บูรพา-อาคเนย์ น้ำตาล ความเกี่ยวข้องของรสหวาน ระหว่าง ไทย-พม่า-จีน : บัณรส บัวคลี่


ข่าวเรื่องรัฐบาลไทยอนุมัติขยายโรงงานน้ำตาลเพิ่มกำลังการผลิตอีกอย่างน้อย 12 โรงเมื่อต้นปี เป็นข่าวที่ใหญ่มากของแวดวงอุตสาหกรรมน้ำตาลโลก ผลจากการนี้เกี่ยวข้องไปหลายประเทศ แต่น่าแปลกที่สื่อมวลชนหลักๆ ของไทยเองกลับไม่สนใจเท่าใดนัก มีเฉพาะในสื่อธุรกิจแวดวงแคบๆ คนไทยส่วนใหญ่ก็พลอยไม่รู้ไปด้วย  

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) อนุมัติเปิดโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้วอย่างน้อย 12 โรง รวมกำลังการผลิตเกือบ 30 ล้านตันต่อปี  ซึ่งนี่เป็นการไฟเขียวเพิ่มปริมาณผลิตน้ำตาลครั้งใหญ่ในรอบ 26 ปี และจะมีผลต่อโครงสร้างตลาดน้ำตาลเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ทั้งจะมีผลต่อเนื่องถึงปริมาณเชื้อเพลิงพลังงานเอธานอลและโรงไฟฟ้าจากชานอ้อยอีกทางหนึ่งด้วย  

การเพิ่มผลผลิตระดับนี้ เผลอๆ ไทยจะแซงหน้าบราซิลที่เป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งด้วยซ้ำไป  

เรื่องนี้มีที่มาที่ไป…  

สืบเนื่องจากปีที่ผ่านมานี้ ความต้องการน้ำตาลของประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมากสองถึงสามเท่าตัว ซึ่งปกติแล้วตัวเลขปริมาณนำเข้าดังกล่าวมันเป็นเรื่องเฉพาะแวดวง มีแต่คนที่เกี่ยวข้องวงในรับรู้กัน  

มันก็แปลกดี เราก็รู้กันว่าเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง การนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ เพื่อการผลิตลดลงในแทบทุกเซกเตอร์ แต่ในกลุ่มอาหาร ผลไม้ กลับมีความต้องการสูงขึ้นแบบพรวดพราด  

อาการที่ยักษ์ใหญ่มังกรจีนเกิดอาการหิวน้ำตาลน่ะ มันปรากฏเป็นรูปธรรมมานานพอสมควรแล้ว ขึ้นชื่อว่ายักษ์ตัวใหญ่ จะยกมือวาดเท้าหรือหยิบอะไรกินสักทีหนึ่งก็จะกระทบกับพื้นที่รอบๆ อยู่ไม่น้อย พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีด่านและถนนการค้าเชื่อมโยงกับมณฑลยูนนานมาตั้งแต่โบราณ  

อาการหิวน้ำตาลของมังกรจีนจึงไปปรากฏอยู่ในประเทศพม่าอย่างชัดเจนที่สุด  

ซึ่งก็ดี ที่เอเชียอาคเนย์ในยุคนี้ เป็นยุคประชาคมที่เปิดกว้าง ข่าวสารทั้งหลายไหลเวียนได้รวดเร็ว ยุคก่อนโน้นหากมีอะไรเกิดขึ้นในประเทศพม่า ยิ่งเกิดในพื้นที่ห่างไกลเมืองหลวงด้วยแล้ว เป็นการยากมากที่คนนอกจะได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขา  

ข่าวที่ปรากฏในสื่อของพม่าเมื่อปีที่แล้วหลายชิ้นระบุว่าจีนกว้านซื้อผลผลิตน้ำตาลจากพม่าจำนวนมาก ข่าวของเมียนมาไทม์ออนไลน์ชิ้นหนึ่ง พาดหัวได้เร้าใจมาก China sucks in Myanmar sugar – จีนสูบเอาผลผลิตน้ำตาลพม่า http://www.mmtimes.com/index.php/business/18328-china-sucks-in-myanmar-sugar.html โดยเนื้อข่าวอ้างแหล่งข่าวการค้ารายหนึ่งบอกว่า แต่ละวันมีรถบรรทุกน้ำตาลจากพม่าข้ามด่านพรมแดนไปยังจีนถึงวันละราว 100 คัน ความต้องการมีมากขนาดที่จีนจ่ายเงินซื้อน้ำตาลด้วยราคาเป็นสองเท่าของตลาดโลก คือตันละ 795 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน  ตลาดจีนกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำตาลของพม่า ซึ่งมีกำลังการผลิตปีละราว 4-5 แสนตัน และยุคหนึ่งพม่าเคยส่งออกน้ำตาลไปขายจีนถึง 1 แสนตัน/ปี  

การคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สะดวกขึ้น และการที่พม่าเปิดประเทศส่งผลให้พม่ากลายเป็นคนกลางในการนำเข้าและส่งออกน้ำตาลจากแหล่งผลิตใหญ่คือทั้งจากไทยและอินเดีย ผ่านเข้าสู่ประเทศจีน แล้วก็ยังเป็นพื้นที่ลักลอบขนส่งน้ำตาล(ที่รัฐบาลไม่อนุญาต) ไปพร้อมกัน  

รัฐบาลไทยและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลคงจะเห็นโอกาสรุกเข้าสู่ตลาดยักษ์ใหญ่มังกรจีนโดยตรง จึงปุบปับเปลี่ยนนโยบายหันมาเพิ่มกำลังผลิตอีกถึง 30 ล้านตัน/ปี ยอดผลผลิตขนาดนี้คือยอดที่ประเทศบราซิลยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกส่งออกน้ำตาลแต่ละปีเลยทีเดียว การเร่งขยายการผลิตระดับนี้และยังมีระยะทางใกล้กับตลาดจีนอย่างชัดเจนมีผลต่อการแข่งขันในตลาดโลกด้วย ล่าสุดหยกๆ เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา เกิดมีข่าวว่าบราซิลไม่พอใจไทย และอ้างว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลอย่างไม่เป็นธรรม Brazil challenges Thai sugar ‘subsidies’ http://www.bangkokpost.com/business/news/884092/brazil-challenges-thai-sugar-ubsidies  

ไม่ธรรมดาเลยนะครับ ก้าวย่างของอุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาลไทยก้าวใหญ่ก้าวนี้  โดยเฉพาะในมิติของอุตสาหกรรมส่งออกที่ขยับได้เร็วมาก อาการโหยหิวรสหวานของมังกรจีนเพิ่งปรากฏให้เห็นผ่านพม่าเมื่อไม่ถึงปีก่อนหน้า เพียงไม่นานนโยบายของไทยก็ขยับไปรอรับได้ทันที  

แต่อย่างไรก็ตาม.. น้ำตาลมันไม่ได้มีแค่โรงงานกับผู้ส่งออกเท่านั้น มันยังมีชาวไร่อ้อยและพื้นที่ปลูกซึ่งแต่ละโรงก็ต้องมีพื้นที่ของตัวเองของใครของมันไม่ให้แย่งกันผ่านระบบการจัดการ สอน.และสมาคมชาวไร่อ้อย การขยายพื้นที่ไร่อ้อยในอีสานและภาคเหนือตอนล่างรองรับโรงงานใหม่ย่อมมีผลกระทบต่อผลผลิตพืชอื่น รวมไปถึงเส้นทางของเกษตรกรด้วย  

นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการเกษตร-อุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกประการหนึ่งในยุคที่โลกไร้พรมแดน อนุภูมิภาคเอเชียอาคเนย์กลายเป็นประชาคม AEC และยังเป็นเป้าหมายบุกเบิกหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทางของมหาอำนาจจีน  

การเพิ่มกำลังการผลิตฉับพลันขยายพื้นที่ปลูกอีกเป็นล้านไร่เพื่อรองรับตลาดจีนโดยเฉพาะของวงการอ้อยและน้ำตาล ก็เป็นอีกปรากฏหนึ่งอันเกิดจากความต้องการของตลาดยักษ์ใหญ่ คล้ายๆ ยุคหนึ่งที่จีนต้องการนำเข้ายางพารามหาศาลจนประเทศละแวกนี้พาเหรดขยายพื้นที่ปลูกยางพารากัน หรือล่าสุดที่เกษตรกรไทย-ลาวหันไปปลูกกล้วยหอมรองรับความต้องการของจีนก็เช่นกัน  

ก็ได้แต่ฝากความหวังว่าผู้รับผิดชอบทั้งหลายคงพิจารณาถี่ถ้วนแล้วว่าสามารถขยายกำลังการผลิตฉับพลันได้ถึงขนาดนี้ และหวังว่าเส้นทางของอ้อย-น้ำตาล คงจะไม่ซ้ำรอยยางพาราที่จู่ๆ ตลาดปลายทางยกมือบอกว่าพอแล้ว…ปล่อยให้ผลผลิตกองท่วมประเทศราคาตกต่ำเรี่ยดินแบบที่เห็นกันอยู่.  

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

สอน.ไฟเขียวตั้ง 6 รง.นํ้าตาล ประเดิมล็อตแรกลงทุน 3 หมื่นล้านให้สิทธิ์60 วันต้องคืบหน้า – http://www.thansettakij.com/2016/01/09/25078

สอน.อนุมัติตั้งอีก 6 โรงงานน้ำตาล รวมแล้วไฟเขียว 12 แห่งเงินลงทุน6หมื่นล้านเหลือ 1 รายจ่อคลอด http://www.thansettakij.com/2016/02/11/30267

Sugar Smuggling Into China Stirs Market http://www.wsj.com/articles/sugar-smuggling-into-china-stirs-market-1454697464