ตัดสินใจดีต้องมี 3 ถูก : สุขุม นวลสกุล


ตามที่ผมเคยเขียนแนะนำว่าคนเป็นผู้นำต้องมีการตัดสินใจที่ดี  เพราะการตัดสินใจของผู้นำบางครั้งอาจหมายถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์การเลยทีเดียว  ในข้อเขียนนี้จึงขอเสนอแนะนำ “ทฤษฎี 3 ถูก” ซึ่งผมสรุปจากประสบการณ์บริหารของตนเองให้คนที่เป็นหรืออยากเป็นผู้นำลองพิจารณาดูเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการตัดสินใจ

ถูกแรกคือ “ถูกต้อง”   นักบริหารต้องตัดสินใจอยู่บนความถูกต้องเสมอทุกครั้งไป  ปัญหาก็คือนักบริหารมิได้แสนรู้ไปทุกเรื่อง ยิ่งเลื่อนขั้นสูงขึ้นไปเท่าไหร่ยิ่งต้องตัดสินใจข้ามความถนัดหรือเชี่ยวชาญของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ   อย่างผมสมัยเป็นหัวหน้าภาคการปกครองก็ดูแลเฉพาะเรื่องวิชารัฐศาสตร์การปกครอง  พอขึ้นเป็นคณบดีก็ต้องตัดสินใจด้านวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการบริหารรัฐกิจด้วย  พอขึ้นเป็นอธิการบดีต้องตัดสินใจทุกเรื่อง ทั้งเรื่องวิชาการเรื่องธุรการ รวมทั้งการคลัง สถาปัตย์ ฯลฯ

ปัญหาคือนักบริหารทุกคนให้เก่งแค่ไหนก็มีความรู้ไม่ครบทุกด้านหรอกครับ  แต่ต้องตัดสินใจไปทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นคนเป็นนักบริหารต้องรู้จักหา “ความถูกต้อง” ในเรื่องที่เราไม่รู้   ต้องรู้ว่าเรื่องที่เข้ามาสู่การตัดสินใจของเรานั้นถ้าเราไม่รู้เรื่องนั้นจะไปหาความถูกต้องของเรื่องนั้นมาจากที่ใด  จะไปค้นตำราหรือถาม Google ก็ตงจะได้    แต่วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือจะปรึกษากับใครดี  นักบริหารจึงควรทราบว่าในแวดวงของเรานั้นใครเก่งด้านไหน  ควรคุยกับใคร  ในบริษัทเราใครเป็นหลักด้านไหน มีปัญหาเรื่องนี้ควรปรึกษาใคร เป็นต้น

แต่นั่นแหละ แม้จะปรึกษาคนอื่นแต่เมื่อตัดสินใจแล้วต้องรับผิดชอบ  ไม่ใช่โทษคนนั้นโทษคนนี้  ใครที่แนะนำหรือให้ข้อมูลผิด ๆ หรือท่าดีแต่ทีเหลวก็ควรจดจำไว้บ้าง  เพราะฉะนั้นเพื่อความรอบคอบการปรึกษาอาจทำอย่างกว้างขวางคุยกับคนหลายคนไม่ใช่เพียงคนใดคนเดียว   ฟังแล้วเอามาตรึกตรองด้วยตนเองก่อนตัดสินใจให้เป็นผลปฏิบัติออกมา  ไม่ใช่เชื่อใครก็เอาตามคนนั้นโดยไม่ใช้ความคิดตนเองเลย  อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะเกิดผลอย่างไร ดีหรือไม่ดี เราเป็นผู้รับผิดชอบ

ถูกที่สองที่ต้องพิจารณาคือ “ถูกใจ”   นักบริหารต้องวิเคราะห์ว่าผลที่เกิดจากการตัดสินใจของเรานั้นถูกใจคนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่   หลักง่าย ๆ ในการพิจารณาคือถ้าตัดสินใจไปแล้วทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้สึกว่าได้ก็ย่อมถูกใจ  ถ้าเขารู้สึกว่าเสียก็ไม่ถูกใจหรือไม่พอใจ  เป็นเรื่องธรรมดาไม่ต้องคิดให้ยุ่งยาก  ว่าไหมครับ

ถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่”ถูกต้อง”แถมยัง”ถูกใจ”ผู้คนด้วยแล้ว  นักบริหารก็ไม่ต้องคิดอะไรมากตัดสินใจไปได้เลย ผู้คนที่ทราบการตัดสินใจของเราหรือจะได้รับผลกระทบในทางที่ดีก็ย่อมยินดีปรีดาไปตาม ๆ กัน  จะประกาศล่วงหน้าเป็นปีก็ยังไหว อย่างรัฐบาล คสช. ตัดสินใจจะลดภาษีรายได้ให้กับประชาชนกว่าจะมีผลก็โน่นปี ๒๕๖๑ โน่น  แต่รัฐบาลก็รีบประกาศให้พลเมืองทราบอย่างละเอียดตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๙  ยังต้องรอกันอีกนานกว่าฝันจะเป็นจริง  เรียกว่าให้ทราบข่าวดีล่วงหน้า  หรืออาจเป็นรัฐบาลไม่แน่ใจว่าจะอยู่จนถึงวันนั้นหรือเปล่าจึงชิงประกาศ  หรือไม่ก็เชื่อว่าประกาศแล้วอาจทำให้อยู่ได้ถึงวันนั้นก็ได้

