงโรงช่วงนั้นควบคู่กันไปกับการช่วยโปรโมตศาลาเฉลิมกรุงยุคใหม่ ขอบคุณทุกคนจริง ๆ
 
     ผมเปิดการแสดงโขนจินตนฤมิตได้ ๑๐๐ รอบ ผมยืนกำกับเองทุกรอบ นักแสดงเป็นร้อย ๆ ที่แสดงกันอย่างสุดฝีมือ ฉากที่อลังการ ๑๐ ฉาก เป็นการแสดงแบบจบในตอนเดียว แบบที่ผมไปเห็นมาที่บาหลี เขาเล่นรามเกียรติ์จบในตอนเดียว ตั้งแต่พระรามตามกวาง ไปจนถึงยกรบ แล้วเอานางสีดาคืนกรุง เพราะฝรั่งเขาก็รู้เรื่องรามายณะ ไม่เหมือนรามเกียรติ์ไทยที่เล่นเป็นตอน ๆ ผมคิดว่า ผมทำได้ดีที่สุด แต่ปรากฏว่าคนเข้าดูน้อยมาก ผมไปวิ่งบริษัททัวร์ที่ใหญ่ที่สุด คุยกันพูดดีมาก จะส่งทัวร์มาดู แต่ รอบหนึ่งมีคนดูไม่ถีงร้อยคน 
 
     สุดท้ายผมก็ต้องยอมรับว่าสู้อิทธิพลบริษัททัวร์ไม่ไหว เขาส่งคนไปโรงนวด ไปซื้อเพชร ไปกินอาหารตามร้านที่เขาได้เปอร์เซนต์มากกว่า ผมก็เลยขออำลาจากศาลาเฉลิมกรุง เพราะทำงานแบบไม่มีเงินเดือนและสู้จนหมดแรงแล้ว และทาง สำนักงานทรัพย์สิน ก็ให้ลูกน้องผม คือ คุณแขก นฤมล ล้อมทอง หัวหน้าฝ่ายบัญชี นี่แหละ ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการต่อจากผมเพราะช่วยกันมาตลอดจนรู้ใจกัน
 
     แต่ปรากฏว่าคุณแขก ได้รับการสนับสนุนผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ให้ทำต่อ เพราะท่านผู้อำนวยการทรัพย์สินฯ ดร.จิรายุ อิศรางกูร เห็นสิ่งที่พวกเราช่วยกันสู้เพื่อวงการโขน เห็นคุณค่าศิลปชั้นสูงแห่งชาตินี้กำลังจะสูญหาย มีการปรับระบบการบริหาร ยุบบริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศน์ และผมก็ได้รับเกียรติให้เข้าเป็นกรรมการบริษัทสหศีนีมา ซึ่งเป็นเจ้าของโรงตั้งแต่แรกเริ่ม 
 
     จากนั้น คุณแขก ก็สามารถนำนาวาเฉลิมกรุง ทำงานต่อมา แสดงมาจนทุกวันนี้ เพื่อยืนหยัดในหลักการเดิม แต่ที่สุดยอด คือ การนำทีมโขนเฉลิมกรุงไปแสดงต่างประเทศ และออกแสดงต่างจังหวัด จนมีผู้ชมล้นหลามนับพัน ๆ คน ทั่วประเทศ กลายเป็นนาฏกรรมชั้นสูงที่แสดงโชว์แสงสีเสียงในระดับนานาชาติและทั่วประเทศ ผมต้องชื่นชมจริง ๆ แต่เบื้องหลัง บุคคลที่ผมจะเว้นกล่าวถึงมิได้ คือ คุณ “จันท์” จันทนี ธนรักษ์ รองราชเลขาธิการ ที่ชอบศาลาเฉลิมกรุงมาก และแอบเข้ามาช่วยคุณแขก จนงานไปถึงระดับโลกและทั่วประเทศและช่วยอยู่จนทุกวันนี้
 
     ที่เล่ามาทั้งหมด ก็มาจากเสียงหวานมาตามสายของคุณแขก อาจารย์ขา “โขนสมเด็จ” มาแสดงอีกแล้วค่ะ แล้วก็จัดบัตรไว้ให้สองใบ และผมก็ต้องรีบวิ่งหน้าตั้งมาจากชลบุรี เพราะตอนเช้าไปทำพิธีบวงสรวง เพื่อ สร้าง “หอเกียรติคุณวีรบุรุษแห่งชาติ” แต่งานนี้ขาดไม่ได้ เพราะ สมเด็จพระเทพฯ ท่านเสด็จฯแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ และบรรดาคนในรัฐบาล และทูตานุทูต แน่นขนัด และก็ได้ชมการแสดงยิ่งใหญ่สมใจ ผมเห็นอาจารย์เปี๊ยก ศิริชัยชาญ ขึ้นรับช่อดอกไม้ จากสมเด็จพระเทพฯเป็นคนสุดท้าย (ความจริงอาจารย์เปี๊ยก เป็นพระอาจารย์ใกล้ชิด ถวายงานพิณพาทย์ให้พระองค์ท่านมานานแสนนาน) แต่คนแน่นมาก เวลาพักแทบจะไหลไม่ต้องเดิน ทักทายกันไม่ไหว แต่ชอบมากเพราะทุกคนแต่งตัวใส่สูทและชุดไทยสวยงาม สวยทั้งโรง เหมือนวัฒนธรรมการละครในต่างประเทศ เขาจะให้เกียรติด้วยการแต่งตัวเรียบร้อยแบบเต็มยศ
 
