บูรพา-อาคเนย์ ฝุ่นควันไฟอาเซียน ตอน การปะทะคารม (อีกครั้ง) ระหว่างสิงคโปร์-อินโดนีเซีย : บัณรส บัวคลี่


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงหลังสงกรานต์เล็กน้อยได้เกิดมีวิวาทะของมวยคู่ใหญ่ของอาเซียนระหว่าง Dr. Siti Nurbaya Bakar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ของอินโดนีเซีย ที่โต้ใส่ นาย Masagos Zulkifli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำของสิงคโปร์  เอ่ยถึงตรงๆ แบบไม่ต้องอ้อมค้อมหรือตีความด้วยภาษาการทูตใดๆ

ประเด็นของวิวาทะมาจากฝุ่นควันไฟข้ามแดนที่ปัญหาเรื้อรังตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิงคโปร์นั้นเป็นประเทศรับฝุ่นควันไฟเผาไหม้ข้ามช่องแคบมะละกามาต่อเนื่องหลายปี ส่วนอินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกฝุ่น เมื่อราวๆ ตุลาคมปีกลายถ้าท่านยังจำได้ ฝุ่นควันไฟจากสุมาตรายังข้ามมาถึงภาคใต้ของไทย ขึ้นมาสูงถึงราวจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยซ้ำไป และวิวาทะรอบนี้ก็ไม่ใช่เป็นครั้งแรก

ss

ภาพสิงคโปร์ในท่ามกลางฝุ่นควันปี 2015

เรื่องมันเกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 15 เม.ย. รัฐมนตรี Masagos Zulkifli  ของสิงคโปร์ได้กล่าวในงานประชุม The third Sustainable World Resources dialogue ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัด แล้วก็พูดในประเด็นปัญหาว่าด้วยฝุ่นควันว่า

“บริษัทอุตสาหกรรมเกษตร-ป่าไม้จะต้องมีความรับผิดชอบในการป้องกันปัญหาจากไฟที่พวกเขาจุด อย่าให้ปัญหามันเกิดซ้ำเหมือนปีที่แล้วเพราะระยะนี้เกิดความแห้งแล้งมากหากเกิดไฟจะลุกลามยากจะดับ บริษัทเอกชนที่ไม่รับผิดชอบได้สร้างปัญหาฝุ่นควันให้กับสิงคโปร์อย่างมาก พวกเขาควรจะรู้ว่าการกระทำนั้นไม่ก่อให้เกิดผลรับที่ดี พวกเขาจะต้องเผชิญกับผลรับดังกล่าวนั้น”

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์กล่าวถึงบริษัทเอกชนที่ก่อมลพิษควันไฟในอินโดนีเซีย ชัดๆ ตรงๆ  ทั้งนี้เมื่อปีกลายรัฐบาลสิงคโปร์ได้ฟ้องร้องเอาผิดและเรียกค่าเสียหายจากบริษัทยักษ์ใหญ่เอกชนจำนวน 5 รายที่ก่อมลพิษทางอากาศข้ามมาจากสุมาตรา หนึ่งในห้าก็คือบริษัทกระดาษยักษ์ใหญ่ของโลก Asia Pulp & Paper ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ด้วย

หลังจากรัฐมนตรีเมืองลอดช่องพูดในงานได้แค่วันเดียว…วันรุ่งขึ้น 16 เมษายน นาง Siti Nurbaya Bakar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซียก็ออกโรงโต้กลับทันควัน

เธอให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่น foresthints.news แค่สื่อเดียว แต่เนื้อหาดุเดือดของมันก็ดังพอที่จะให้แทบทุกสื่อนำไปขยายต่อในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

รัฐมนตรี Siti Nurbaya Bakar  บอกว่ารัฐบาลอินโดนีเซียนั้นติดตามแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควันอย่างต่อเนื่องทุกปี แล้วก็มุ่งไปที่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แรกๆ ฟังเหมือนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทางสิงคโปร์ จนวรรคต่อๆ มานี่สิครับ

เธอยืนยันว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟของรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นเป็นไปโดยอิสระจากการตัดสินใจของรัฐบาลจาการ์ต้าเอง ไม่ได้เกิดจากแรงบีบ หรือ การกดดันใดๆ จากต่างประเทศ.. รวมถึง สิงคโปร์ ด้วย!

การให้สัมภาษณ์รอบนี้ไม่ใช่แค่ยืนยันการพยายามแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟของอินโดนีเซียเท่านั้น หากยังพุ่งเป้าตอบโต้สิงคโปร์แบบตรงๆ

What has the Singaporean government done? I feel that they should focus on their own role.

“แล้วรัฐบาลสิงคโปร์ทำอะไรบ้าง ฉันคิดว่าพวกเขาน่าจะพุ่งไปที่บทบาทหน้าที่ของเขา” แปลแบบไทยๆ คือ อย่าก้าวข้ามมายุ่งกับกิจการบ้านคนอื่นๆ ให้กลับไปดูแลบ้านของตัวเอง – นั่นเลย!

