ผู้นำยุคใหม่ กับการแก้ปัญหาและตัดสินใจ : สุขุม นวลสกุล


คนที่เป็นนักบริหารย่อมต้องรู้ว่า  มีหน้าที่ ๆ ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง  ที่สำคัญคือการต้องแก้ปัญหาและตัดสินใจ  ยิ่งเป็นผู้นำขององค์กร  ต้องทำเรื่องดังกล่าวแทนองค์กรทีเดียว  ไม่ใช่เฉพาะแต่ในเรื่องของตนเอง  บางครั้งต้องให้คำปรึกษาแก่เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอีกด้วย

 

คนเป็นนักบริหารจะได้รับการยอมรับนับถือเป็นผู้นำ  ต้องทำให้คนเห็นว่าคนมีความสามารถในการแก้ปัญหาและตัดสินใจได้ดี  ไม่ใช่เป็นคนกลัวปัญหาหรือไม่กล้าตัดสินใจ

 

เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นอยากแนะนำว่า  นักบริหารต้องมีทัศนคติที่ดีกับปัญหา  อย่ามองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน  ให้มองเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะต้องมีในการทำงาน  หรือจะมองเป็นเรื่องท้าทายความสามารถก็ย่อมได้  เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้มีโอกาสแสดงฝีมือ

 

ขอยกตัวอย่างนักบริหารที่มีทัศนคติที่ดีต่อปัญหาเพื่อให้ดูเป็นแบบอย่าง

 

อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเป็นคนอารมณ์ดีมีวลีติดปากเป็นที่ล้อเลียนของใครต่อใคร  ประโยคที่ท่านชอบพูดจนเป็นสัญญลักษณ์ประจำตัวคือ “ไม่มีปัญหา”   แต่เห็นไหมละอย่างน้อยท่านก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้เกือบ ๒ ปีกว่า  แม้บางคนบางกลุ่มจะมองว่า “ท่านคือตัวปัญหา”ก็เถอะ

มีคนถามท่านว่า ท่านพูดได้อย่างไรว่า ไม่มีปัญหา ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าปัญหามีเยอะแยะไปหมด  ท่านตอบหน้าตาเฉยว่า  ท่านเป็นคนที่เชื่อว่าทุกปัญหาแก้ได้  เวลาใครพูดถึงปัญหาอะไร  ก็เลยบอกว่า “ไม่มีปัญหา”  เพราะสุดท้ายแล้วปัญหานั้นคงคลี่คลายได้

แนวคิดการแก้ปัญหาโดยวิธีลอยตัวคือ อดทนคอยให้ปัญหานั้นหายไปเองมีนักบริหารบางท่านชอบทำนะ ไม่เชื่อลองสังเกตดูซิ   แถมบางคนบอกหน้าตาเฉยว่า  “อยู่ไปก็ชินกันไปเอง”

แนวทางของท่านอดีตนายก ฯ ผู้ไม่มีปัญหา  ดูไปแล้วก็เป็นหลักจิตวิทยาอย่างหนึ่ง  ประชาชนได้ยินผู้นำประเทศบอกว่า “ไม่มีปัญหา” ก็คงมีความรู้สึกที่ดี  ลองคิดดูซี ถ้าคนระดับนายกรัฐมนตรี เจอทีไรก็หน้าดำคร่ำเครียด  ใครถามปัญหาอะไร ก็เอาแต่ส่ายหน้า แสดงท่าว่า “แก้ไม่ไหว”  เจอแบบหลังสถิติคนฆ่าตัวตายคงเพิ่มขึ้นแน่ ๆ

ดังนั้นคนเป็นผู้นำต้องทราบนะว่า  บุคลิกภาพยิ้มแย้มแจ่มใส ท่าทางไม่มีปัญหาของเรานั้น  ทำให้ลูกน้องหรือคนที่เขาฝากความหวังไว้กับท่านมีความรู้สึกที่ดี

อดีตนายกรัฐมนตรีรับเชิญท่านหนึ่ง ที่มีโอกาสได้เป็นนายก ฯ ถึง ๒ ครั้ง และแสดงฝีไม้ลายมือเป็นที่พอใจของประชาชนเกือบทุกวงการ  ก็เป็นคนมองปัญหาในแง่ดีอีกท่านหนึ่ง

