ใครเป็นนักบริหารย่อมอยากมีผลงาน เพราะผลงานเป็นสิ่งซึ่งเชิดหน้าชูตาทำให้นักบริหารได้รับการยกย่องและอยู่ในความทรงจำของผู้คน เรียกว่า เป็นคนมี “ภาวะผู้นำ” ว่างั้นเถอะ
นักบริหารที่อยากเป็นผู้นำจึงต้องสร้างผลงาน อย่างไรก็ตามอยากจะบอกกับนักบริหารทุกคนว่า อย่าสับสนระหว่างคำว่า “ผลงาน” กับ “งานหนัก” แยกกันให้ออกนะครับ
การทำงานหนักนั้นเป็นธรรมชาติของนักบริหาร นักบริหารที่ดีกับงานหนักเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่อย่าไปทึกทักเอาว่าการทำงานหนักนั่นคือผลงาน
อย่าบ่นทีเดียวนะว่า “ยังไม่เห็นอีกหรือว่าพี่เป็นผู้นำ เคยเห็นพี่มาสายบ้างไหม เช้าก่อนเจ็ดโมงพี่ถึงโรงงานแล้ว เย็นหกโมงนี่ใครต่อใครกลับกันหมดแล้ว แต่พี่ทุ่มสองทุ่มทุกวัน เห็นไหมพี่เป็นผู้นำขนาดไหน”
แต่ลูกน้องที่ได้ยินได้ฟังหัวหน้าที่มีความสับสนเรื่อง “ผลงาน” กับ “งานหนัก” อาจจะคิดอีกแบบ “แหม นึกว่าพี่มีปัญหาครอบครัวเสียอีก วัน ๆ ถึงไม่ค่อยได้กลับบ้าน” เป็นอย่างนั้นไป
ก่อนหน้าเป็นอธิการบดี ผมไม่ทราบงานโดยละเอียดของอธิการบดีมาก่อน เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นอธิการบดีแล้วจึงรู้ว่า งานหนักที่สุดของอธิการบดีรามคำแหงคือเซ็นปริญญาบัตร ก่อนวันพระราชทานปริญญาหนึ่งเดือนต้องอุทิศเวลาเซ็นปริญญาบัตรกว่าหมื่นใบ แทบไม่มีเวลาทำอย่างอื่นเลย
แต่งานอย่างนี้อย่าไปเที่ยวอวดใครต่อใครนะ จะบอกให้ ไม่ใช่ตอนหาเสียงเพื่อให้เขาเลือกกลับไปเป็นอธิการบดีอีกรอบ ดันประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า “ผลงานอธิการบดีสมัยแรกที่ผมภูมิใจที่สุดคือ เซ็นปริญญาบัตรสามหมื่นใบ”
เพราะแทนที่จะได้รับเสียงปรบมืออาจจะเป็นเสียงโห่ หรือมีเสียงตอบกลับมาว่า “ใครเป็นอธิการบดี เขาก็เซ็นกันทั้งนั้นแหละ” เอามาคุยอวดได้อย่างไร ไม่เข้าท่า ไม่น่าเลือกให้กลับไปเป็นอีกเลย จริงไหมครับ
สิ่งที่ผมต้องเอามาโชว์เป็นผลงานคือ สิ่งที่เป็นนวตกรรมหรือปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยผม ไม่ใช่อธิการบดีคนอื่นก็ทำได้ ซึ่งตอนพ้นจากอธิการบดีสมัยแรก ผมเอาผลงาน ๒ งานที่ทำไว้มาใช้หาเสียง ซึ่งน่าจะได้ผลเพราะผมได้รับเลือกเป็นอธิการบดีสมัยที่สองด้วยคะแนนท่วมท้นกว่าสมัยแรกเสียอีก ขอคุยหน่อยครับ ๒ ผลงานดังกล่าวคือ
ผลงานแรก การเปิดวิทยาเขตบางนา ซึ่งสร้างเสร็จมาก่อนหน้าที่ผมได้รับเลือกเป็นอธิการบดี แต่อธิการบดีก่อนหน้าผม ๒ คนเปิดไม่สำเร็จ เพราะโดนต่อต้านจากองค์การนักศึกษาสมัยนั้น เนื่องจากทัศนะของนักศึกษามองเป็นการแยกพลังนักศึกษาไม่ให้รวมกันในที่เดียวกัน แต่ผมดำเนินการเปิดจนสำเร็จทำให้นักศึกษาปีที่ ๑ ได้มีโอกาสเรียนเต็มหลักสูตร แทนที่จะเรียนแบบกวดวิชาเฉพาะเสาร์อาทิตย์เพราะที่หัวหมากแออัดมีห้องเรียนไม่พอ
