กิจการ SME กับเรื่องของบัญชีกับภาษี ตอน กฎหมายใหม่เกี่ยวกับบัญชีและภาษี : พรรณี วรวุฒิจงสถิต


ขอย้อนความเดิมเริ่มแรกที่เราเคยคุยกันในเรื่องของบัญชีกับภาษีว่ามีความสำคัญต่อกิจการ SME เป็นอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการกลับปล่อยให้เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้ทำบัญชี หรือสำนักงานรับทำบัญชี โดยที่ผู้ประกอบการไม่พยายามทำความเข้าใจกับงบการเงินที่ผู้ทำบัญชีจัดทำขึ้นเพื่อนำไปยื่นต่อหน่วยงานราชการตามกฎหมาย สาเหตุที่ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจ  อ่านงบเป็น ก็เพราะหน้าที่ความรับผิดชอบในงบการเงินเป็นของผู้ประกอบการไม่ใช่ผู้ทำบัญชีนั่นเอง อีกทั้งการเข้าใจงบการเงินจะช่วยทำเงินให้เราได้ด้วย  เรายังคงคุยกันค้างไว้ว่าจะทำความเข้าใจงบการเงินอย่างไร  แต่เนื่องจากมีการประกาศกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้อง  งวดนี้จึงยังคงพักเรื่องอ่านงบ  วิเคราะห์งบการเงินไว้ชั่วคราว  เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ติดตามข่าวสารล่าสุด  จากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีและภาษีทั้งที่ได้ประกาศใช้แล้ว และอยู่ระหว่างการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ  ซึ่งจะนำมาเล่าให้ฟัง เพื่อผู้ประกอบการจะได้รู้และมีเวลาเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า  เมื่อมีการประกาศใช้ ก็จะไม่มีปัญหา

 

เรื่องแรกที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องต่อเนื่องกับครั้งก่อน  ในเรื่องของภาษีเงินได้คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใข่นิติบุคคลที่ปัจจุบัน มีการเสียภาษีเงินได้สองทอด ทอดแรกเสียในนามคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใข่นิติบุคคล  ทอดที่สองเมื่อมีการแบ่งเงินกัน  เงินส่วนแบ่งดังกล่าวต้องนำมาเป็นเงินได้ของหุ้นส่วนแต่ละคน และจะต้องเสียภาษีเงินได้อีกครั้งหนึ่ง   ล่าสุดได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558  อนุมัติให้ยกเว้นเงินส่วนแบ่งกำไรที่เกิดจากรายได้บางกรณีไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ส่วนตัวซ้ำอีก  นั่นแปลว่า เมื่อคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใข่นิติบุคคล ได้เสียภาษีเงินได้แล้ว เมื่อนำเงินมาแบ่งส่วนแบ่งไม่ต้องนำมาเสียภาษีอีกทอด แต่กรณีนี้ยกเว้นให้เฉพาะเงินได้ 2 ประเภทได้แก่

 

1.เงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมที่ได้รับมาจากมรดกหรือการให้

2.เงินได้จากการฝากเงินเพื่อได้ดอกเบี้ยรับ (กรณีนี้ต้องดูว่าประกาศกฎกระทรวงที่จะออกมาบังคับใช้กับเงินฝากร่วมกันทุกกรณีหรือเฉพาะเครือญาติหรือมิใช่เพื่อการค้า)

เงินได้สองประเภทข้างต้นเมื่อเสียภาษีในนามคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใข่นิติบุคคลแล้ว  เมื่อนำเงินได้มาแบ่งกัน  ส่วนแบ่งดังกล่าวไม่ต้องนำมาเป็นรายได้ของแต่ละคนอีก อย่างไรก็ตามต้องรอประกาศกฎกระทรวงถึงเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นต่อไป

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558  ครม. ได้อนุมัติร่างกฎหมายเกี่ยวกับภาษีหลายเรื่องได้แก่

1.  ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20  ให้เป็นการถาวร

2.  ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและ รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับช่วงกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาทให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิชองสองรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน เริ่ม 1 มกราคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559  สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหลัง 31 ธันวาคม 2559   ให้ใช้อัตราต่อไปนี้

กำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300.000 บาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ร้อยละ 15

กำไรสุทธิส่วนที่เกิน  3 ล้านบาท ร้อยละ 20

3.  ส่งเสริมกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital)  ที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการ  โดยให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินปันผล สิทธิประโยชน์ผู้ร่วมลงทุน สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

4.  มีมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  อาทิเช่น  ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้ซื้อบ้านที่มีรายได้น้อยหรือปานกลางให้กู้ได้ง่ายขึ้น  และยังให้สิทธิประโยชน์กับผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน  3 ล้านบาท  รัฐจะให้ส่วนลดร้อยละ 20 โดยให้นำส่วนลดดังกล่าวมาลดรายได้ในการเสียภาษีเฉลี่ยภายใน 5ปี  เช่นสมมุติบ้านราคา 3 ล้านบาท ส่วนลดร้อยละ 20 เท่ากับ 600,000 บาท เฉลี่ย  5ปีเท่ากับปีละ 120,000 บาทที่จะนำไปลดเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ประกาศ  นอกจากนี้ยังมีการลดค่าธรรมเนียมในการโอน และค่าจดจำนอง เหลือร้อยละ 0.01 อีกด้วย

 

สุดท้ายนี้ขอกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางบัญขีบ้าง  ปัจจุบันกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะหรือกิจการส่วนตัว กฎหมายให้ทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีที่เรียกย่อ ๆว่า  NPAE ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กิจการ SME ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  แต่เนื่องจากก้าวเข้ายุค AEC  การบัญชีก็จำเป็นต้องมีมาตรฐานในระดับสากลที่เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ  ด้วยเหตุนี้ทางสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงจะประกาศใช้มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะใหม่   โดยนำมาตรฐานการบัญชีสากลที่เรียกว่า IFRS for SME  มาใช้ในบ้านเรา คาดว่าคงเริ่มใช้ในปี 2560 เป็นต้นไป

 

มาตรฐานดังกล่าวจะทำให้งบการเงินของกิจการ SME  เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือได้ในระดับสากล  เป็นประโยชน์ทำให้ผู้ใช้งบการเงินที่เป็นสถาบันการเงินจะให้เงินกู้ได้ง่ายขึ้น   สรรพากรที่ดูงบเพื่อการจัดเก็บภาษีก็ให้ความเชื่อถือต่อข้อมูลในงบมากขึ้น  คู่ค้า ลูกค้า โดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาติก็ให้ความเชื่อถือต่องบการเงินของกิจการมากขึ้นเช่นกัน  เนื่องจากมาตรฐานการบัญชีที่ใช้จะเป็นระดับสากล   ซึ่งสมาชิก AEC  ส่วนใหญ่ก็ได้นำมาตรฐานการบัญชีนี้มาใช้กับกิจการ SME ของเขาเช่นกัน 

 

ถ้าถามว่ามาตรฐานการบัญชีใหม่สำหรับกิจการ SME ที่จะประกาศใช้ยุ่งยากมากน้อยเพียงใด  ก็ต้องบอกว่าคงยุ่งยากมากขึ้นเมื่อเทียบกับชุดเดิม NPAE  แต่ถ้าเทียบกับมาตรฐานบัญชีของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า กิจการ PAE  แล้วก็ง่ายกว่า  ดังนั้นถ้าผู้ทำบัญชีคุ้นเคยกับบัญชีกิจการ PAE ก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด    งวดหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าบัญชีกิจการ SME  ที่จะประกาศใช้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย