Startup เริ่มเมื่อพร้อม : ดร.เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม


ระยะนี้เราพูดถึงกันมากถึงธุรกิจเกิดใหม่ที่เราเรียกติดปากตามฝรั่งว่า Startup เพราะเชื่อกันว่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ความจริงถ้าพูดกันแบบไทยๆ ไม่ตามก้นฝรั่งกันเกินไป กำเนิดของธุรกิจเป็นไปได้ดังนี้

 

1. ผู้ประกอบการใหม่ที่มีความพร้อมในการเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งในด้านแนวคิดธุรกิจ ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ทั้งนี้อาจจะสะสมเรื่องเหล่านี้จากการที่เป็นลูกจ้างเขามาก่อนมีความเชี่ยวชาญ เข้าใจธุรกิจดี รู้จักลูกค้า รู้จักผู้ขาย ปัจจัยการผลิต เมื่อมีโอกาสก็เริ่มต้นธุรกิจเอง เรื่องสำคัญของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้คือการวางแผนธุรกิจและมีเป้าหมายชัดเจนที่ไม่เกินความสามารถของตนเองเกินไป

 

2. ผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อมในการเริ่มต้นธุรกิจ แต่อาจจะเป็นเพราะจังหวะหรือความเข้าใจผิดว่าตัวเองพร้อมจึงเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ประกอบการประเภทนี้มักมีความคิดใหม่ ซึ่งอาจจะทำตลาดได้ในระยะแรก แต่ไม่สามารถทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ หรือมีความรู้ความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง เช่น เก่งเรื่องการตลาด ไม่เก่งเรื่องการบริหารคน ไม่เข้าใจเรื่องการบริหารเงินและการบัญชี เป็นต้น

 

เท่าที่พบผู้ประกอบการประเภทนี้มักจะเริ่มต้นธุรกิจไปก่อนแล้วค่อยเรียนรู้ไปแก้ไขไป โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงอาจจะมีพอๆ กับความล้มเหลว

 

3. ผู้ประกอบการที่ยังไม่รู้จักตนเองดีพอ แต่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง อาจจะเพราะโชคไม่ดีถูกเชิญ (เลิกจ้าง) ให้ออกมาเป็นเถ้าแก่ หรือมีเพื่อนหรือครอบครัวสนับสนุน ผู้ประกอบการประเภทนี้น่าห่วงที่สุด เพราะไม่ชัดเจนในเป้าหมายของตนเอง อาจจะยังไม่มีความมุมานะ มุ่งมั่น ใฝ่ฝันถึงความสำเร็จเพียงพอ

 

ผมมีหลักคิดง่ายๆ ของการเริ่มต้นธุรกิจของตนเองคือ…เริ่มเมื่อมีความพร้อม

 

อย่างแรกคือต้องสำรวจตนเองก่อนว่ามีความเก่ง ความเชี่ยวชาญในเรื่องใด ที่สามารถแข่งขันได้ ให้เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยสัก 3-5 อันดับ หากหาไม่เจอความเก่งเลย!!! ก็ต้องมาดูว่าตนเองมีความชอบในเรื่องอะไรแล้วสามารถปรับความชอบนั้นให้เป็นธุรกิจได้ไหม

 

หากเราจะต้องดำเนินชีวิตทุกวันในการทำธุรกิจของเรา เราก็ควรจะทำในสิ่งที่ชอบ มีใจรักเราจึงจะมีความสุขในการทำธุรกิจนั้นๆ เมื่อค้นพบความเก่งหรือความชอบของตนเองแล้ว ต่อไปก็ดูว่ามีโอกาสในการทำธุรกิจในเรื่องที่เราชอบหรือเราเก่งหรือไม่

 

พูดไปแล้วเรื่องโอกาสก็คือเรื่องของการตลาด ซึ่งต้องวิเคราะห์ดูว่าสิ่งที่เราจะทำเป็นธุรกิจมีความต้องการของตลาดอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด มีใครตอบสนองความต้องการเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีแล้ว เขาทำได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร เรื่องพวกนี้ก็คือการวิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ลูกค้า วิเคราะห์คู่แข่งนั่นเอง ฯลฯ ซึ่งอาจจะใช้เครื่องมือวิเคราะห์ เช่น Five Force Model, SWOT & TOWS, Consumer Behavior Analysis เป็นต้น