ผลงานที่สอง ได้แก่ การเอาการเรียนการสอนทางโทรทัศน์ของรามคำแหงซึ่งแต่เดิมเผยแพร่ทางช่อง ๑๑ เวลา ๕ ทุ่มถึงตี ๑ ซึ่งดึกเกินไปนักศึกษาที่ไหนจะดู มาเผยแพร่ทางช่อง ๗ เวลา ๖ โมงเย็นถึง ๒ ทุ่ม ซึ่งสมัยนั้นเป็นชั่วโมงประหยัดไฟรัฐบาลให้ทีวีทุกช่องหยุดเผยแพร่รายการปกติ ผมวิ่งเต้นประสานงานจนได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ เป็นผลงานที่ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนอยู่ที่บ้านได้มีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้ชาวบ้านชาวเมืองมีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพราะช่วงเวลาประหยัดไฟใครอยากดูทีวีก็จำเป็นต้องดูช่องรามคำแหง
ผลงานนั้นต้องเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นโดยการสร้างของเรานะครับ ไม่ใช่ทำตามรอยเท้าคนอื่น หรือทำที่คนก่อน ๆ เขาริเริ่มไว้ ไม่งั้นแทนที่จะได้รับคำสรรเสริญอาจถูกล้อเลียนแทนก็ได้
เหมือนอย่างเมื่อตอน พตท. เอ๊ย……นายทักษิณ ชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ท่านตั้ง รตอ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ท่านปุระชัยสร้างผลงานดีเด่นเป็นที่พออกพอใจของประชาชนคือ การจัดระเบียบสังคม ควบคุมคลับบาร์ดิสโก้เทคให้อยู่ในกฏกติกา ไม่ปล่อยให้วัยรุ่นเที่ยวเตร่โดยไม่มีขอบเขต จนได้รับฉายา “มือปราบสายเดี่ยว” ตะแนนศรัทธาพุ่งพรวด สำรวจโพลล์กันทีไรคะแนนไล่นายกรัฐมนตรีไปติด ๆ
ต่อมาอาจเป็นเพราะท่านดังจนเกินไป ท่านจึงโดนย้ายไปอยู่กระทรวงอื่น งานที่สร้างชื่อให้ท่านถูกรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยเอาไปสานต่อ ขยายการตรวจตราออกหัวเมือง ตั้งที่ปรึกษาและผู้ช่วย ฯ ออกช่วยตรวจ เป็นข่าวครึกโครมเกือบทุกวันทางโทรทัศน์ช่องที่ท่านเคยเป็นผู้จัดการใหญ่มาก่อนเป็นรัฐมนตรี แทนที่คนจะปรบมือให้ รัฐมนตรีท่านหลังกลับถูกล้อเลียนว่า สงสัยจะเป็นโรคจิตต้องหาดมเยี่ยวเด็กก่อนนอน เป็นอย่างนั้นไป
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เราขึ้นมาเป็นนักบริหารที่ใดก็ตาม ไม่ควรทำสิ่งที่ผู้บริหารเก่าเขาทำไว้ จริง ๆ แล้ว อะไรดี ๆ ที่นักบริหารรุ่นก่อนสร้างไว้ เราก็ควรสืบต่อหรือรักษาไว้ ไม่งั้นอาจจะโดนคนที่พอใจแช่งด่าเอาได้ ไม่ใช่ขึ้นมาแล้วต้องล้างไพ่ แต่อย่าทึกทักว่าผลงานของเขาจะเป็นผลงานของเราไปด้วย เท่านั้นเอง