     ครับ ถือโอกาสรายงาน “วันกู้ชาติ” ๖ พฤศจิกายน ๒๓๑๐ ที่ผมไปขึ้นป้ายที่ กม.๑๐๘ เพื่อสำนึกพระมหากรุณาธิคุณและสมเด็จพระเจ้าตากสินและทหารเสือของพระองค์เมื่อ ๒๔๗ ปีที่แล้ว กลายเป็นมหาวีกรรมที่โลกลืม ลืมจริง ๆ ผมเกรงว่าจะมีคนเข้าใจผิดในทางการเมือง ผมก็เลยทำบุญเลี้ยงพระในหมู่พวกผมไม่กี่คนเพื่อส่งบุญถึงทหารเสือ วีรบุรุษ ๕.๐๐๐ คนในประวัติศาสตร์ และไม่เชิญใครเลย
 
     จริง ๆ ผมเตรียมทำพิธีบวงสรวงขออนุญาตและบารมีดวงวิญญาณพระองค์ท่านและเหล่าทหารเสือ โดยเชิญพราหมณ์ คือ ท่านคีษณพันธ์ รังสิพราหมณกุล จากกรุงเทพ (โดยความช่วยเหลือจากคุณแขก เฉลิมกรุง) ไปทำพิธีอย่างสวยงามถูกต้อง เพื่อขออนุญาตสร้าง “หอเกียรติคุณ วีรบุรุษกู้ชาติ ทหารเสือพระเจ้าตาก” ที่หลัก กม.๑๐๘ สุขุมวิท (สายเดิม) หนองมน บางแสน ชลบุรี เป็นอาคารหลังเล็ก ๆ อยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์เล็ก “เค มอลล” ที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้
 
     ขนาดไม่เชิญใคร ปรากฏว่า เกิดเรื่องจริง ๆ เมื่อสองวันก่อนมีงาน มีทหารยกหน่วยปฏิบัติการพิเศษมาสิบกว่าท่านมาตรวจที่ป้ายใหญ่ของผม เพราะมีคนแอบโทร.ไปบอกว่า จะมีหน่วย นปช.มาชุมนุมแถวนี้ มีการชักธงแดงด้วย เล่นเอาตกใจเล็กน้อย แต่หลังจากเคลียร์กัน อาจารย์สมศรี ศรีจรรยา ซึ่งดูแลแทนผมอยู่ที่นั่น ได้อธิบายกับนายทหารยศพันเอก ปรากฏว่าเข้าใจกันดีและแถมยังบอกว่า ไม่มีอะไรครับ พูดจาเรียบร้อยมาก ทำต่อไปเถอะครับ ผมก็เคารพพระเจ้าตากสินเหมือนกัน เฮ้อ โล่งอกไป
 
     เพราะธงแดงที่เขาพูดถึง คือ ธงชาติไทยเก่า ที่ผมขึ้นบนป้าย เพื่อรำลึกถึงวีรชน วีรบุรุษเมื่อ ๒๔๗ ปีที่แล้ว ยุคนั้นใช้ชื่อประเทศสยาม ผมก็เลยสร้างบรรยากาศ แต่วันนี้มีคนเสี้ยมให้เกิดเรื่อง ผมก็เลยพูดโทรศัพท์กับท่านบอก ดีเหมือนกันครับ วันงานผมเชิญด้วยนะครับ ถ้ามีใครมาสวมรอยและก่อเรื่องวุ่นวาย ช่วยให้ทหารของท่านเชิญออกไปด้วยนะครับ ถือว่า เป็นแขกที่มิได้รับเชิญ ท่านพูดจาดีบอกผมเข้าใจแล้ว ไม่มีปัญหา
 
     จริง ๆ ผมเชิญแขกพิเศษคนเดียว เป็นเพื่อนสนิทผมเอง ซึ่งเป็นนายทหารเรือ นอกราชการ คือ นต.ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รน. เพราะผมคิดว่า งานนี้น่าจะทหารเรือเป็นประธาน แต่งตัวเต็มยศเพื่อให้เกียรติพระองค็ท่าน ปรากฏว่า ดร.วุฒิพงศ์ ก็รับด้วยความเต็มใจ เพราะลึกไปยิ่งกว่านั้น คุณย่าของแก ก็นามสกุล อินทรกำแหง ณ ราชสีมา เรียกว่าเป็นเชื้อสายเหมือนกัน ก็ตรงสเปคผมเลย เพราะผมเป็นแค่อาตี๋น้อยธรรมดา ที่คิดนอกกรอบ จะสำนึกในพระคุณของพระองค์ท่าน 
 
     ก็จะได้แค่อาคารหลังน้อย ๆ นี้แหละ (กำลังออกแบบอยู่) อีกสักปีกว่าก็คงจะเสร็จนะครับ ปีหน้าถ้าเสร็จ ผมก็คงจะฉลองวันกู้ชาติทุกปี ได้สวยงามยิ่งใหญ่กว่านี้ รายละเอียดในอาคารหลังนี้ ผมจะเล่าให้ฟังทีหลังนะครับ ส่วนใครไม่ได้รับเชิญปีนี้ ปีหน้ามากันได้เต็มที่นะครับ
 
     พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ
 
                                                                                                                       อ.มานิต รัตนสุวรรณ
                                                                                                                       Manit88@hotmail.com  
                                                                                                                       www.smatmarketing.com