ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หุ้นที่เกี่ยวข้องเกาะกระแสการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องบอกว่า “โดดเด่น” และเติบโตอย่างน่าสนใจก็คือ หุ้น BKD ที่มีการเติบโตอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของ Net Profit Margin หรือ NPM ที่สามารถโตจาก 2.46% เพิ่มขึ้นเป็น 14.18% ในปัจจุบัน อะไรคือเบื้องหลังของการเติบโตนี้ เรามาหาเหตุผล และคำตอบกันเลยครับ
คุณ นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD
เรื่องราวของ BKD คืออะไร?
เรื่องราวของหุ้น BKD นั้นเป็นเรื่องราวของการออกแบบตกแต่งภายใน โดยการเติบโตของกิจการจะเกาะไปกับกระแสการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ การเติบโตไปกับการเกิดขึ้นของอาคารสำนักงานใหม่ โรงแรม โรงพยาบาล และการที่สถานที่ต่างๆ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าจะต้องมีการ Renovate ทุกๆ 5 ปี เพื่อให้ทรัพย์ต่างๆ นั้นดูดีอยู่เสมอ ในส่วนตัวแล้วผมเข้าใจว่าหุ้นตัวนี้เป็นกลุ่ม “รับเหมา” ที่เป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มหุ้นอสังหาริมทรัพย์นั่นเองครับ
โดยลักษณะธุรกิจของ BKD คือ
1) รับเหมาตกแต่งภายในอาคาร ประเภทคอนโดมิเนียม โรงแรม สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ
2) ผลิตและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปตามคำสั่งซื้อลูกค้า
KEY SUCCESS FACTOR ของ BKD คืออะไร?
ตัวเลขของรายได้ของ BKD นั้นมาจากอาคารใหม่กว่า 80% และจากการ Renovate ตึกเก่ากว่า 20% โดย Key Success หรือ “กุญแจแห่งความสำเร็จ” ของกิจการ BKD จะมาจากการทำ Prefab หรือแผ่นตกแต่งสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงาน และนำไปติดตั้งแบบสำเร็จรูปหน้างาน สามารถลดเวลาการตกแต่งจากหลักเดือน เหลือหลัก 2-3 วันเท่านั้นเอง!
กุญแจความสำเร็จของ BKD อีกประการก็คือ การรับงานที่มีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป (ที่จริงรับอยู่ราวๆ 300-500 ล้านบาท) ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจต่อรองกับ Supplier” เพราะงานที่รับมีปริมาณสูงไม่ใช่งานยิบย่อยทำให้สามารถต่อราคาวัตถุดิบได้ ทำให้ต้นทุนลดลงนั่นคือที่มาของการเพิ่มขึ้นของ NPM นั่นเองครับ
งานในอนาคตของ BKD คืออะไร?
สำหรับงานในอนาคตของ BKD นั้น ผู้บริหารมีแนวคิดที่จะเพิ่มยอดขายจากเดิมอยู่ราวๆ 1,000 ล้านบาทต่อปี ให้กลายเป็น 2,000 – 5,000 ล้านบาท โดยมีเรื่องราวของการออกไปตกแต่งภายนอกประเทศ ด้วยการเกาะกระแส AEC โดยล่าสุดได้ไปรับงานหมู่บ้านจัดสรร ณ.ประเทศ กัมพูชา โดยมีการเซ็นต์สัญญาจ้างเป็นที่เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าหลักของ BKD ยังคงเป็นภาครัฐกว่า 80% และเป็นเอกชน 20% ซึ่งต้องอาศัยการประมูลงาน และมักจะทำให้สัดส่วนของ NPM ลดลง เนื่องจากภาครัฐมักจะประมูลงานให้ได้ราคาที่ถูกที่สุด และสิ่งที่เราต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็คือ Capacity หรือความสามารถในการผลิต Prefab ของบริษัท โดยผู้บริหารแจ้งยอดขายเป้าหมายก็หมายความอ้อมๆ ถึงขนาดการผลิตของโรงงานนั่นเองครับ
“Key Success หรือ “กุญแจแห่งความสำเร็จ” ของกิจการ BKD จะมาจากการทำ Prefab หรือแผ่นตกแต่งสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงาน”
ตลาดอสังหาฯ กับหุ้นรับเหมาตกแต่งสัมพันธ์กันอย่างไร?
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นหุ้น BKD จะเป็นกิจการที่เกาะไปกับการเติบโตของกระแสอสังหาฯ สิ่งที่เราต้องพิจารณาก็คือ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์นั้น เรื่องราวของการตกแต่งจะมาท้ายสุด หรือเรียกว่าเป็น “อุตสาหกรรมปลายน้ำ” โดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมแบบนี้จะตั้งราคาสูงมากไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของกิจการอสังหาที่เป็นผู้จ้างงานจะเหลืองบประมาณน้อยลงแล้ว
เมื่อการตกแต่งถือเป็นอุตสาหรรมปลายน้ำ หากภาพรวมของอสังหาฯ ตกต่ำลง ธุรกิจรับเหมาตกแต่งจะลงตามทีหลังสุด หรือได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มท้ายๆ และด้วยธรรมชาติที่ขึ้นราคามากไม่ได้เพราะเป็นปลายน้ำแล้ว ทำให้กิจการรับเหมาต้องไปบีบเอากับ Supplier แทน สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกอย่างก็คือ เรื่องราวของ “ช่างฝีมือ” ที่เป็นกุญแจสำคัญของกิจการนี้ ที่ต้องเก็บตัวเอาไว้ และอาจมีการแย่งชิงช่างฝีมือดีๆ ก็เป็นไปได้ครับ
ด้วยความที่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงช่างฝีมือ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำมาถึง จะต้องเลี้ยงช่างฝีมือเอาไว้ จะเอาออกไม่ได้ เพราะหากยามเศรษฐกิจกลับมาดี ความต้องการช่างฝีมือก็จะกลับมานั่นเอง
หุ้นรับเหมาตกแต่งมีความเป็นวัฏจักรหรือไม่?
ด้วยความที่เนื้อแท้ของกิจการเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถตั้งราคาสูงๆ ได้ แต่ในยามที่เศรษฐกิจดี อสังหาริมทรัพย์เริ่มบูม ด้วยจำนวนผู้รับเหมาตกแต่งที่มีเท่าเดิม และข้อจำกัดของช่างฝีมือ ในยามที่ดีๆ ก็จะสามารถต่อรองกับลูกค้าได้ ทำให้ NPM นั้นบวมขึ้นในยามขาขึ้น แต่หากเศรษฐกิจตกต่ำก็จะเกิดการแย่งลูกค้า และ NPM ก็จะตกลง ดังนั้นกิจการแบบนี้ถือเป็นวัฏจักรอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ
เมื่อเรารับรู้ว่าหุ้นแบบนี้มีความเป็นวัฏจักร การลงทุนนั้นเราจะให้มูลค่าสูงมากๆ ไม่ได้ แต่ในยาม “ขาขึ้น” เราสามารถเกาะไปกับกระแสการเติบโตได้เช่นกันครับ
ข้อสรุปของการลงทุนในหุ้น BKD สิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก็คือ วัฏจักรขาขึ้น ของการรับเหมาตกแต่งบ้านกำลังจะหมดไปหรือยัง เข้าสู่ช่วง “ขาลง” หรือไม่ หากเราประเมินแล้วคิดว่ายังคงเป็นช่วง “ขาขึ้น” เราก็ควรซื้อหุ้นในราคาที่มี Margin of Safety เพื่อความปลอดภัยในการลงทุนนะครับ