หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเงินสกุลที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบตะกร้า (IMF) : รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์


เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ลงมติให้เงินหยวนของจีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบตะกร้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งเป็นตัวกำหนดมูลค่าของ Special Drawing Rights (SDR) ซึ่งเป็นเงินที่ IMF สร้างขึ้นในทศวรรษ 1960 โดยใช้เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อชดเชยสภาพคล่องที่ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอในยุคนั้น การลงคะแนนรับเงินหยวนเป็น 1 ใน 5 ของสกลุเงินในระบบตะกร้าเท่ากับหมายความว่าเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า เงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศคู่กับอีก 4 สกุลเงิน คือ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ปอนด์สเตอร์ลิง ยูโร และเยนของญี่ปุ่น การที่เงินหยวนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการของ IMF ก็ด้วยเหตุผลซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเงินสกุลที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบตะกร้า 2 หลักเกณฑ์ใหญ่ ๆ คือ

1. เงินสกุลนั้น ๆ ต้องมีบทบาทเรื่องเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ ในกรณีเงินหยวนของจีนถือเป็นประเทศที่สำคัญมากในระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน ถ้ามองจากเกณฑ์ PPP (Purchasing Power Parity) เศรษฐกิจจีนถือว่าเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว จีนยังมีความสำคัญทางการค้าระหว่างประเทศ เงินหยวนของจีนจึงมีบทบาทในการใช้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

2. เงินสกุลนั้น ๆ จะต้องมีสภาพคล่องและถูกนำไปใช้เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งตามเกณฑ์นี้ ประเทศจีนยังไม่น่าสอบผ่าน เนื่องจาก ทุกวันนี้สภาพคล่องของเงินหยวนที่กระจายออกนอกประเทศยังมีขอบเขตจำกัด จะเห็นได้ว่าจีนมีการลงทุนนอกประเทศในอัตราที่จำกัด แม้ว่าจะมีอัตราเร่งสูงมากก็ตาม เกณฑ์นี้จึงมีปัญหาเพราะมีการโจมตีว่า การที่เงินหยวนได้เข้ามาเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเพราะปัจจัยทางด้านการเมืองและมีการล็อบบี้กันอย่างหนักนั่นเอง

การที่จีนได้รับการยอมรับจาก IMF ให้เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการนั้น นอกจากบทบาทของเศรษฐกิจจีนในโลกแล้ว ยังเกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะการเปิดเสรีทางด้านการเงินโดยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยอมรับ เริ่มต้นขั้นตอนด้วยการเปิดเสรีดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด และขั้นที่ 3 คือ การเปิดเสรีเคลื่อนย้ายเงินทุนซึ่งอยู่ในระยะเริ่มแรกเท่านั้นเอง ดังจะเห็นได้ว่า การลงทุนในต่างประเทศของจีนเพิ่งจะขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามากขึ้น ดังนั้นจีนยังต้องมีการปฏิรูปในเชิงลึกและเชิงกว้างมากขึ้น เพื่อที่จะให้เงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างแท้จริง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจีนจึงดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้

1. จีนพยายามที่จะให้มีการส่งเสริมการใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น โดยมีการตั้งเครือข่ายในภูมิภาคต่าง ๆ

2. จีนได้ขยายการลงทุนโดยตรงเพื่อที่จะให้มีสภาพคล่องของเงินหยวนในต่างประเทศมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า จีนกำลังขยายการลงทุนในกรอบของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) นอกจากนั้น จีนยังมีการพัฒนา One belt One road หรือเส้นทางสายไหมที่เชื่อมโยงจีนไปยังยุโรป ไม่ว่าจะเป็นทางเรือ ทางรถไฟ และการเชื่อมโยงท่อแก็ส เป็นต้น

ผลกระทบจากการที่จีนได้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการก็คือ

1. เงินหยวนจะได้การยอมรับในการเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บทบาทของเงินหยวนในการได้รับการยอมรับทางพฤตินัยยังต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการขยายเงินหยวนไปต่างประเทศ เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน นอกจากนั้น ระบบการเมืองจีนในขณะนี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการยอมรับหรือการไว้เนื้อเชื่อใจในบทบาทของเงินหยวนในการเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ

2. ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงในอนาคตภายในระยะเวลาไม่นาน ค่าเงินหยวนต่อค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อาจจะอ่อนตัวลงมาที่ 6.5 โดยหนึ่งในสาเหตุก็คือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในกลางเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ในขณะที่เงินยูโรและเงินหยวนจะอ่อนค่าลง