การตอบโต้ระหว่างเพื่อนบ้านอาเซียนว่าด้วยปัญหาฝุ่นควันไฟข้ามแดนรอบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปีกลายเคยเกิดวิวาทะที่ร้อนแรงยิ่งกว่านี้มาแล้ว เมื่อ Jusuf Kalla   รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ทนไม่ไหวที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวโทษประเทศของตัว ข้ามฟากมาจากสิงคโปร์-มาเลเซีย ก็เลยระเบิดคำพูดร้อนแรงยิ่งกว่าไฟสุมาตราออกมา

“For 11 months, they enjoyed nice air from Indonesia and they never thanked us. They have suffered because of the haze for one month and they get upset,”

เป็นเวลาถึง 11 เดือนที่พวกเขา (สิงคโปร์-มาเลเซีย) มีความสุขสดชื่นจากอากาศบริสุทธิ์ที่พัดจากอินโดนีเซีย พวกเขาไม่เคยขอบคุณเราเลย ก็แค่เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้นที่พวกเขาเดือดร้อนจากฝุ่นควัน

วาทะดังกล่าวทำเอารองประธานาธิบดีถูกสื่อและผู้คนของสองประเทศเพื่อนบ้านเอาไปตั้งประเด็นเถียง บ้างก็มีภาพล้อ มีการตัดต่อคำพูดของเขามาเสียดสี เป็นไวรัลในสื่อออนไลน์อยู่หลายวัน รวมถึงเว็บไซต์หนึ่งของสิงคโปร์ทำโปรแกรมให้คนมากดคะแนนขอบคุณประเทศอินโดนีเซียเป็นการประชดไปซะเลย

จะว่าไปแล้วปัญหาฝุ่นควันของอาเซียนนั้นจะยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะแทบทุกประเทศเป็นประเทศเกษตรกรรม การใช้ไฟเพื่อเตรียมพื้นที่เป็นต้นทุนดำเนินการที่ต่ำและเหมาะสมที่สุดกับสภาพเศรษฐกิจของชาวบ้าน การนำปัญหาฝุ่นควันเข้าสู่วาระประชุมหารือของอาเซียนเกิดมานานหลายปีแล้ว มีคณะทำงานแต่แทบไม่มีความคืบหน้า อินโดนีเซียที่เป็นเป้าโจมตีจากเพื่อนบ้านเพิ่งจะเข้ามาลงสัตยาบันใน ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution เมื่อตุลาคมปีที่แล้วนี่เอง

ก็คือระหว่างที่เกิดปัญหาฝุ่นควันไฟข้ามไปโจมตีประเทศเพื่อนบ้านหนักๆ ตอนนั้นล่ะ ที่อินโดนีเซียคงทนแรงกดดันไม่ได้ ยอมที่จะร่วมเข้าเป็นภาคีข้อตกลง

index

เว็บไซต์ล้อเลียนที่คนสิงคโปร์จัดทำขึ้นเพื่อตอบโต้คำกล่าวของรองปธน.อินโดนีเซีย

ซึ่งก็ยังน่าสงสัยอยู่ว่ามาตรการแก้ปัญหากันเองระหว่างประเทศในอาเซียนที่จะลดปัญหาฝุ่นควันไฟจะปฏิบัติได้จริงแค่ไหน อินโดนีเซียนั้นเกิดไฟป่าและไฟเผาเองที่เกาะสุมาตรา-กาลิมันตันต่อเนื่องหลายปีแล้ว อากาศของอินโดนีเซียไม่เหมือนทางไทยพม่า เขามีฝนเอาช่วงที่เราหนาว จากนั้นก็จะเริ่มแล้ง ไฟป่าไฟเผาทั้งหลายจะเริ่มโจมตีสุมาตราในราวเดือนมิถุนายนต่อเนื่องไปจนถึงตุลาคม จากนั้นจะเข้าฝน ปัญหานี้ก็จะหายไปพักหนึ่งแล้วกลับมาใหม่ในปีถัดไป แต่อย่างไรก็ตามในระยะหลังมานี้หลังจากเกิดแรงกดดันมากเข้า รัฐบาลอินโดนีเซียแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเอาจริงกับปัญหาฝุ่นไฟมากขึ้น โดยรัฐบาลกลางเข้าไปจัดการเองจากเดิมที่ปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลท้องถิ่นเสียก่อน หากว่าท้องถิ่นรับมือไม่ไหว ประกาศเขตภัยพิบัติรัฐบาลกลางค่อยเข้ามาจัดการได้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพ ประธานาธิบดีโจโควี ของอินโดนีเซียลงไปคลุกกับไฟสุมาตราอย่างจริงจังเมื่อปีกลายเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งต่อให้รัฐบาลอินโดนีเซียจะเอาจริงจังขึ้นแค่ไหน แต่ขนาดของปัญหาก็ใหญ่โตไม่น้อย สุมาตรานั้นมีเนื้อที่ราว 4.7 แสนตร.กม. น้องๆ ประเทศไทยเชียวนะครับ ขนาดของพื้นที่ปัญหาจึงใหญ่กว่าภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัดหลายเท่า ขนาดของเรามีแค่นี้ก็ยังดูกันไม่ทั่วเลย

ต่อไปวงประชุมแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟอาเซียนคงจะมีประเด็นว่าด้วยฝุ่นควันข้ามแดนทางตอนบนด้านในทวีปบ้าง แทนที่จะคุยกันเฉพาะไฟสุมาตราเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะฝุ่นควันทางด้านพม่า-ไทย-ลาว ในฤดูร้อนมันหนักหนาสาหัสขึ้นๆ ทุกปี.
อ่านข่าวประกอบ

Indonesian minister rebuts Singapore over comments on haze http://www.channelnewsasia.com/news/singapore/indonesian-minister/2703648.html