“คนที่ยกขวดยาพิษขึ้นดื่ม…แล้วหวังจะให้ผู้อื่นตายนั้น ย่อมเป็นไปได้ยาก”
แม้คุณจะเป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียวขนาดไหน แม้ว่าคุณจะฟิวส์ขาดบ่อย ๆ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานกันในหมู่เพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดคุณขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรหรือผู้นำในหน่วยงานแล้ว ด้วยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ คุณต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วโอกาสที่จะเสียคน จนขาดความน่านับถือหรือความศรัทธาก็จะเกิดขึ้นทันที แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงผู้นำก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาที่จะมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป การกำกับดูแลจิตใจและพฤติกรรมของตนจึงเป็นภาระหน้าที่ส่วนหนึ่งของผู้นำด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้รับเชิญไปบรรยายในหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานหนึ่ง พอฟังผมบรรยายเสร็จ คุณลุงท่านหนึ่งเดินมาบอกกับผมว่าท่านเป็นหน้าห้องของท่านผู้อำนวยการในหน่วยงานนั้นมานานมาก ท่านบอกว่าผู้อำนวยการท่านนี้คนอื่นเห็นทีจะเอาไม่อยู่ แต่คุณลุงคนนี้เอาอยู่เพราะคุณลุงมีความอดทน อดกลั้นสูงมาก คุณลุงเล่าให้ผมฟังอย่างอารมณ์ดีว่า “ท่าน ผอ.ของผมท่านเป็นคนใจดีมาก ไปประชุมต่างจังหวัด ต่างประเทศก็มักจะมีของขวัญติดไม้ติดมือมาฝากอยู่เสมอ ท่านใจดีจริง ๆ นะครับ แต่อย่าให้ท่านโกรธนะ ถ้าโกรธเมื่อไหร่ล่ะก็เป็นอันว่าเดือดร้อนกันไปทั่วทั้งสำนักงาน เพราะท่านควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้เลย อะไรที่อยู่ใกล้มือ ท่านจะเขวี้ยงใส่ทันที ไม่ว่าจะเป็นแฟ้มงานทั้งตั้งท่านก็ยกขึ้นทุ่มใส่ได้ ใครรับไม่ได้ แต่ท่านอาจารย์เชื่อมั้ยครับว่าผมรับได้” ผมเองก็นึกว่าคงเป็นเพราะอยู่ร่วมงานกันมานานจึง “รับได้” แต่คุณลุงบอกไม่ใช่ครับ “ผมรับได้ทุกอย่างที่ท่านเขวี้ยงมา” เห็นทีคงจะเป็นเพราะคุ้นกันมานานกระมังครับ
การรู้จักปล่อยวางหรือรู้จักการให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่นหรือการยอมรับความ “ไม่ได้ดั่งใจเรา” จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะยอมรับบ้าง เช่น คนขับรถประจำตัวของผมเป็นคนมีอัธยาศัยดีมาก ทำงานหนักเอาเบาสู้ รถราจะติดขนาดไหนไม่เคยปริปากบ่นสักคำ พูดง่าย ๆ อะไรๆ ก็ดีไปหมดครับ เพียงแต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ “หลงทางตลอด” ถ้าวันไหนผมก้มลงอ่านหนังสือเตรียมที่จะไปบรรยายเงยหน้าขึ้นมา “หลงทางตลอด” จริง ๆ จนผมรู้สึกโกรธว่าทำไมทางแค่นี้มาเกือบทุกวันจำไม่ได้เสียที คนขับรถตอบผมว่า “ท่านครับปกติผมเห็นท่านรับเชิญไปบรรยายในที่ต่าง ๆ บ่อย ๆ หัวข้อที่ไปบรรยายมีเรื่องการทำงานเป็นทีมบ้างมั้ยครับ? ผมก็ไม่ทันได้เอะใจอะไร ก็เลยตอบไปว่า “ก็มีบ้าง” เจ้าคนขับรถตอบว่า “นั่นซิครับการขับรถไปด้วยกันก็เปรียบเสมือนการทำงานเป็นทีม