บ้านชีวาธาร บ้านไม่บานธารแห่งชีวิตริม “แม่กลอง” : อ.เชี่ยว ชอบช่วย


สาระน่ารู้ของ “SME ชี้ช่องรวย” ในฉบับนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ “บ้านชีวาธาร” ริมแม่น้ำ “แม่กลอง” ที่จังหวัด “ราชบุรี” ซึ่งก็น่าจะเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับบรรดา “ผู้สูงวัย” ในการออกแบบ “บ้านชีวาธาร” แห่งนี้ นอกจากผมได้ใช้แนวคิด “Universal Design” ซึ่งหมายถึงการออกแบบที่มักจะเรียกทับศัพท์ว่า “อารยสถาปัตย์” ที่คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ตลอดจนผู้พิการ รวมถึงผู้สูงวัยสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

ผมมักพูดเสมอครับว่า ผู้สูงวัยกับเด็กมีนิสัยบางอย่างที่คล้ายกันมากเลยทีเดียว จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีครับในการออกแบบ “บ้านไม่บาน” ที่คุ้มค่าและราคาประหยัดของผมแต่ละหลังจะสามารถสร้างบ้านให้คนทุกวัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

 

ถ้าติดตามบทความของผมมาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี จะเห็นได้ว่าผมมักพูดเสมอๆ ถึง “บ้านสามวัย” คือบ้านที่มีทั้งเด็กเล็ก รุ่นลูกหลานและวัยเจริญพันธุ์หรือวัยทำงาน คือ รุ่นพ่อแม่ รวมถึงบรรดาผู้สูงวัย คือ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย หากคนทั้ง 3 วัยอยู่รวมกันเมื่อไหร่บ้านที่เคยเงียบเหงาก็จะกลายสภาพเป็นบ้านที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที

 

เพราะเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน เป็นสายใยแห่งความรักที่ทรงคุณค่าที่สุด อันเป็น “แก่น” ที่สำคัญที่สุดของบ้าน ที่บรรดาแฟนๆ ชาว “คนรักบ้าน” จำเป็นต้องเอาใจใส่ถนอมรักษากันเอาไว้ให้ดีครับ

 

สำหรับการออกแบบ “บ้านไม่บาน” ในโครงการ “บ้านชีวาธาร” ริมแม่น้ำ “แม่กลอง” ที่ “เมืองราชบุรี” แห่งนี้ นอกจากผมจะใช้หลัก “อารยสถาปัตย์” หรือ “Universal Design” ในการออกแบบแล้ว ผมยังตอกย้ำด้วยหลัก “Aging in Place Design” หมายถึง แนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถอยู่อาศัยในบ้านของตนเองได้อย่างมีความสุขสมควรแก่อัตภาพ

 

ทั้งมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงดีและอายุยืนยาวมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องถูกส่งไปอยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่บ้านของตนเอง เช่น โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงคนชรา ไม่ว่าจะเป็นแบบมาเช้าไปเย็นกลับแบบ “Day Care” หรือแบบมาพักอาศัยระยะยาวแบบ “Nursing Home” ฯลฯ

 

 

โดยหลักการสำคัญๆ คือ การออกแบบ “บ้านไม่บาน” ที่เน้นในเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัยของผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้นๆ ครับ

 

หลักการ “Aging in Place Design” นี้จะมีประโยชน์มากครับกับผู้สูงวัยที่เป็นเจ้าของบ้าน ให้สามารถรองรับกิจกรรมการอยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม เมื่อเจ้าของบ้านสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องการสร้างบ้านที่สามารถรองรับกิจกรรมการอยู่อาศัยแบบผู้สูงวัยครับ

 

สำหรับบรรดาท่านผู้อ่านที่มีอายุมากขึ้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อความสมบูรณ์ในการที่จะได้พักอาศัยในบ้านที่ได้ถูกออกแบบเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะครับ

 

สำหรับแนวคิด “Aging in Place Design” นั้น ผมได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหลักการสำคัญๆ ในการออกแบบมีถึง 15 ประการ (สำหรับรายละเอียดต่างๆ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดผมจะค่อยมาอธิบายขยายความให้กับท่านผู้อ่านได้รับรู้กันในโอกาสต่อไปครับ) ซึ่งสาระน่ารู้ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้หรือเอาหลักการเหล่านี้นำไปใช้เป็น “เครื่องตรวจสอบ” ว่า “อาคารบ้านเรือน” ของท่านมีความเหมาะสมเพียงใดสำหรับการใช้ชีวิตของบรรดาผู้สูงวัยครับ

 

รูปแบบ “บ้านไม่บาน” สำหรับ “ผู้สูงวัย” ในโครงการ “ชีวาธาร” ซึ่งจัดได้ว่าเป็น “บ้านไม่บาน” ประเภท “ขวัญใจ ส.ว.” ที่มีขนาดกะทัดรัด พอเหมาะ พอดี พอเพียง บนที่ดินขนาด 50-60 ตารางวา

 

สำหรับโครงการ “บ้านชีวาธาร” ริมแม่น้ำ “แม่กลอง” แห่งนี้ ถือว่าเป็น “บ้านไม่บาน” สำหรับ “ผู้สูงวัย” ประเภท “บ้านต้นแบบ” ครับ ที่คิดถึงการดำเนินชีวิตของบรรดา “ผู้สูงวัย” ในการออกแบบโดยใช้หลัก “Universal Design” และหลัก “Aging In Place Design” ไปพร้อมๆ กัน

 

สำหรับผมแล้วสารภาพตามตรงครับว่ารู้สึกตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำการออกแบบ “บ้านไม่บาน” ประเภท “ขวัญใจ ส.ว.” ในลักษณะนี้ เพราะหาก “บ้านไม่บาน” ในโครงการ “บ้านชีวาธาร” สามารถตอบโจทย์ให้กับบรรดาผู้สูงวัยทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุและอุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบ้านได้

 

หมายความว่า คนทุกเพศทุกวัยก็จะสามารถใช้ชีวิตใน “บ้านไม่บาน” ได้อย่างอยู่ดีมีสุขเช่นเดียวกันครับ