 

โดยใช้ข้อมูลแบบทุติยภูมิที่มีคนเก็บรวบรวมไว้แล้ว เช่น บทความ งานวิจัยต่างๆ เป็นต้น ข้อมูลประเภทนี้ใช้ในการดูภาพกว้างพิจารณาแนวโน้ม หากยังไม่ชัดเจนได้ตามที่ต้องการก็ต้องใช้ข้อมูลแบบปฐมภูมิเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะทำได้โดยสังเกต สำรวจ สอบถาม ทดลอง หรือจำลองสถานการณ์ในเรื่องของโอกาสก็เช่นกันให้เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยสัก 3-5 อันดับ แต่อย่าหวังโอกาสจากคนอื่นมากนัก เช่น เพื่อนจะช่วย ญาติพี่น้องจะช่วย เรื่องแบบนี้ต้องยึดตัวเองเป็นหลัก พึ่งตนเองให้มากที่สุด

 

เมื่อพบทั้งความเก่งความชอบของตนเอง พบทั้งโอกาสแล้วก็ทำการจับคู่ปัจจัยทั้งสองอย่างนั้นซึ่งเป็นจุดเริ่มของการทำธุรกิจ และก็ลองทำแผนธุรกิจเพื่อไปสู่ความสำเร็จนั้น เช่น พบว่าตนเองมีความเก่งในการทำอาหาร ชอบทานอาหารญี่ปุ่น แล้วพบว่าคนต้องการรับประทานอาหารญี่ปุ่นมากอย่างนี้ก็ควรคิดทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่น เช่น เปิดร้านขายอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการหลายรายที่มองโอกาสด้านการตลาดก่อนแล้วค่อยเริ่มธุรกิจแล้วจึงเริ่มสร้างความพร้อม (ความรู้ ความสามารถ) เช่น เห็นว่าตลาดอาหารญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่และมีอัตราเติบโตดี จึงเริ่มเปิดร้านขายอาหารญี่ปุ่นแล้วจ้างพ่อครัวมาทำ

 

ในกรณีอย่างนี้โจทย์ของความสำเร็จเปลี่ยนจากการทำด้วยตนเองมาเป็นการบริหารงานให้คนอื่นทำ เพราะฉะนั้นเถ้าแก่ประเภทนี้ต้องเก่งเรื่องบริหารงาน บริหารคน และควรมีทุนมากกว่าเถ้าแก่ประเภทแรก

 

การเริ่มต้นธุรกิจเหมือนการเดินทางที่เริ่มต้นอาจจะง่าย แต่การไปถึงจุดหมายย่อมไม่ง่ายเหมือนตอนเริ่มต้น แน่นอนที่ผู้ประกอบการทุกคนต่างใฝ่ฝันถึงความสำเร็จ คิดถึงรายได้และฐานะที่ดีขึ้นแต่อาจจะลืมคิดถึงต้นทุนของความสำเร็จ นั่นคือ ความล้มเหลว

 

การเดินทางบนถนนธุรกิจอาจจะพบทางแยกทางแพร่งมากมายที่นำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้พอๆ กัน หนทางแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการใหม่ ประกอบด้วย

 

ความเป็นนักคิด นักพัฒนา ต้องรู้จักคิดรู้จักพัฒนาสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง ในโลกของความเป็นจริงทุกคนอยากได้สิ่งที่ดีกว่าเสมอ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องหมั่นคิดหมั่นพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมายได้ดีกว่า

 

ความรู้ ความสามารถ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องเป็นตัวจริงในเรื่องที่ทำคือมีความรู้ อาจจะเรียนในระบบหรือนอกระบบ แต่การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น ยิ่งกระแสเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งต้องตามให้ทัน ส่วนเรื่องของความสามารถนั้นกว้างกว่าความรู้ เช่น ความสามารถในการอ่านคน รู้จักเลือกคบคน ฯลฯ บางคนมีพรสวรรค์ ไม่มีหรือมีน้อยก็ต้องแสวงหา ในความเป็นจริงความสามารถเป็นหัวใจของความสำเร็จมากกว่าความรู้เสียอีก