ทุกคนต้องมีหน้าที่ช่วยกันดูทางเป็นหูเป็นตาด้วยกันทุกคน จะมาให้คน ๆ เดียวดูทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ “ผมจึงถึงบางอ้อว่านี่เขากำลังเอาเราเข้าไปเป็นจำเลยร่วมในการหลงทางครั้งนี้ด้วย และแล้ววันหนึ่งผมไปบรรยายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ ไปมาก็ตั้งหลายครั้งหลายหนแล้ว คนขับรถก็ยังคง “หลงทางตลอด” อีกตามเคย เที่ยวนี้ผมค่อนข้างรีบและรู้สึกโมโหมากที่เขาหลงทางอีกแล้ว จึงดุเขาไปว่า “ทำไมถึงได้เซ่อซ่า” เช่นนี้ มาตั้งไม่รู้กี่หนแล้ว?” คนขับรถตอบผมว่า “ท่านครับ! ถ้าผมฉลาดเท่าท่านผมคงนั่งอยู่ข้างหลังเหมือนท่านแล้วครับ คงไม่ต้องมานั่งขับรถอยู่ข้างหน้าอย่างนี้หรอก” ทำให้ผมเรียกสติกลับคืนมาได้ว่า เออ! จริงซินะ ฉะนั้นถ้าลูกน้องฉลาดน้อยกว่าเราก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะเขาเป็นลูกน้องเรานี่ และถ้าผู้นำแน่จริงต้องทำให้คนที่ท่านคิดว่าเขาโง่ ฉลาดขึ้นมาให้ได้ซิครับ
ดังนั้น การมีอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจจึงต้องแก้ไขด้วยการรู้จัก “การให้อภัย” เพราะอย่างที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “การให้อภัยไม่ใช่การกระทำเพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้แก่คนที่เราเกลียดหรือคนที่เราไม่พอใจ” แต่ “การให้อภัยเป็นการกระทำเพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้แก่ตัวเราเอง” เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึก “โกรธหรือเกลียด” ใคร สาร “คอร์ติโซล” ซึ่งเป็นสารที่ไม่ดีจะหลั่งในสมองของเราและเป็นผลร้ายต่อตัวเราเอง คนที่เรา “เกลียด” หรือไม่พอใจเขาจะไม่มีทางได้รับรู้ด้วยเลย ในขณะเดียวกันเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึก “ให้อภัย” สาร “เอ็นคอร์ฟิน” และสาร “เซโรโทนิน” ซึ่งเป็นสารที่ดีก็จะหลั่งในสมองของเราเช่นกัน และสารทั้งสองนี้ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อตัวเรา และไม่ว่าคนที่เราให้อภัยเขาจะทราบหรือไม่ทราบก็ไม่เป็นไรเพราะเรามีความสุขและความดีจากสารทั้งสองตัวนั้นแล้ว พระหรือผู้รู้ท่านจึงสอนว่า “เกลียดเขา โกรธเขาจะป่วยง่ายและตายเร็ว” แต่ถ้า “รู้จักรัก รู้จักการให้อภัย จะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว” สิ่งเหล่านี้จึงเป็นไปตาม “มโนกรรม” หรือการกระทำอันเกิดจากความคิดของตัวเราเองแท้ ๆ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ท่านผู้นำที่เจ้าอารมณ์ทั้งหลายจงหันมาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ดูบ้างและหาทางแก้ไขวุฒิภาวะทางอารมณ์ของตนเองให้ดี เพราะมันจะเป็นผลดีทั้งตนเอง คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และจะว่าไปอาจจะถึงระดับประเทศชาติด้วย ถ้าท่านเป็นผู้รับผิดชอบบริหารราชการหรือกิจการในบ้านเมืองนี้อยู่
พระพุทธองค์จึงทรงสอนไว้ว่า “เจ้าจะไม่ถูกลงโทษเพราะเจ้าโกรธ แต่จะถูกลงโทษโดยความโกรธของเจ้าเอง”