บูรพา-อาคเนย์ ตอน ซูจี จะเป็นประธานาธิบดีเอง : บัณรส บัวคลี่


ระหว่างการเขียนต้นฉบับบทความ (21ก.พ.) ยังไม่มีข่าวชัดเจนว่าการเจรจาต่อรองอนาคตการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยพม่า ระหว่าง อองซานซูจี กับฝ่ายทหารจะลงเอยเช่นไร ข่าวที่ออกมาก่อนหน้าบอกว่า พรรค NLD ต่อรองขอให้ฝ่ายทหารซึ่งกุมสัดส่วนที่นั่งโควตา 25% ในสภา ยอมรับการงดบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 59 (f) เพื่อเปิดทางให้ อองซานซูจี ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก ขณะที่ข่าวทางฝ่ายทหารแพลมออกมาว่าจะมีการต่ออายุราชการให้กับสองผู้นำสูงสุดทหารพม่าคือ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สูงสุด กับพล.อ.โซวิน รองผบ.สส. ไปอีก 5 ปี เพื่อจะได้กุมบังเหียน อำนาจต่อรอง แนวทางต่างๆ ของฝ่ายอำนาจเก่ากับพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะได้ต่อเนื่อง

แม้จะไม่ความชัดเจนในข้อตกลงสุดท้าย แต่มันก็มีความคืบหน้าอยู่พอสมควร

 

อองซานซูจี นัดพบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มาสามรอบแล้ว  การนัดคุยกันเป็นรอบที่สามมันบ่งบอกถึงความต่อเนื่อง คืออย่างน้อยอะไรที่ยังค้างๆ คาๆ ก็ยังคุยกันต่อ ไม่ทุบโต๊ะปิดการเจรจา ลักษณะแบบนี้คือสัญญาณที่ออกมาค่อนข้างเป็นบวก แม้ว่าก่อนหน้านั้นข่าวบางกระแสบอกว่าน้ำเสียงของฝ่ายอำนาจเก่านั้นพลิกไป-มาให้ใจหายใจคว่ำอยู่บ้าง โดยเฉพาะการประกาศไม่เดินทางไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียน+โอบาม่าที่สหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีเตงเส่งอย่างกระทันหันเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในตอนนั้นวงการเมืองพยายามจับกระแสกันจ้าละหวั่น เพราะมันแปร่งๆ อยู่จริง

 

ปัญญาชนไฮโซคนสำคัญของพม่า ถั่นมิ้นอู Thant Myint-U หลานชายของอูถั่น เคยโพสต์ข้อความวิจารณ์การพบปะกันระหว่างอองซานซูจี กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ทำนองว่า นี่เป็นฉากสันติภาพที่สำคัญอันจะพลิกโฉมการเมืองพม่าอีกครั้งนับตั้งแต่เมื่อครั้งนายพลอองซานไปบรรลุข้อเจรจาประกาศเอกราชกับนายกรัฐมนตรีแอตลี ที่ลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2490 เลยทีเดียว – แต่จู่ๆ ถ้อยความชมเชยดังกล่าวก็หายไปจากหน้าเพจของถั่นมิ้นอู ทำให้ใครต่อใครตีความกันไปถึงความไม่ลงตัวของการเจรจาครั้งนี้ บางกระแสยังบอกถึงว่าทหารอาจจะล้มโต๊ะด้วยซ้ำ

 

ช่วงระยะนี้คือบรรยากาศการต่อรองบนโต๊ะ/ ใต้โต๊ะ ข่าวสารตอบโต้ระหว่างกันของสองฝ่าย การเมืองของพม่าเริ่มจะมีบรรยากาศเปิดแบบที่คนไทยคุ้นชินกันบ้างแล้วแม้จะเพิ่งเริ่มบทเรียนสังคมประชาธิปไตยระดับชั้นประถมอยู่ก็ตาม แม้ว่าส่วนใหญ่การต่อรองทางการเมืองของพม่ายังเป็นเรื่องของชนชั้นสูงที่อยู่วงในปิดห้องคุย และตัดสินใจกันเฉพาะในกลุ่มชั้นบนอยู่ก็ตาม  อย่างเช่นกรณีการตัดสินเสนอ อูวินมิ้น แกนนำ NLD คนสนิทของอองซานซูจีขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนก่อน ก็ยังเป็นเรื่องของแกนนำวงในตัดสินกัน ขนาดมีข่าวออกมาทางสื่อตะวันตกมีสมาชิกพรรค NLD ระดับกลางที่ไม่ทราบเรื่องตอบโต้ไม่เห็นด้วย 

 ข่าวชิ้นหนึ่งที่ทำให้วงสังเกตการณ์หูผึ่ง ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร อู เย ตุด  U Ye Htut  กล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตอบผู้สื่อข่าวระหว่างประชุมผู้นำอาเซียนบอกว่าคงไม่มีโอกาสจะแก้ หรืองดใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ซูจีเพราะทหารคงไม่มีวันเอาด้วย ซึ่งเป็นผลให้บรรดาผู้สนับสนุนอองซานซูจีและพรรค NLDแสดงความเห็นตอบโต้รัฐมนตรีข่าวสารไปพอหอมปากหอมคอ