แต่ถ้าสิ่งที่เราตัดสินใจนั้นแม้เป็นเรื่อง “ถูกต้อง” แต่ดูจะไม่ “ถูกใจ” คน  เรื่องแบบหลังนี่ใจเย็น ๆ นะครับสำหรับการตัดสินใจ  อย่าเพิ่งรีบด่วนให้ใครต่อใครทราบ เพราะนักบริหารเก่งก็ไม่ควรที่จะตายเพื่อความถูกต้อง  คนที่ยอมตายเพื่อความถูกต้องนั้นควรเป็นนักอุดมการณ์เท่านั้น  นักบริหารจึงควรอยู่เพื่อใช้ความเก่งบริหารให้เกิดความถูกต้องนั้น  ดังนั้นเมื่อใดที่ต้องตัดสินใจบนความถูกต้องแต่ไม่ถูกใจคนให้พิจารณาถูกที่สามครับ

ถูกที่สามคือ “ถูกจังหวะ”  หรือจะเรียกว่า “ถูกเวลา”ก็ได้

เรื่องที่ต้องตัดสินใจใดก็ตามที่ถูกต้องแต่ไมถูกใจต้องรอให้ถูกจังหวะก่อนจึงจะให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้  เช่น  ปีนี้กำไรลดโบนัสลดเรื่องอย่างนี้จะประกาศแบบปุบปับไม่ได้นะครับ  อาฟเตอร์ช็อคอาจจะรุนแรงเกินความคาดหมายก็เคยเห็นปรากฏเป็นบทเรียนกันมาแล้ว

เมื่อปี ๒๕๔๐  บริษัทเครื่องไฟฟ้าแห่งหนึ่งแถวสวนหลวงให้โบนัสพนักงานน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  แต่ให้รู้แบบทันทีทันใดไม่บอกล่วงหน้า  พอทราบปั๊บก็เกิดความวุ่นวายประท้วงทันที  ทางบริษัทพยายามจะอธิบายก็ไม่ทันอารมณ์พนักงาน  เกิดการเผาโรงงานกันในวันที่ควรจะยินดีเพราะโบนัสออกเป็นข่าวใหญ่และน่าจะเป็นบทเรียนสำหรับนักบริหารทั้งหลาย

การทำให้ “ถูกจังหวะ”นั้นคือการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจเสียก่อนว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องทำสิ่งที่ไม่ถูกใจนั้น  หมายความว่าจังหวะจะเปิดเมื่อคนเข้าใจ  ซึ่งความเข้าใจของคนจะมีที่มาได้  ๒ ทางด้วยกัน  ทางแรกคือความเข้าใจที่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย บรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมทำให้ใครต่อใครเห็นว่าการตัดสินใจนั้นสอดคล้องกันอยู่แล้ว  ทางที่สองคือ นักบริหารทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าใจ

เช่น  ปัจจุบันนี้มีการเผยแพร่เรื่องราวของ”ภัยแล้ง”รับรู้กันทั้งประเทศรวมทั้งคาดว่านอกประเทศก็รู้ด้วย  ถ้าทางบริษัทจะออกระเบียบปฏิบัติให้มีการประหยัดการใช้น้ำ  ทำให้พนักงานไม่ได้รับความสะดวกเหมือนอย่างเดิม  เรื่องอย่างนี้ คงไม่ต้องอธิบายหรือชี้แจงเหตุผลความจำเป็น  เพราะพนักงานคนไหนสงสัยข้องใจว่าทำไมบริษัทต้องมาเข้มงวดกวดขันเรื่องการใช้น้ำด้วย  ก็น่าสงสัยว่าเพิ่งเดินทางกลับจากต่างดาวหรือว่าไร

แต่ถ้าบริษัทจะเปลี่ยนเครื่องแบบใหม่ให้มีสีต่างไปกว่าเดิม  เช่น เคยใช้สีน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว  เรื่องแบบนี้ถ้าจะตัดสินใจทำอาจจะต้องใช้แนวทางที่สอง  นั่นก็คืออาจต้องประชุมอธิบายว่าทำไมจึงเปลี่ยนเป็นสีเขียว อยากให้บรรยากาศในโรงงานสดใสขึ้น  หรืออยากให้ประชาชนภายนอกเห็นว่าบริษัทเราสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   ไม่ควรทำแบบไม่ให้รู้ล่วงหน้า  ลุ้นเอาตอนคึงเสื้อผ้าออกจากถุง  อย่ามั่นใจว่าคนของเราจะชอบสีเขียวมากกว่าสีน้ำตาล

นักบริหารทุกคนแหละครับอยากจะทำสิ่งที่ถูกต้อง  แต่ต้องแน่ใจนะครับว่าสิ่งที่จะทำคือความถูกต้องจริง ๆ  ไม่แน่ใจก็ควรจะรู้วิธีหาความถูกต้อง  ไม่งั้นเราอาจจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยคิดว่าถูกต้อง  เกิดความเสียหายต่อองค์กรหรือส่วนรวม  และควรจะพิจารณาได้ว่าสิ่งที่ถูกต้องที่เราตัดสินใจทำนั้นถูกใจผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่  ถ้าถูกใจก็ทำไปเถอะครับ ไม่ต้องคำนึงอะไรอีกแล้ว  ผู้คนจะไชโยโห่ร้องพออกพอใจแน่นอน  แต่ถ้าคิดว่าไม่ถูกใจผู้คนก็อย่าเพิ่งรีบร้อนรอให้ถูกจังหวะหรือทำให้คนเข้าใจเสียก่อนค่อยแจ้งการตัดสินใจ  นักบริหารที่ดีไม่ควรมาตายแม้จะเพื่อความถูกต้องก็เถอะ