เมื่อถูกถามว่า  ปัญหาบ้านเมืองเยอะแยะอย่างนี้  ท่านจะทำอย่างไร  ท่านตอบว่า “ปัญหามีไว้แก้  ไม่ได้มีไว้แบก”

ท่านคิดอย่างนี้นี่เอง  ทำให้ดูท่านไม่ท้อถอย เดินหน้าแก้ปัญหาของบ้านเมืองไปเรื่อย ๆ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง  แต่จำได้ว่าโพลล์ในยุคนั้นแสดงชัดเจนว่า  ท่านเป็นนายก ฯ  ที่ประชาชนพอใจในการทำหน้าที่เอามาก ๆ  คนหนึ่ง  ชื่อของท่านมักติดมาเสมอเมื่อเวลามีแบบสำรวจ อยากให้ใครเป็นนายก ฯ

เพราะฉะนั้นใครอยากเป็นผู้นำท่องไว้นะ “ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้แบก”   แล้วไม่ใช่ท่องเปล่า ๆ  นะต้องทำตามที่ท่องด้วยจึงจะได้รับความศรัทธาและเชื่อถือ

นอกจากเรื่อง “แก้ปัญหา” อีกเรื่องที่นักบริหารต้องให้ความสำคัญถ้าอยากได้รับการยอมรับเป็นผู้นำคือ “การตัดสินใจ”   ผู้คนมักไม่พอใจถ้าผู้บริหารประพฤติตนเป็นคนลอยตัวหนีปัญหาไม่กล้าตัดสินใจ

นักบริหารคนใดตัดสินใจรวดเร็วไม่ปล่อยให้ปัญหายืดยาวเรื้อรัง มักจะได้คำชมว่า เป็นผู้นำที่เด็ดขาด

อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเด่นดังขึ้นมาด้วยพฤติกรรมความสุจริตและวาทศิลป์สุดยอด  พอมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเข้า  คนมีความรู้สึกว่าท่านเป็นคนตัดสินใจช้า  เลยโดนตั้งสมญาในสมัยแรกว่า “………เชื่องช้า”  แม้จะโดนโจมตีในเรื่องนี้ท่านยังมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ

รอบที่สองบทบาทของท่านก็ไม่ต่างจากรอบแรกสักเท่าไหร่  ก็คนเดิมจะผิดไปจากเดิมได้อย่างไร   บรรดาผู้สื่อข่าวการเมืองให้สมญาประจำปีของท่านว่า “จอมฟุตเวิร์ค”  ฟังแล้วไม่ต่างจากเดิมก็ว่าได้

แต่นั่นแหละ เมื่อโดนนักการเมืองด้วยกันวิพากษ์วิจารณ์ท่านตัดสินใจช้า  ท่านก็ปาด(ปาก)มีดโกนกลับในทำนองว่า ถ้าเร็วแต่โกงละก็ช้าไว้จะดีกว่า  เพราะฉะนั้นที่ท่านช้าเพราะ”รอบคอบ”หรือ”รัดกุม” ไม่ใช่ “ลังเล” นะ จะบอกให้  ต้องยอมรับว่าคงมีคนเห็นด้วยกับท่านอยู่ไม่น้อย  ไม่อย่างนั้นท่านคงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๒ รอบหรอก

เวลาใครถามถึงปัญหา ท่านก็มักจะตอบว่า  “ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน”

 

อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นนักบริหารต้องพยายามตัดสินใจ นอกจากจะบนพื้นฐานของ “ความถูกต้อง” แล้ว  ต้องให้ ในเวลาที่เหมาะสมด้วย  เพราะตัดสินใจช้าไปก็ไม่ดีเร็วไปก็ไม่งาม  ต้องพอดีกับเวลาหรือ “ถูกจังหวะ” นั่นเอง

ส่วนการตัดสินใจอย่างไร จึงจะเรียกว่าถูกจังหวะ  คงต้องยกไปในข้อเขียนเดือนหน้า