 

บรรยากาศเหมือนไม่ดี ไปไม่รอด แต่ที่ไหนได้…ที่สุดการเจรจารอบที่ 3 ก็เกิดขึ้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ ภาพที่เป็นข่าวออกมา อองซานซูจี พบปะกับ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มดี

 

พม่าจะมีการกำหนดการเปิดสภาเพื่อโหวตเลือกประธานาธิบดีกันในวันที่ 17 มีนาคม ยังมีเวลาที่จะเจรจาต่อรองกันอีกหลายยก

 

อย่างไรเสีย อองซานซูจี ก็ยังมีภาษีตรงที่มีฐานคะแนนท่วมท้นถล่มทลาย ที่สำคัญกว่านั้นการดำรงอยู่ของเธอและพรรค NLD จะนำมาซึ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อะไรต่อมิอะไรจะหลั่งไหลเข้ามา ปลดล็อกการคว่ำบาตรซึ่งจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งของทุนฝ่ายอำนาจเก่านั่นแหละ ฝ่ายอำนาจเก่าหาได้สูญเสียประโยชน์อะไรจากการขึ้นมามีอำนาจของซูจีเลย มิหนำซ้ำยังได้ประโยชน์เต็มปากเต็มคำกว่าฝ่ายการเมืองอำนาจใหม่ด้วยซ้ำไป เพราะทุนของฝ่ายทหารยึดหัวหาดกิจกรรมต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว

 

แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายทหารจะไม่มีประเด็นที่มีน้ำหนักสำหรับการต่อรองเอาเสียเลย การปะทะกันระหว่างกองกำลังไทใหญ่ภาคเหนือ RCSS/SSA  กับชาวตะอาง TNLA ที่รัฐฉานตอนบนเป็นความไม่สงบล่าสุดที่ฝ่ายทหารต้องเข้าไปจัดการ  อย่างไรเสียความไม่สงบภายในยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่พรรค NLD ต้องอาศัยมือทหาร  มิฉะนั้นอองซานซูจีก็จะเอาประเทศไม่อยู่ อาจถึงขั้นเกิดการประกาศแยกตัวและสงครามกลางเมืองแบบที่เคยเกิดหลังได้เอกราชใหม่ๆ ด้วยซ้ำไปหากว่าทหารถอนตัวออกมาสิ่งที่ทำอยู่

 

ความต้องการของ NLD ที่จะปลดล็อกเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่บัญญัติห้ามผู้มีสามี/บุตรเป็นต่างชาติดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่แท้เขียนขึ้นมาเพื่อสกัดนางอองซานซูจีโดยเฉพาะและเขียนขึ้นมาตั้งแต่ 2008 ก่อนหน้าพม่าจะปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง แต่ที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป พม่าตัดสินใจเดินหน้าปฏิรูปการเมือง เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ยอมให้ซูจีและ NLD ลงเลือกตั้งอย่างยุติธรรม เรื่องมันดำเนินมาถึงขั้นนี้…ก็ในเมื่อข้าวสุกมันเป็นข้าวสารเสียแล้ว ซูจีได้ชัยชนะท่วมท้นไปแล้ว ต่อให้เอาใครต่อใครหรือแพทย์ประจำตัวมาดำรงตำแหน่งแทน แต่บารมีของอองซานซูจีก็เหนือว่าประธานาธิบดีอยู่ดี ไม่ใช่แค่ชาวพม่า เพราะชาวโลกเขาก็คงรู้กันทั่วไป มันจะน่าตลกมากที่ผู้นำประเทศหนึ่งมาเยือน เมื่อพบกับประธานาธิบดีตามตำแหน่งแล้ว จะต้องดิ้นรนเพื่อไปพบกับประธานาธิบดีตัวจริงที่ชื่อซูจีเพื่อจะเจรจาความเมืองกัน

 

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนยังเชื่อว่าที่สุดแล้วทหารพม่าคงต้องยอม เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อันเป็นเงื่อนไขสำคัญแล้ว !

เวลาเปลี่ยน สถานการณ์ก็เปลี่ยนตาม !!

 

ถึงตรงนี้ยังมีน้ำหนักอยู่พอสมควรว่าการเจรจาต่อรองจะออกมาแบบวิน-วิน การไกล่เกลี่ยระหว่างชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่จะบรรลุผล ราวต้นเดือนมีนาคมเราอาจเห็นอะไรต่อมิอะไรชัดเจนออกมา หากว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ใช้อำนาจทิ้งทวน ต่ออายุพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายและรองผบ.สส. ไปอีก 5 ปีตามข่าว ก็น่าเชื่อว่าอะไรต่อมิอะไรเริ่มลงตัว เพราะที่สุดแล้วการเมืองก็คือการจัดสรรและต่อรองอำนาจกับผลประโยชน์นั่นเอง

 

บทความนี้เป็นการวิเคราะห์เชิงฟันธง ซึ่งมันก็เสี่ยงพอควรสำหรับอาการหน้าแตก อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 17 มีนาคม ผลจะออกมาแบบไหนจะได้รู้กันแล้วว่าประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งที่จะนำพม่าไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบจริงๆ จะชื่ออองซานซูจีหรือไม่.