บทบาทผู้นำที่เรียกได้ว่า “ใช่เลย”


บทบาทผู้นำที่เรียกได้ว่า “ใช่เลย”

 

โดย อ.สุรวัฒน์  ชมภูพงษ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

                เมื่อคราวก่อนผมได้เคยพูดถึง “ศรัทธา” ที่จะต้องทำให้บังเกิดขึ้นในตัว “ผู้นำองค์กร”  จึงจะสามารถทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น ก้าวหน้าและแสดงถึงวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องในการนำไปสู่เป้าหมายอย่างแท้จริง มาถึงคราวนี้ผมอยากจะเรียนว่า การเป็นผู้นำนั้นเป็นได้ไม่ยาก แต่ถ้า    จะเป็นผู้นำที่ดีที่พอใคร ๆ เห็นหรือเอ่ยชื่อถึงแล้วทุกคนพากันร้องว่า “ใช่เลย” นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นะครับ เพราะคุณสมบัติดังกล่าวที่จะต้องมีและสำคัญมากคือจะต้องสามารถ “ครองใจ” ลูกน้องได้เพื่อที่จะทำให้เกิด “การทำงานเป็นทีม” และ “การมีส่วนร่วม” อย่างแท้จริง อันจะช่วยนำพาองค์กรให้เติบโต และนำไปสู่ความสำเร็จตามที่ได้กำหนดนโยบายหรือวางแผนเอาไว้

                เราลองมาพิจารณาดูซิครับว่าคุณสมบัติเหล่านั้นมีอะไรบ้าง? และหากท่านเป็นหรือคิดจะเป็น “ผู้นำ” องค์กรท่านมีคุณสมบัติเหล่านั้นเพียงพอแล้วหรือยัง ดังต่อไปนี้คือ

                1)     ต้อง “เสียสละ”

                        เสียสละในที่นี้หมายถึง เสียสละเพื่อประโยชน์ขององค์กรและเพื่อประโยชน์ของลูกน้อง แม้จะต้องทำงานหนักมากขึ้นอีกสักหน่อยแต่เพื่อประโยชน์และความสำเร็จขององค์กรแล้วผู้นำที่ดีก็ย่อมเต็มใจและทำงานเต็มที่ รวมทั้งเต็มตามกำลังความสามารถ เพราะหากลูกน้องเห็นผู้นำมีพฤติกรรมแบบเช่นว่านี้แล้วพวกเขาก็จะเต็มที่เพื่อองค์กรเช่นกัน

                2)     ต้องมี “คุณธรรม”

                        ไม่คิดหา “ผลประโยชน์” เพื่อตนเองและพวกพ้อง คนทุจริตคิดมิชอบหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้โกง” นั้นย่อมคิดหาผลประโยชน์ใส่ตนเองและพวกพ้องทุกที่ทุกเวลา พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการทำลายองค์กรอย่างร้ายแรงที่สุด

                3)     ต้องกล้า “ตัดสินใจ”

                        หากลังเลหรือไม่กล้าในการตัดสินใจอาจทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักและมีปัญหาตามมาได้  ที่สำคัญคืออาจทำให้ลูกน้องและผู้ที่ติดต่อธุรกิจด้วยเกิดความไม่เชื่อมั่นจนธุรกิจเกิดความล้มเหลวได้

                4)     ต้องมี “ความรับผิดชอบ”

                        เพื่อเป็นการแสดงถึง “วุฒิภาวะ” ของผู้นำองค์กร ดังนั้นผู้นำจึงต้องรับผิดชอบต่อความผิดของตนเองและลูกน้อง ดังคำกล่าวที่ผู้นำที่ดีพึงกล่าวคือ “คุณทำ… ผมรับผิดชอบเพราะผมเป็นหัวหน้าของคุณ” เพื่อให้ลูกน้องกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

                5)     ต้องคิดว่า “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้”

                        นั่นคือ “อย่าตีตนไปก่อนไข้” ผู้นำที่ดีไม่ควรเป็นคนวิตกจริต กังวลถึงปัญหาต่าง ๆ จนเกินเหตุ ต้องพร้อมที่จะค้นคว้าแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม (Innovation) และความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ

                6)     ต้อง “เปิดเผย”

                        การสื่อสารที่ดีจะสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรในองค์กรโดยจะต้องมีท่าทีที่จริงใจและเปิดเผยในเรื่องต่าง ๆ ที่ลูกน้องควรได้รู้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและการสร้างสถานการณ์       “ข่าวลือ” อันจะทำให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า

                7)     ต้อง “ทำผิดบ้างก็ได้”

                        ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะไม่เคยผิดพลาด คนที่ตำแหน่งใหญ่มาก ๆ ยิ่งทำงานมากยิ่งมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้มาก คนความรู้สูงกว่าปริญญาเยอะกว่าก็ไม่สามารถปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้ แต่เมื่อผิดพลาดแล้วต้องกล้าพอที่จะยอมรับและเรียนรู้ที่จะไม่กระทำผิดซ้ำอีก

                8)     ต้อง “อ่อนน้อมถ่อมตน”

                        ไม่วางท่าทางใหญ่โตโอหัง ไม่เย่อหยิ่งจองหองหรือเที่ยวระรานผู้อื่นหรือลูกน้องของตนเอง ยอมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากลูกน้องเพื่อที่จะได้มีความหลากหลายในความคิดเห็นจะได้นำมาประยุกต์หรือใช้ในการตัดสินใจเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด

                9)     ต้อง “เข้าถึงง่าย”

                        อย่าเป็นคนลีลาเยอะมากจนคนใกล้ชิดรู้สึกว่าเข้าถึงยากเหลือเกิน เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ คนก็ไม่อยากเข้าใกล้ อะไรดี ๆ ที่ควรจะได้รู้ก็จะไม่ได้รู้ อะไรที่จะได้ทำก็จะไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ เพราะปราศจากข้อมูลที่แท้จริง

                10)   ต้องเป็น “คนสุดท้ายที่ได้รับคำชม”

                        รู้จักขอความเห็นเช่น “คุณคิดอย่างไร?” เมื่อลูกน้องคิดเหมือนเรา หรือดีกว่าเราก็รีบยกให้เขาเป็นพระเอกนางเอกไปเสียเลย เขาจะได้ทำงานแบบเต็มที่ คำชมที่อาจเกิดขึ้น   ยกให้ทีมงานหรือลูกน้องของเราก่อน ลูกน้องจะได้มีกำลังใจและตั้งใจทำงานมากขึ้น

                จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้นำองค์กรศึกษาทบทวนดูว่ามีอะไรบ้างที่เราได้ทำแล้ว อะไรบ้างที่เรายังไม่ได้กระทำและควรที่จะรีบกระทำเพื่อให้เกิด “ภาวะผู้นำ” ที่แท้จริงในการนำองค์กร การรู้จักใช้คนและให้กำลังใจคนโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล แต่ถ้าใช้คนไม่เป็นหรือผิดประเภทก็จะสิ้นภาวะผู้นำทันที ดังคำกล่าวของ Albert Einstein ที่ว่า