แบรนด์สปาดังระดับโลก : ภารุดารัศมิ์ เบญญจินดาพิศุทธ์


ช่วงนี้อาจารย์มีลูกศิษย์คนไทยจากหลายประเทศติดต่อเข้ามาว่ากำลังจะเปิดธุรกิจสปาที่ประเทศนั้นๆ ต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะประสบความสำเร็จ แข่งขันกับเจ้าอื่นๆ ได้ ทำให้คิดว่าคนไทยเรานี่ไม่ธรรมดาเลย เผยแผ่วัฒนธรรมไทยไปทั่วโลกจริงๆ

 

การทำธุรกิจสปา ผลิตภัณฑ์สปาให้โด่งดัง มีความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระดับโลกนั้นไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากหากตั้งใจจริง แบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จนอกจากจะมีระบบที่ดีแล้ว แบรนด์จะต้องมีความชัดเจนในตัวเอง แบรนด์ที่มีความชัดเจนจะทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่นำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด

 

ในฐานะความเป็นคนไทย ผลิตภัณฑ์สปาหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่แสดงอัตลักษณ์ (ตัวตน) ความเป็นไทยผลิตจากสมุนไพรไทย เช่น ดอกปีบ ดอกโมก รวมทั้งการบริการที่เป็นเลิศ เป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมจากลูกค้าทั่วโลก สปาไทยที่โกอินเตอร์จึงมักใช้จุดเด่นตรงนี้ ทำให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

 

ยกตัวอย่างสปาไทยที่ติดอันดับโลกได้แก่ The Oriental Spa-Bangkok,The Banyan Tree Spa-Bangkok, Chiva-Som International Health Resort-Hua-Hin, Banyan Tree-Phuket

 

ก่อนที่จะคุยกันถึงเรื่องฮวงจุ้ยแบรนด์ จำเป็นต้องตั้งโจทย์ธุรกิจของเราก่อนว่า จุดเด่นของเราคืออะไร กลุ่มลูกค้าอายุเท่าไหร่ เพศอะไร เป็นคนไทยหรือต่างชาติ ทำเลกลางเมืองหรือนอกเมือง ต้องการประสบความสำเร็จระดับไหน เมื่อมีคำตอบในใจแล้วเราก็มาพิจารณาเรื่องฮวงจุ้ยแบรนด์กันได้เลยค่ะ

 

การตั้งชื่อแบรนด์สปาจำเป็นต้องใช้ชื่อเดียวกับชื่อบริษัทหรือไม่

ลองดูตัวอย่างเคสของสปาระดับโลกกันนะคะ โฮมสปาระดับ High End บริษัท HARNN GLOBAL จำกัด เจ้าของแบรนด์ “HARNN” และยังมีแบรนด์เครื่องหอม “VUUDH” ลูกค้าที่ไปใช้บริการที่ HARNN Heritage Spa จะได้รับการเสิร์ฟชาสมุนไพร ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าอีกเช่นกัน และทำให้เกิดแบรนด์ “TISHAA” ขึ้นมา

 

สปาติด 1 ใน 10 สปาที่ดีที่สุดในโลก แบรนด์ “Banyan Tree” โดยบริษัท บันยัน ทรี รีสอร์ท แอนด์ สปา (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของหรือสปาที่มีสาขามากที่สุดในประเทศอย่างบริษัท บ้านชมนาดสมุนไพรสด สปา แอนด์ อโรมา จำกัด เจ้าของแบรนด์ “บ้านชมนาด” ด้วยคุณภาพของการบริการและผลิตภัณฑ์ทำให้ปัจจุบันมีแฟรนไชส์มากถึง 102 สาขา

 

บริษัท ไทย พริวิเลจ เฮลล์ แคร์ จำกัด เจ้าของสปาทั้งในไทยและต่างประเทศ แบรนด์ “ไทย พริวิเลจ สปา” และผลิตภัณฑ์สปาภายใต้แบรนด์ “สราญ” โดยชูสมุนไพรไทย 100% เป็นจุดขาย และการผลิตด้วยวัตถุดิบจากในไทยทั้งหมด

 

จากเคสตัวอย่างเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า “ชื่อแบรนด์” ไม่จำเป็นต้องเหมือนชื่อบริษัท ผู้บริโภคจะจดจำแบรนด์มากกว่าจดจำชื่อบริษัท เจ้าของหรือแหล่งที่มา อย่างไรก็ตามชื่อของแบรนด์สปาควรให้ความหมายถึงความสดชื่น รื่นรมย์ มีความสุข ชื่อเป็นมงคล ที่ชาวต่างชาติสามารถจดจำและเรียกชื่อได้ง่ายๆ ไม่ควรเกิน 3 พยางค์จะดีที่สุด