 

ความเป็นนักแสวงหาโอกาส สร้างโอกาส ต้องติดตามสถานการณ์ เข้าใจการวิเคราะห์ รู้เรื่องกลยุทธ์ที่จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตน

 

ความมุ่งมั่นถึงความสำเร็จ ความมุ่งมั่นทำให้เกิดความตั้งใจ เอาใจใส่ในการทำงาน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค อย่างไรก็ดีควรวาดภาพของความสำเร็จเป็นระยะๆ ไม่ไกลเกินเอื้อม พูดง่ายๆคือไม่ตั้งเป้าหมายสูงเกินไป ค่อยๆ ขยับไปให้ถึงแล้วตั้งเป้าใหม่จะดีกว่า

 

ความขยัน อดทน อดกลั้น เรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานของเจ้าของธุรกิจทุกคน สิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่องความอดกลั้น เพราะเป็นเรื่องการควบคุมอารมณ์ เถ้าแก่ใหม่ที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัท (ของคนอื่น) เมื่อมาเป็นเถ้าแก่เองต้องยอมรับสภาพที่ต้องทำเองทุกอย่างได้ เข้าทำนองสูงสุดคืนสู่สามัญ

 

มองการณ์ไกล ไม่หยุดนิ่ง พูดให้ดูดีหน่อยก็คือการมีวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) รู้จักติดตามสถานการณ์ มีการวางแผนงานล่วงหน้า ติดตามข่าวสาร เทคโนโลยี ก้าวทันโลกทันการแข่งขัน

 

ความรู้จักประมาณตนเองในเรื่องของความสามารถ ทั้งด้านการผลิต การบริหาร เงินทุน คน ต้องรู้จุดคุ้มทุนอยู่ที่ไหน ศักยภาพการแข่งขันของตนเองคืออะไร ไม่ทำอะไรเกินตัว

 

รู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ ไม่เสี่ยงถ้าไม่พร้อม

 

รู้จักสร้างเครือข่ายพันธมิตร การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ย่อมไม่พร้อมไปทุกอย่าง การพึ่งพาเพื่อนฝูง คนรู้จัก หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่สามารถช่วยเหลือได้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่ท่านได้ยินเขาพูดกันในภาษาอังกฤษว่า “Outsource”,“Network”, “Strategic Alliance” และ “Cluster“ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

ความมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม เราไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่ทำธุรกิจที่ก่อปัญหาให้สังคมและต้องรู้จักตอบแทนสังคมเมื่อสามารถทำได้ อย่างพวกแคมเปญ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งเริ่มทำได้ตั้งแต่ตัวผู้ประกอบการเอง

 

องค์กรของตนเองจนถึงสังคมโดยรวม ปัจจุบันเกิดเป็นกระแสเรื่อง “ความยั่งยืน” (Sustainability) ว่าไปแล้วคือการทำธุรกิจที่ไม่รบกวนสร้างปัญหาต่อสังคม สิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยพอจะปรับเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางการทำธุรกิจและพัฒนาให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้

 

การทำธุรกิจไม่ต้องรีบ ควรเริ่มเมื่อพร้อม หาความต้องการของลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจนที่เรียกว่ามองตลาดออก แล้วก็พิจารณาว่าควรตอบสนองความต้องการนั้นๆ ได้ดีกว่าคนอื่นอย่างไร โดยเฉพาะรายอื่นที่เขาครอบครองลูกค้าที่ท่านหมายปองไว้ แล้วก็ต้องคิดวางรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสม พูดง่ายๆ ว่า จะทำรายได้จากสิ่งที่เราอยากทำธุรกิจนั้นได้อย่างไร ต้องสแกนแล้วสแกนอีกจนตกผลึกความคิด แล้วค่อยเริ่มทำธุรกิจ