ดร.วิญญู อังคณารักษ์นักบริหารมือหนึ่งของกระทรวงมหาดไทยในอดีตซึ่งปัจจุบันนี้รีไทร์ออกจากราชการไปนานแล้ว เคยเขียนลงหนังสือต่วย’ตูนว่า ถ้าท่านผ่านจังหวัดอยุธยา ท่านอดไม่ได้ที่จะแวะไปที่สวนสาธารณะบึงพระรามกลางกรุงเก่า เพื่อรำลึกถึงความหลังด้วยความภาคภูมิใจ
ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านมารับราชการเป็นปลัดจังหวัดที่นั่น โดนแต่งตั้งให้รักษาการณ์นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา ท่านมีโอกาสได้ไปดูงานที่ประเทศแถบยุโรป ได้ไปเห็นนาฬิกาดอกไม้ที่สวนสาธารณะของประเทศหนึ่ง ท่านชอบมาก กลับมาจึงให้สร้างเลียนแบบไว้ที่บึงพระราม ท่านบอกว่าชาวบ้านชาวเมืองพออกพอใจเรียกขานกันว่า “นาฬิกานายก ฯ” ท่านปลื้มผลงานชิ้นนี้มาก
เห็นไหมละครับ แม้เราจะเลียนแบบความคิดผู้อื่น แต่ถ้าเอามาใช้ในสถานที่ ๆ เราบริหารอยู่เป็นคนแรก ความคิดของคนอื่นก็อาจจะกลายเป็นผลงานของเรา ทำให้ได้รับความชื่นชมศรัทธาจากผู้ที่พอใจในสิ่งที่เรานำมา บางทีผู้นำก็ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรใหม่ ๆ แต่เปิดหูเปิดตา ไปไหนมาไหนเห็นอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ก็จดจำมาทำในสถานที่ ๆ ตัวบริหารอยู่ จะดัดแปลงหรือเอามาทั้งดุ้นก็ดูตามความเหมาะสม ก็กลายเป็นคนมีไอเดียมีผลงานโชว์ให้คนยอมรับได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม การที่จะมีผลงานนั้นไม่ใช่มัวแต่เสนอไอเดียความคิดนะครับ ถ้าเอาแต่เสนอแบบนั้น แทนที่จะได้รับการยกย่องอาจจะโดนโจมตีว่า “ดีแต่พูด” ต้องลงมือทำนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้นักบริหารมีผลงานเป็นที่ปรากฏนั้นจะต้องมี “ความมุ่งมั่น”ประกอบด้วย
ความมุ่งมั่นคือการที่จะทำอะไรควรจะประกาศให้คนอื่นที่ทำงานร่วมกับเราหรือถ้าทำงานส่วนรวมก็ให้ชาวบ้านชาวเมืองได้รับทราบอย่างกว้างขวาง เพราะการให้คนอื่นรับรู้ด้วยจะเป็นเสมือนสัญญาประชาคมว่า เราจะทำสิ่งนั้นแน่ ไม่ใช่พูดลอย ๆ ไม่ผูกมัดว่าจะต้องทำ
ความมุ่งมั่นหมายรวมถึงกำหนดเสร็จของสิ่งที่จะทำด้วย ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เหมือนอย่างหลายโครงการที่ถูกล้อเลียนว่าเจ็ดชั่วโคตรคือไม่เห็นเสร็จสักกะที วิธีที่จะทำให้มีผลงานจะทำอะไรควรมีเป้าหมายว่าจะให้สำเร็จภายในวันที่เท่าไหร่
บางคนอาจจะบอกว่าแล้วเกิดไม่เสร็จตามที่วางไว้ละไม่เสียฟอร์มแย่หรือ ไม่เสียหรอกครับ ถ้าเราสามารถอธิบายปัญหาอุปสรรคให้คนยอมรับได้ ดีกว่าไม่กำหนดไว้ เพราะอาจทำให้เราทำงานแบบเอ้อระเหย ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ อยากมีผลงานควรรู้จักขีดเส้นตายให้งานที่ทำ ฝากข้อเขียนสำหรับนักบริหารที่อยากมีผลงานนะครับ