 

อัตลักษณ์ (Identity) ของแบรนด์สปา

อัตลักษณ์ (ตัวตน) ที่ชัดเจนและไปในทิศทางเดียวกันในทุกๆ องค์ประกอบ จะส่งผลให้ประสบการณ์สัมผัสแรกของลูกค้าตราตรึงใจไปนานแสนนาน สปาจัดว่าอยู่ในธาตุน้ำ เป็นธุรกิจที่เน้นการบริการ ความละเอียดอ่อน ความใส่ใจสูง พนักงานทุกคนต้องมีใจรักในสปา สีที่ใช้แล้วเสริมดวงกิจการได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ได้กับผนัง เตียง ผ้าคลุมเตียง ชุดกันเปื้อนของพนักงาน อุปกรณ์สปา คือสีทอง เงิน ดำ ฟ้า น้ำเงิน เขียว น้ำตาล และขาว

 

ส่วนการตกแต่ง ควรมีธาตุทั้ง 3 ธาตุนี้เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ ธาตุน้ำ ธาตุไม้ และธาตุทอง ที่พบเห็นทั่วไปในสปาระดับโลกได้มีการนำวัสดุที่ทำจากไม้จริง หิน สระน้ำ น้ำตก คริสตัล กลิ่น เสียง และเทียน สร้างบรรยากาศให้ลูกค้ารู้สึกสบาย ผ่อนคลายมากที่สุด

 

ในทางฮวงจุ้ยยิ่งมีการออกแบบสระน้ำ น้ำตกขนาดใหญ่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกทิศทางองศาตามดวงของเจ้าของกิจการ ยิ่งทำให้เกิดพลังงานดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการอีกเรื่อยๆ รวมทั้งมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก

 

นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลโก้ สี สัญลักษณ์ เครื่องแบบ บุคลิกภาพของพนักงาน การบริการ ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในแบรนด์ไทย ยิ่งเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานยิ่งเป็นที่นิยมและจะถูกจัดอยู่กลุ่มสินค้าและบริการระดับสูง

 

โลโก้สปาระดับโลก

โลโก้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการบ่งบอกตัวตน โลโก้สปาที่ดีกรณีที่ต้องการใช้เป็นรูปสัญลักษณ์ควรออกแบบให้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและมนุษย์ หรือกรณีที่ต้องการเป็นตัวอักษร ฟอนต์ (Font) ควรให้มีลักษณะพลิ้วไหว ไม่แข็งกระด้าง มีความโค้งเว้า เป็นธาตุน้ำ จะให้ความรู้สึกผ่อนคลายและน่าเข้าหา ตัวอย่างโลโก้ที่น่าสนใจ เช่น โลโก้ของ BANYAN TREE BANGKOK, I-SPA, Spa Botanica Singapore, Bliss Spa และ Bamford HAYBARN

 

แสงที่ใช้ในสปา

ตามหลักฮวงจุ้ยแสงที่ให้ความอบอุ่นมีระดับพลังงานหยินสูง ทำให้ลูกค้าผ่อนคลาย สงบ ควรเป็นแสงสีเหลือง วิธีการติดตั้งไฟควรฉายแสงไฟเข้าสู่ผนัง ไม่ส่องตรงที่เตียงนวด หรือส่องไฟโดยตรงที่ลูกค้า ยกเว้นเป็นสปาเล็บ สปาหน้า บางประเภทที่ต้องการเห็นสีชัดเจนควรใช้ไฟสีขาว

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคมีช่องทางรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็วและหลากหลายช่องทาง การสร้างแบรนด์ให้โด่งดัง ยั่งยืน นอกจากอัตลักษณ์แล้ว ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ (Image) สื่อสารให้สังคมรับรู้ และการมีศักดิ์ศรี ไม่เอาเปรียบลูกค้า ความรับผิดชอบต่อสังคม การรักษาคำมั่นสัญญา (Integrity) อีกด้วย

 

ดังนั้นถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนที่ทำธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ มีคุณธรรม ถึงเวลาแล้วที่จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ตามที่ตั้งเป้าไว้ ขอเพียงแค่อย่าเพิ่งท้อเสียก่อนนะคะ ของดีอาจจะดังช้าแต่ว่ายั่งยืน เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